หมอชนบทออกโรงยื่นฟ้องรัฐ
เร่งประกาศค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5
ราย 24 ชม.อยู่ที่ 37 มคก./ลบ.ม.

by Admin

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 เครือข่ายภาคประชาสังคมและประชาชนที่ติดตามการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต่อศาลปกครองกลางกรณีละเลยต่อหน้าที่ในการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่นละออง PM 2.5 ตั้งแต่ปี 2557 จนปัจจุบัน 

ทั้งนี้ ส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพมหนคร (กทม.) และพื้นที่จังหวัดภาคเหนือมีค่าฝุ่นละออง PM2.5 สูงกว่ามาตรฐาน ประชาชนต้องประสบปัญหาสุขภาพ โดยขอให้ศาลฯ มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีออกประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ที่ 15 มคก./ลบ.ม. 

นอกจากนี้ ออกประกาศค่ามาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียประเภทฝุ่นละออง PM2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล, ออกประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกสู่สิ่งแวดล้อมให้มีค่าปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด และเทียบเท่ามาตรฐานสากล 

ออกประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูล ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน 2535 โดยมีการรายงานฝุ่น PM2.5 อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย และจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ รวมถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนภาคประชาสังคม สามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้

อนึ่ง ตัวแทนองค์กรผู้ยื่นฟ้อง ประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว (Greenpeace Thailand) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และ น.ส.นันทิชา โอเจริญชัย นักรณณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Climate Strike Thailand

เครดิตภาพ : Panumas Sanguanwong

นพ.สุภัทร ในฐานะเป็นโจทก์ร่วมฟ้อง กล่าวว่า ค่ามาตรฐานของ PM2.5 ในประเทศไทยสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงเกือบ 5 เท่า เป็นมลพิษที่น่ากลัวที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ในทางการแพทย์แม้โรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอลซิลอ้างว่าปล่อยมลพิษไม่เกินค่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ แต่ทุกความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคที่เพิ่มขึ้น แม้คุณภาพอากาศไม่เกินมาตรฐาน แต่ประชาชนก็มีอาการป่วยซึ่งเกิดมาจากการรับมลพิษต่ำแต่เป็นระยะเวลานานได้ ซึ่งเรียกว่า chronic low dose exposure

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง “ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2563” ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 1 ก.พ. 2564 ซึ่งกำหนดให้อาการผิดปกติทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 เป็นโรคจากสิ่งแวดล้อม ยิ่งย้ำเตือนให้หน่วยงานรัฐด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมต้องกยระดับมาตรฐาน PM2.5 ให้เข้มงวดขึ้นในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมผลกระทบจากโรคสิ่งแวดล้อม 

ประเทศไทยยังใช้มาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป และกำหนดเกณฑ์ความเข้มข้น PM2.5 ที่ 91 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตรขึ้นไปว่า “มีผลกระทบต่อสุขภาพ” มาเป็นเวลา 10 ปี กลายเป็นช่องว่างทั้งการเฝ้าระวัง การแจ้งเตือน และการเตือนภัย ในช่วงวิกฤตฝุ่น และการป้องกันผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ในเชิงรุกเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรไทยโดยรวม

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ตามแนวทางการดำเนินงานระยะสั้น (2562-2564) ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ-การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM2.5 รัฐบาลต้องมีการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ตามแผนแล้ว และควรจะมีการนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเร็วที่สุด 

อย่างไรก็ดี ร่างกฏหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำขึ้นและเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามการชี้แจงของกระทรวงอุตสาหกรรมลงวันที่ 14 ก.พ. 2565 นั้นไม่มีข้อกำหนดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษ ชนิดและปริมาณสารมลพิษที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของกฎหมาย PRTR ที่ทั่วโลกใช้บังคับอยู่  

นอกจากนี้ในร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่มี “ฝุ่น PM2.5” รวมอยู่ใน “บัญชีสารมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย” ที่จะต้องตรวจวัดอีกด้วย คำชี้แจงดังกล่าวจึงคลุมเครือมาก”

ขณะเดียวกัน กรีนพีซ ประเทศไทย ได้จัดทำแคมเปญเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 โดยเปิดให้ประชาชนสามารถร่วมสนับสนุนการฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินหน้าที่ตามกฎหมาย และให้แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรมได้ที่ https://act.seasia.greenpeace.org/th/right-to-clean-air

Copyright @2021 – All Right Reserved.