กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ณ วันที่ 12 ก.ย. 65 พบร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออก เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเวียดนามตอนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ทั้งจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก จากข้อมูลข้างต้นอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
โดยเฉพาะ #กรุงเทพและปริมณฑล กรมอุตุฯ เตือนว่า มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี ชัยนาท สระบุรี นครปฐม กาญจนบุรี และราชบุรี
ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณ จ.นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ บริเวณ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง และสตูล
เมื่อไปส่องสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ณ วันที่ 12 ก.ย. กรมชลประทานรายงานว่า เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 7,437 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 6,025 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 5,580 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 3,930 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อย ปริมาณน้ำ 680 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 259 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำ 337 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 623 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 65 กรมชลประทานได้ออกประกาศแจ้งการระบายน้ำเขื่อนกิ่วลม และเขื่อนกิ่วคอหมา ลงสู่แม่น้ำวัง และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ จ.ลำปาง หลังฝนตกหนัก โดยตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. 65 น้ำไหลเข้าเขื่อนกิ่วคอหมา อ.แจ้ห่ม ซึ่งตั้งอยู่ตอนบนของลำปาง มีน้ำอยู่ 138.097 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 81.03 % ของความจุ หลังฝนตกหนักน้ำเพิ่มสูงขึ้นกว่า 17 ล้าน ลบ.ม. เป็น 155.611 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 91.53 % ของความจุ
ส่วนเขื่อนกิ่วลม อ.เมือง จ.ลำปาง เดิมมีน้ำอยู่ 61.285 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57.82 % ของความจุ แต่ฝนตกหนักน้ำเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 ล้าน ลบ.ม. เป็น 72.472 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที คิดเป็น 68.36% จึงจะมีการระบายน้ำออกทั้ง 2 เขื่อน ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. 65 ซึ่งจะส่งผลให้แม่น้ำวังมีปริมาณน้ำสูงขึ้น และจะกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่ง และบริเวณถนนเลียบแม่น้ำวังทั้งสองฝั่ง
ขณะที่สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (สถานี C2) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 65 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ กรมชลประทานรายงานว่า ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,783 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 3.81 ม. เขื่อนเจ้าพระยา (สถานี C13) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,698 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำเจ้าพระยา (สถานี C29A) อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,107 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 2,006 ลบ.ม./วินาที)
จะเห็นว่ากรมชลประทานได้ปรับการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝน – น้ำท่า หลังมีฝนตกชุกในพื้นที่ตอนบนของภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งจะทยอยปรับการระบายน้ำอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเกณฑ์ 1,700 ลบ.ม./วินาที
ฉะนั้น ณ เวลานี้ถือว่าพื้นที่ กทม. ยังมีความเสี่ยงน้ำท่วม จากที่สัปดาห์ก่อนนี้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่แล้ว เช่น ด้านทิศเหนือของ กทม.ติดปทุมธานี และฝั่งตะวันออก เช่น เขตลาดกระบัง โอกาสที่น้ำเหนือจะลงมาสมทบและเกิดน้ำท่วมซ้ำก็มีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะช่วงวันที่ 7 – 14 ก.ย. 65 ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงประมาณ 1.7-2 ม. จากระดับทะเลปานกลาง (บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ)