“สัธคุรุ” (Sadhguru) เป็น “คุรุ” หรือผู้นำทางจิตวิญญาณชาวอินเดีย เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด มีชื่อเสียงในด้านการสอนโยคะ เป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่มและเป็นวิทยากรประจำในฟอรัมระหว่างประเทศและรายการโทรทัศน์ยอดนิยมเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณ และประเด็นระดับโลกอื่น ๆ มากมาย
เขาเป็นไอดอลในโลกแห่งจิตวิญญาณคนหนึ่งของอินเดียและของโลก แต่สัธคุรุยังเป็นห่วงเป็นใยโลกแห่งวัตถุที่เราดำรงชีวิตอยู่ ณ ขณะนี้ด้วย โดยเฉพาะปัญหาความเสื่อมโทรมของผืนแผ่นดิน เขาจึงตั้งแคมเปญขึ้นมาชื่อ Save Soil (ปกป้องดิน) เพื่อแก้ไขวิกฤตดินด้วยการสารอินทรีย์ในดินเพื่อใช้ในการเพาะปลูกได้
ทำไมคุรุแห่งวงการโยคะถึงต้องมาใส่ใจกับการอนุรักษ์ดิน? สัธคุรุบอกว่า 87% ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลกใบนี้ทั้งจุลินทรีย์ หนอน แมลง นก สัตว์ มนุษย์ พืช ต้นไม้ และพืชพันธุ์อื่น ๆ ทั้งหมดดำรงอยู่กับดินชั้นบนที่มีความหนาโดยเฉลี่ย 39 นิ้ว
แต่ขณะนี้เนื้อดินอยู่ในอันตรายร้ายแรง ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา 40% ของดินชั้นบนของโลกได้สูญหายไป และองค์การสหประชาชาติกล่าวว่า เรามีดินเหลืออยู่เพียงประมาณ 80 – 100 ฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งหมายถึงอีก 45 – 60 สิบปีเท่านั้นที่จะทำเกษตรได้ หลังจากนั้นเราจะไม่มีดินสำหรับผลิตอาหาร
“คุณสามารถจินตนาการถึงความทุกข์ที่เราจะเกิดขึ้นในโลก 30% ของที่ดินในอินเดียเสื่อมโทรมไปแล้ว และ 90% ของรัฐต่าง ๆ ในอินเดียกำลังมองเห็นดินกลายเป็นทะเลทรายต่อหน้าต่อตา นั่นหมายความว่าไม่มีสิ่งใดที่สามารถเพาะปลูกได้ที่นั่น ดังนั้นการปกป้องดินเพื่อลูกหลานในอนาคตของดินแดนแห่งนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” สัธคุรุ กล่าว
สัธคุรุ เล่าว่า “ตอนที่ผมกำลังกล่าวสุนทรพจน์ที่หน่วยงานสหประชาชาติแห่งหนึ่งในเยอรมนี และคนที่นั่นถามผมว่า “เราต้องทำอะไรสามอย่างเพื่อป้องกันภัยพิบัติทางนิเวศ” ผมบอกพูดว่า “มีสามสิ่งคือ ‘ดิน ดิน และดิน'” ซึ่งนี่ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องเท่ ๆ ของคนเมืองที่จะพูดถึงมลพิษทางอากาศกัน
สัธคุรุบอกว่า ถ้าเราดำเนินการที่จำเป็นเพื่อแก้ไขดิน การทำแบบนั้นก็จะช่วยดูแลน้ำด้วย มลภาวะในอากาศสามารถแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น หากเรายอมเสียสละความเจริญทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าอยากซ่อมดินที่พังไปแล้วจะต้องใช้เวลา 15-25 ปี ถ้าเอาอย่างเอาจริงเอาจัง
“หากคุณทำโดยไม่สนใจมาก จะต้องใช้เวลา 40-50 ปีก่อนที่คุณจะได้ดินมีคุณภาพถึงระดับหนึ่ง” สัธคุรุ กล่าว และเตือนว่า “หากดินอยู่ในสภาพที่เลวร้ายนานขนาดนั้น นั่นหมายความว่าสองถึงสามชั่วอายุคนจะต้องเผชิญกับสภาพชีวิตที่เลวร้าย”
