ยักษ์ใหญ่พลังงานสหรัฐ อ้างเหตุ ‘สงครามยูเครน’ ขอขุดเจาะน้ำมัน-ก๊าซเพิ่ม

รัสเซียเป็นส่วนสำคัญของระบบพลังงานโลก โดยมีคลังทรัพยากรเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่ เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสามของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบีย คิดเป็น 12% ของผลผลิตทั่วโลก และเป็นผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่อันดับสองรองจากสหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 17% ของผลผลิตทั่วโลก

แหล่งพลังงานของรัสเซียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อยุโรปซึ่งนำเข้าก๊าซจากรัสเซียประมาณ 70% ของการส่งออกทั้งหมดและครึ่งหนึ่งของการส่งออกน้ำมันจากรัสเซีย แต่ไม่ใช่แค่นั้น รัสเซียยังมีความสำคัญต่อพลังงานของประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยส่งออกก๊าซที่เหลือไปจีน 5% ญี่ปุ่น 4% ส่งออกน้ำมันไปยังจีน 31% เกาหลีใต้ 6% ญี่ปุ่น 2% สหรัฐ 1%

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อรัสเซียรุกรานยูเครนทำให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยานอย่างรวดเร็วและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินต่อรัสเซียจะยิ่งทำให้น้ำมันพุ่งขึ้นไปอีก เพราะการคว่ำบาตรรัสเซียจะทำให้โลกเข้าถึงพลังงานจากรัสเซียได้ยากขึ้นนั่นเอง และทำให้ปริมาณพลังงานฟอสซิลในตลาดโลกกระทบในทันที 

ที่เห็นกันจะ ๆ คือราคาน้ำมันโลกพุ่งทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในสัปดาห์นี้ จากปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียที่เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปพุ่งขึ้น 60% เผยให้เห็นถึงผลกระทบการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานของรัสเซียอย่างหนักของทวีปยุโรป

มีรายงานว่าราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นจากสงครามในยูเครนจะทำให้โลกพบกับอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานทางเลือก เพียงสามเดือนหลังจากที่ผู้นำโลกให้คำมั่นที่จะดำเนินการด้านสภาพอากาศเชิงรุกในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ เมื่อเดือน พ.ย. 2021 

เมื่อประเทศในยุโรปลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียลง อาจจะต้องกลับไปใช้พลังงานถ่านหินมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ประเทศในยุโรปประกาศจะลดการใช้ถ่านหินลงอย่างมาก ตอนนี้พวกเขาอาจไม่มีทางเลือกนอกจากกลับไปใช้พลังงานฟอสซิลอย่างหนักเหมือนที่ผ่านมา 

แน่นอนว่าชนวนสงครามในยูเครนได้เปิดทางให้บริษัทพลังงานฟอสซิลในโลกตะวันตกเติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งบทความทัศนะที่ตีพิมพ์ใน Wall Street Journal ในสัปดาห์นี้ เคน กริฟิน ซีอีโอของกองทุนเก็งกำไร Citadel เรียกร้องให้สหภาพยุโรปหา “สัญญาระยะยาว” กับผู้ผลิตพลังงานฟอสซิลของสหรัฐเพื่อเสริมพลังงานที่ขาดไปจากรัสเซีย

เขาบอกว่า “[สหรัฐฯ] จำเป็นต้องผลิตก๊าซมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง” กริฟฟินเขียนร่วมกับไนออล เฟอร์กูสัน นักศึกษาอาวุโสของสถาบันฮูเวอร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด “การห้ามการขุดเจาะ (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและทำให้เสียเปรียบทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองที่สำคัญ”

ในเวลาเดียวกันมีรายงานว่าอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของสหรัฐกำลังใช้การรุกรานยูเครนของรัสเซียเพื่อกดดันรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนให้สัมปทานดินและน่านน้ำมหาสมุทรมากขึ้นสำหรับการขุดเจาะพลังงานฟอสซิลในประเทศและขอให้รัฐบาลคลายกฎระเบียบสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่พยายามเพิ่มการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล

Guardian รายงานว่าเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่กองทัพรัสเซียจะเริ่มโจมตียูเครน สถาบันด้านพลังงานฟอสซิล American Petroleum Institute (API) ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง Exxon, Chevron และ Shell ได้โพสต์ข้อความทวีตเรียกร้องให้ทำเนียบขาว “ประกันความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศและต่างประเทศ” 

ตัวแทนบริษัทพลังงานที่ทรงอำนาจของโลกเรียกร้องให้รัฐบาลอเมริกาอนุญาตให้มีการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในที่สาธารณะมากขึ้น ขยายเวลาการขุดเจาะในน่านน้ำสหรัฐและผ่อนคลายข้อกำหนดที่บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลเผชิญอยู่ลง ไมค์ ซอมเมอร์ส ผู้บริหารของ API บอกว่า “ในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อเมริกาควรใช้พลังงานที่มีเหลือเฟือ – ไม่ใช่ไปจำกัดมัน”

สมาชิกพรรครีพับลิกันชั้นนำบางคน (พรรคเดียวกับโดนัลด์ ทรัมป์ที่ส่งเสริมการขุดพลังงานฟอสซิล) สนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ เช่น ลิซา เมอร์คาวสกี วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันประจำมลรัฐอะแลสกา บอกกับสภานิติบัญญัติของรัฐว่า “ทุกวัน ฉันเตือนรัฐบาลไบเดนถึงประโยชน์มหาศาลของการผลิตพลังงานและแร่ธาตุในอะแลสกา และทุกวันฉันเตือนพวกเขาว่าการปฏิเสธที่จะอนุญาตกิจกรรมเหล่านั้นอาจมีผลร้ายตามมา”

แม้แต่กลุ่มสมาชิกรัฐสภาเดโมแครตของไบเดนเอง ยังมี 10 คนเขียนจดหมายถึงไบเดนเพื่อกระตุ้นให้ประธานาธิบดีปล่อยน้ำมันเพิ่มเติมจากแหล่งสำรองปิโตรเลียมเชิงกลยุทธ์ของสหรัฐเพื่อลดต้นทุนเชื้อเพลิงสำหรับผู้บริโภคในระยะสั้น หลังจากราคาพุ่งสูงขึ้นมาก

แม้จะเรียกร้องให้ปล่อยน้ำมันเพิ่ม พรรคเดโมแครตที่สนับสนุนการแก้ปัญหาโลกร้อนก็ยังพยายามแบ่งรับแบ่งสู้ โดยพวกเขาบอกว่า “เราทราบดีว่าในระยะยาวการขจัดการพึ่งพาน้ำมันของสหรัฐจะทำให้เกิดความมั่นคงที่เราต้องการเพื่อให้มีต้นทุนด้านพลังงานต่ำสำหรับครัวเรือนในอเมริกา”  

ข้อมูลจาก 

  • Akiko Fujita. (26 Feb 2022). “Russian invasion of Ukraine complicates global climate agenda”. Yahoo Finance.
  • Q&A: What does Russia’s invasion of Ukraine mean for energy and climate change?. (26 Feb 2022). Carbon Brief.
  • Oliver Milman. (26 Feb 2022). “US fossil fuel industry leaps on Russia’s invasion of Ukraine to argue for more drilling”. Guardian.

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่