1) ข้อมูลกรมชลประทาน วันที่ 5 ต.ค. 65 ระบุว่า เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,697 ลบ.ม./วินาที เมื่อวาน 2,681 ลบ.ม./วินาที เขื่อนป่าสักฯ ระบายน้ำ 800.89 ลบ.ม./วินาที เมื่อวาน 600.65 ลบ.ม./วินาที ท้ายเขื่อนพระรามหก ปริมาณน้ำไหลผ่าน 983 ลบ.ม./วินาที เมื่อวานอยู่ที่ 906 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำคลองระพีพัฒน์ผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ 20 ลบ.ม./วินาที นี่คือสัญญาณการระบายน้ำเหนือที่เพิ่มมากขึ้น
2) จุดชี้วัดน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลหรือไม่ ดูจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ล่าสุดอยู่ที่ 3,126 ลบ.ม./วินาที ขณะที่เมื่อวานอยู่ที่ 3,218 ลบ.ม./วินาที ถือว่าลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบการระบายตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 3,017 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่น้ำท่วมใหญ่ปี 54 ปริมาณน้ำผ่านบางไทรสูงสุดอยู่ที่ 3,860 ลบ.ม./วินาที และเทียบกับปี 64 น้ำจากฝั่งเขื่อนป่าสักฯ ระบายอยู่ที่ 900-1,000 ลบ.ม./วินาที
3) ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผอ.สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทานให้ข้อมูลผ่านรายการเรื่องใหญ่วันนี้ PPTV ว่า จุดรวมน้ำเหนืออยู่ที่นครสวรรค์คือแม่น้ำปิงกับน่านมารวมกัน มีน้ำไหลมา 2,840 ลบ.ม/วินาที และคาดการณ์ว่า ณ วันที่ 8 ต.ค.นี้น้ำจะลงมาไม่เกิน 3,100 ลบ.ม./วินาที
4) เมื่อน้ำจะลงมาชนกับแม่น้ำสะแกกรังผ่านเขื่อนเจ้าพระยากรมชลฯ จะต้องบริหารน้ำให้อยู่ที่ประมาณ 3,000 ลบ.ม./วินาที โดยจะผลักน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันตกคือลงแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย ฝั่งตะวันออกลงคลองชัยนาท-ป่าสัก และคลองชัยนาท-อยุธยา โดยทั้งสองฝั่งระบายออกรวมกันที่ 350 ลบ.ม./วินาที น้ำที่เหลือลงสู่ด้านล่างท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,600-2,700 ลบ.ม./วินาที และน้ำก็จะมาบรรจบกับน้ำที่ลงมาจากเขื่อนพระรามหกซึ่งมาจากเขื่อนป่าสักฯ
5) หลักการบริหารจัดการน้ำคือน้ำเหนือจากเขื่อนเจ้าพระยาและจากป่าสักฯ ที่จะมารวมกันที่ อ.บางไทร ต้องไม่เกิน 3,500 ลบ.ม./วินาที โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนดว่าหากน้ำส่วนนี้แตะ 3,000 ลบ.ม./วินาที ก็จะเริ่มระบายเข้าทุ่ง 10 ทุ่งในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่ง กนช.ได้แจ้งทางจังหวัดไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ต.ค. หากตัวเลขเป็นไปที่ระบุทางจังหวัดจะออกประกาศพื้นที่ทุ่งรับน้ำ
6) ถามว่าจะเหมือนปี 54 ไหม “ไม่เหมือนแน่นอน เพราะน้ำเหนือไม่ได้มาจากน้ำท่าอย่างเดียว แต่น้ำในเขื่อนกักเก็บเต็มด้วยและระบายมาด้วย และฝนที่ตกเหนือเขื่อนก็มากกว่าปีนี้ แต่ปีนี้มีแต่น้ำที่ไหลในลำน้ำ เรามีอาคารชลประทานควบคุมน้ำได้ ปี 54 น้ำแผ่มาเป็นแผ่น แต่ปีนี้มีแต่น้ำตรงกลาง (แม่น้ำ)
7) ทำไมปีนี้ไม่ระบายไปคลองระพีพัฒน์ออกคลอง 13 “เราจะใช้แม่น้ำสายหลักระบายน้ำให้เต็มที่ก่อน ถ้าความจุลำน้ำสายหลักไม่พอแล้ว เช่น บางไทรจะเกินแล้วหรือท้ายเขื่อนกระรามหกไม่ไหวแล้ว มารวมกันบางไทรแย่แล้ว เราถึงจะพิจารณาทางเลือกเพิ่มเติม ซึ่งคลองระพีพัฒน์ที่จะระบายไปฝั่งตะวันออกจะลงมาทางคลอง 13 มาเชื่อมกับคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตและเชื่อมคลองอื่นๆ ที่จะสูบออกทะเล ในกรณีน้ำมาจากป่าสักฯ มากและบางไทรจะเกิน 3,500 ลบ.ม./วินาที ไม่ใช่ระบายไปทุกที่ มันต้องมีก๊อก 1 ก๊อก 2”
8) สรุปว่าน้ำจะท่วม กทม. นนทบุรีและปทุมธานีไหม “ผมค่อนข้างมั่นใจ น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะไม่ข้ามคันกั้นน้ำเข้าไปอยุ่ในเขตชุมชนแน่นอน ฉะนั้นการบริหารจัดการน้ำในเขต กทม.จะเป็นการบริหารน้ำฝนที่ตกในพื้นที่และสูบออกแม่น้ำเจ้าพระยา อีกส่วนหนึ่งสูบออกทางแม่น้ำบางปะกง อีกส่วนก้ไหลทางคลองแนวดิ่งและสูบออกจากคลองชายทะเล
9) ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมเกือบทุกภาคของประเทศ จะทำให้บริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
10) อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ได้ขอความร่วมมือให้หน่วยต่างๆ แจ้งพนักงานทำงานอยู่กับบ้านหรือ work from home ในช่วงวันที่ 5-7 ต.ค. เนื่องจากเกรงว่าหากพร่องน้ำออกไม่พอและมีน้ำเหนือเข้ามาเติมอาจทำให้รับมือได้ไม่ทันการ
11) นอกจากนี้ กทม. ได้เฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงวันที่ 5-13 ต.ค. 65 เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.70 – 2.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
หมายเหตุ- ให้ภาพน้ำท่วมปี 54 สำหรับประกอบข่าว