สัธคุรุเสนอแนวทาง 5 ข้อเพื่อปรับปรุงดิน คือ 1. เพิ่มสารอินทรีย์สร้างดินที่แข็งแรง 2. ทำเกษตรกรรมที่อิงกับต้นไม้หรือวนเกษตร 3. ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ 4. รับประทานอาหารผลไม้มากขึ้น เพราะดีต่อสุขภาพของเราและโลก ซึ่งข้อ 3 และข้อ 4 อาจเกี่ยวกับหลักความเชื่อเรื่องโยคะของสัธคุรุที่ไม่บริโภคเนื้่อสัตว์ แต่เราทราบดีว่าอุตสากรรมปศุสัตว์สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมโลกขนาดไหน
และข้อ 5. สร้างโลกที่มีสติ นั่นก็เพราะปัญหาหลาย ๆ อย่างเกิดจากมนุษย์ และอันที่จริงหลาย ๆ โครงการด้านสิ่งแวดล้อมของสัทธคุรุที่ทำมาก่อนหน้านั้นก็เริ่มจากการปลุกฝังจิตสำนึกของผู้คนให้ตระหนักว่า ร่มไม้ เงาป่า และแม่น้ำ มีคุณต่อเราขนาดไหน อย่างที่เขาบอกว่า “ภูมิประเทศที่ยากที่สุด (ในการปลูก) คือจิตใจของผู้คน”
“เนื่องจากเราคือต้นตอของปัญหา เราจึงสามารถเป็นแหล่งของการแก้ปัญหาได้เช่นกัน เราเป็นปัญหาเพียงเพราะเราอยู่ในโหมดการกระทำที่ไม่ได้สติและถูกกระตุ้นให้ทำแบบนั้น ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราก็ย่อมเป็นทางออก นี่คือเหตุผลที่ผมทำงานร่วมกับหน่วยงานของสหประชาชาติและหน่วยงานอื่น ๆ และเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว “Conscious Planet” (โลกที่มีสติ)” สัธคุรุ กล่าว
สัธคุรุบอกอย่างชวนคิดว่า ขณะนี้กว่า 95% ของประชากรโลกไม่ตระหนักถึงภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาที่เกิดขึ้นรอบตัวพวกเขาแม้แต่น้อย ความตระหนักในระบบนิเวศจำกัดเฉพาะคนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น และแม้แต่ในหมู่คนที่ตระหนัก แนวคิดเรื่องนิเวศวิทยาส่วนใหญ่จำกัดอยู่ที่การใช้น้ำน้อยลงขณะอาบน้ำหรือปิดก๊อกน้ำเมื่อแปรงฟัน
โครงการ Save Soil มีแนวทางต่าง ๆ ทั้ง 5 แนวทาง แต่แนวทางที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความตระหนักรู้ สอดคล้องกับความพยายามทั้งหมดที่ผ่านมาของสัธคุรุที่มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวเสมอ นั่นคือ การยกระดับจิตสำนึกของมนุษย์ ทั้งในเรื่องจิตวิญญาณและเรื่องสิ่งแวดล้อม มาจนถึงความตระหนักในภัยที่กำลังเกิดขึ้นกับดิน
สิ่งสำคัญคือทำให้ชาวโลกหันกลับคืนสู่วิถีอินทรีย์ เขาบอกว่า “คุณไม่สามารถทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยและรถแทรกเตอร์ได้ คุณต้องการสัตว์บนบกด้วย ตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อเราปลูกพืช เราเก็บแต่พืชผล และเศษซากพืชและสัตว์ที่เหลือจะกลับคืนสู่ดินเสมอ ดูเหมือนเราจะสูญเสียภูมิปัญญานั้นไปแล้ว”
ข้อมูลจาก
• “Save the Soil to Save the Environment”. Isha Foundation. Retreived April 1, 2022.
• “Conscious Planet”. Retreived April 1, 2022.