พัฒนาวิธีสกัดโควิด-19 ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาวิธีสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) จากตัวอย่างแบบง่าย และชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว เพื่อประหยัดงบประมาณและลดการนำเข้าชุดสกัดอาร์เอ็นเอ และชุดตรวจจากต่างประเทศ

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ทีมนักวิจัย สวทช. ได้คิดค้นและวิจัยนวัตกรรมที่จะรับมือการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น โดยนำองค์ความรู้ในเทคโนโลยีสาขาต่างๆ มาประยุกต์ใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสนับสนุนการทำงานของทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งการตรวจยืนยัน ตรวจติดตาม และประเมินความเสี่ยง

ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชั่น DDC-Care เพื่อติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งกรมควบคุมโรคได้นำไปใช้ในพื้นที่ เป็นการแบ่งเบาภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้ แอปพลิเคชัน Traffy Foundue ใช้รับแจ้งเมื่อพบผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี (Germ Saber Robot) เครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ (µTherm FaceSense) ชุดตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 ในรูปแบบต่าง ๆ และวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นต้น

สำหรับผลงานวิจัยการพัฒนาวิธีสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสจากตัวอย่างแบบง่าย และชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว (COVID-19 XO-AMP colorimetric detection kit) โดยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ หรือ National Omics Center (NOC) สวทช. และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เป็นการทำงานร่วมกับทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

โดย สวทช. ได้นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งได้นำไปทดสอบกับตัวอย่างโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าให้ผลไม่แตกต่างจากชุดสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ส่วนชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว (COVID-19 XO-AMP colorimetric detection kit) เป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับการตรวจเชิงรุก ชุดตรวจนี้มีความจำเพาะ (Specificity) 100% ความไว (sensitivity) 92% และมีความแม่นยำ (accuracy) ที่ 97% แสดงผลได้ภายใน 75 นาที ได้ผลเร็วกว่า RT-PCR ถึง 2 เท่า

นอกจากนี้ สามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่า ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ หากสีเปลี่ยนจากม่วงเป็นเหลือง แสดงว่าติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 อุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจมีราคาเพียง 10,000 บาท ถูกกว่า RT-PCR ถึง 100 เท่า ต้นทุนน้ำยาที่ใช้สำหรับแลมป์ต่ำกว่าน้ำยาที่ใช้กับ RT-PCR ถึง 3 เท่า เมื่อคำนวณต้นทุนราคาแล้ว ชุดตรวจโรค COVID-19 ที่ไบโอเทคพัฒนาขึ้นนี้มีราคาถูกกว่าชุดตรวจแลมป์นำเข้า 1.5 เท่า อีกด้วย

ผลงานทั้งสองชิ้นนี้ช่วยให้ประเทศลดการนำเข้าชุดสกัดอาร์เอ็นเอ และชุดตรวจเชื้อจากต่างประเทศ หากมีการระบาดเพิ่มเติม หรือต้องการตรวจเชิงรุก ผลงานนี้พร้อมนำมาใช้ได้ทันที

ด้าน ผศ.นพ.วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนให้คณะเวชศาสตร์เขตร้อนหารือกับ สวทช. เพื่อหาแนวทางรับมือกับ COVID-19 ซึ่งคณะเวชศาสตร์เขตร้อนมีห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านโรคเขตร้อน (Tropical Medicine Diagnostic Reference laboratory) หรือ TMDR สำหรับการตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARA-CoV-2) ด้วยวิธี Real time RT-PCR ประจำปี 2563 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเสี่ยงภัยในการตรวจวินิจฉัย ตรวจยืนยันตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย ผู้สัมผัส และผู้มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ด้วยวิธีการ Real time RT-PCR ตั้งแต่มีการระบาดของโรค

ในขณะที่ สวทช. มีงานวิจัยหลายด้านที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) ทั้งการตรวจวินิจฉัย และป้องกันโรคได้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และ สวทช. จึงได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นจนปัจจุบันมีงานวิจัยที่สามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้ 2 โครงการ ได้แก่ ชุดสกัด RNA ด้วย Magnetic Bead และชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว

นอกจากนี้คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ยังมีงานวิจัยที่กำลังพัฒนาร่วมกับ สวทช. อีก เช่น การใช้เทคนิคทาง proteomic และเครื่อง MALDI-TOF กับศูนย์ไบโอเทค การพัฒนาชุด RDT ตรวจ Antigen และการพัฒนา Negative pressure helmet กับศูนย์นาโนเทค เป็นต้น

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด 19 จนถึงวันที่ 29 พ.ค. 2563 รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยในการตรวจโรค COVID-19 โดยวิธี RT-PCR เป็นจำนวนกว่า 420,000 ตัวอย่าง คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,261 ล้านบาท ในอนาคตหากมีการระบาดเพิ่มเติม หรือมีความต้องการตรวจเชิงรุก ผลิตภัณฑ์ที่ได้นำเสนอในวันนี้มีความพร้อมในการใช้งาน

ทั้งนี้ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันของหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. นำโดย ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง ที่พัฒนาวิธีสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสจากตัวอย่างแบบง่าย ซึ่งให้ผลเทียบเท่ากับชุดสกัดนำเข้าจากต่างประเทศ

ที่สำคัญวิธีสกัดอาร์เอ็นเอนี้สามารถนำไปใช้ได้กับไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอได้ทุกชนิดไม่จำกัดเพียงไวรัสก่อโรค COVID-19 ทั้งไวรัสก่อโรคในพืช สัตว์ และมนุษย์ ทำให้ในปัจจุบันมีบริษัทเอกชนสนใจ พร้อมรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท ไบโอเอนทิสท์ จำกัด และ บริษัท อาฟเตอร์ แล็บ จำกัด

สำหรับชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว ซึ่งพัฒนาโดย ทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด นำโดย คุณวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถนำมาใช้ในการคัดกรอง คัดแยกเฉพาะตัวอย่างที่น่าสงสัยไปตรวจโดยใช้ RT-PCR ถือเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐจากเดิมที่ต้องส่งตรวจทุกตัวอย่างด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งมีราคาแพง

การพัฒนาชุดตรวจนี้ได้รับความอนุเคราะห์ตัวอย่างสารพันธุกรรมจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของชุดตรวจ ในปัจจุบันไบโอเทคได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเมินเทคโนโลยี และ อย. กำลังพิจารณาเกณฑ์มาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับเทคนิคแลมป์ โดยชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียวนี้ มีบริษัทเอกชนได้แสดงความสนใจที่จะขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว

การที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาและผลิตชุดสกัดอาร์เอ็นเอและชุดตรวจโรคได้เองนี้ จะช่วยประหยัดงบประมาณในการนำเข้าได้เป็นจำนวนมาก สร้างความมั่นใจให้กับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ราคาไม่แพง ถือเป็นการยกระดับการวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ของประเทศ เปลี่ยนจากการเป็นประเทศผู้นำเข้าเพียงอย่างเดียว ให้เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ได้เอง และในอนาคตอาจจะส่งออกไปต่างประเทศได้อีกด้วย

พร้อมกันนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพและการแพทย์ ระหว่าง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กับ สวทช. โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และศ.นพ.วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน