ยื่น 26,500 ชื่อถึงประธานสภา ดันร่าง พรบ.อากาศสะอาด เปิดช่องฟ้องรัฐผู้ปล่อยมลพิษต้องจ่าย

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 เครือข่ายอากาศสะอาดนำโดย รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม หัวหน้าทีมกฎหมายเครือข่ายอากาศสะอาดและอาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ายื่นรายชื่อประชาชนจำนวน 26,500 รายชื่อถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ….หรือเรียกย่อ ๆ ว่าร่างกฎหมายอากาศสะอาด

ทั้งนี้ มี น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือ โดยนายชวนได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนเครือข่ายอากาศสะอาดได้เข้าพบที่ห้องรับรองด้วย

สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 124 มาตรา แบ่งออกเป็น 8 หมวด มีการกำหนดนิยามคำว่า “แหล่งกำเนิดหมอกควันพิษ” ว่า การเดินเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม การใช้ยานพาหนะในการคมนาคมขนส่ง การเผาพืชไร่ในการเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม การเผาป่าไม่ว่าเพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ การเผาขยะในที่โล่งและที่ไม่มีระบบควบคุม การก่อสร้างอาคารทุกชนิด การปลดปล่อยสารมลพิษจากที่อยู่อาศัย อาคาร หรือสำนักงาน การทำเหมืองแร่ หมอกควันพิษข้ามแดนจากต่างประเทศ หรือแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษอื่น…

igreen สรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมายไว้ดังนี้

• รัฐมีหน้าที่ปฏิบัติตามและบังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยปราศจากการบริหารราชการแบบแยกส่วนจนเป็นเหตุกระทบสิทธิ โดยอยู่บนหลักธรรมาภิบาล และหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

• สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดเป็นสิทธิที่ทำให้บุคคลดำรงชีวิตด้วยอากาศสะอาดที่ไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ และไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งมีความสอดคล้องและสัมพันธ์กับสิทธิในสุขภาพและสิทธิในชีวิต อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองคุ้มครองในฐานะสิทธิมนุษยชน ทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของนานาอารยประเทศ รวมถึงราชอาณาจักรไทย

• บุคคลที่อยู่ในข่ายเป็นกลุ่มเปราะบางมีสิทธิได้รับการตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาลของรัฐหรือสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าโรงพยาบาลซึ่งรัฐจัดให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อการเฝ้าระวังแนวโน้มที่อาจเกิดโรคอันมีสาเหตุมาจากสภาวะหมอกควันพิษปกคลุม

• เพื่อให้ได้มาซึ่งอากาศสะอาด บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับคุณภาพของอากาศและผลกระทบของคุณภาพอากาศที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

• สิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการกำหนดนโยบาย จัดทำกฎหมาย และกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาด และสิทธิในการ
เข้าถึงและได้รับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม

• เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิของบุคคล รัฐมีหน้าที่เคารพ ปกป้อง และทำให้สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดของบุคคลเกิดขึ้นได้จริงอย่างสมบูรณ์ โดยรัฐต้องอำนวยการและกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพอย่างบูรณาการ

• รัฐมีหน้าที่ตรวจสอบและรายงานดัชนีคุณภาพอากาศ และดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพประจำวัน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชนซึ่งแตกต่างกันในแต่ละคน ในแต่ละเขตพื้นที่อย่างทั่วถึง เป็นระบบ และสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เฝ้าระวัง และป้องกันตนเองได้ทันท่วงที

• รัฐมีหน้าที่ให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับที่มาของปัญหาคุณภาพของอากาศที่เป็นปัจจุบัน เช่น ข้อมูลบัญชีการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายหมอกควันพิษ เป็นต้น กิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและต่อสุขภาพของประชาชน และวิธีดำเนินการของรัฐเพื่อจัดการให้เกิดอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ รวมทั้งมาตรการในการเยียวยาสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

• รัฐมีหน้าที่รับฟังข้อมูล ข้อร้องเรียน และข้อคิดเห็นจากประชาชน จัดเก็บ รวบรวม ประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำระบบข้อมูลที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพเพื่อแจ้งเตือนประชาชน และสนับสนุนการจัดการให้มีอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแก่ประชาชน รวมทั้งจัดให้มีงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของภาคเอกชนหรือประชาชนที่เกี่ยวกับการจัดทำระบบและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ

• บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะรู้ข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและต่อสุขภาพ รวมทั้งวิธีป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพโดยเร็ว และมีสิทธิร้องขอหน่วยงานของรัฐให้มีระบบการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่มีมาตรการรองรับทั้งระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ
เพื่อให้ได้สิทธิ

• รัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้มีระบบการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและต้องมีระบบตรวจสอบการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพดังกล่าว รวมทั้งมีการบังคับใช้ระบบการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

• รัฐมีหน้าที่จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแผนแม่บท การจัดทำแผนการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของรัฐทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและต่อสุขภาพของประชาชน และมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจดำเนินโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว

• เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมที่จัดทำให้ประชาชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องทราบและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการจัดทำแผนการดำเนินโครงการ ทั้งนี้จะต้องกำหนดระยะเวลาที่เพียงพอสำหรับให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นไว้ด้วย

• หน่วยงานของรัฐต้องนำความคิดเห็นที่ได้รับไปใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติหรืออนุญาตการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมและต้องแจ้งให้ประชาชนทราบถึงผลของการนำความคิดเห็นไปใช้ประกอบการพิจารณาด้วย

• จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดให้มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพของอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และจัดการอากาศให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน

• จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดและการจัดทำบัญชีการปลดปล่อย และเคลื่อนย้ายหมอกควันพิษ ดัชนีคุณภาพอากาศ และดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพในแต่ละพื้นที่

• จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การปรึกษาหารือและการร่วมดำเนินการในการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และจัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ตั้งแต่การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย การปรับปรุงกฎหมาย และการร่างกฎหมาย

• จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการในการกำกับ การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ เพื่อดำเนินการให้เกิดผลลัพธ์ตามที่นโยบายและแผนแม่บทและวิธีการในการดำเนินการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการร่วมกำหนดโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับ

• บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะรู้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชน รวมทั้งมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น และรัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูล และวิธีป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบและจัดหาข้อมูลให้โดยเร็ว

• บุคคลทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงและได้รับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมโดยกำหนดให้รัฐมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากผู้อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาหมอกควันพิษ และประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ

• ให้คำแนะนำแก่ผู้ร้องเรียนในการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันพิษ และประสานผู้เชี่ยวชาญด้านการดำเนินคดี เพื่อที่จะได้รับการพิจารณาและได้รับการชดเชย เยียวยา และฟื้นฟูความเสียหาย

• องค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค เด็กผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วย และผู้ทำงานกลางแจ้งมีสิทธิในการดำเนินคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง และดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ รวมถึงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายในคดีที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม

• เมื่อมีการฟ้องคดีให้หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่ถูกกล่าวหาว่าก่อให้เกิดหมอกควันพิษ กระทำการหรือหยุดกระทำการเพื่อยุติการก่อให้เกิดหมอกควันพิษ เว้นแต่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนสามารถพิสูจน์ให้ศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนั้นเห็นได้ว่าตนมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดหมอกควันพิษดังกล่าว

• ในการดำเนินคดีในศาลมิให้องค์กรเอกชนถอนฟ้อง เว้นแต่ศาลจะอนุญาต เมื่อศาลเห็นว่าการถอนฟ้องนั้นไม่เป็นผลเสียต่อการคุ้มครองประชาชนเป็นส่วนรวม ให้องค์กรเอกชนตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีอำนาจในการดำเนินคดีแบบกลุ่มตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา หรือวิธีพิจารณาความที่เกี่ยวกับคดีปกครองแล้วแต่กรณี

• เพื่อบูรณาการนโยบาย การกำกับดูแล การจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ และบรรลุตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการร่วม คณะกรรมการกำกับ คณะกรรมการบริหารเครื่องมือและมาตรการ และคณะกรรมการกองทุน มาประชุมร่วมกันอย่างน้อยปีละสองครั้ง

• ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมจัดทำนโยบาย และออกกฎกระทรวงในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมให้สถาบันการอาชีวศึกษา หรือสถาบันอุดมศึกษา ศึกษาวิจัยและบริการวิชาการที่สอดคล้องกับนโยบายด้านอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ และสนับสนุนให้
สถาบันการอาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษานำผลการศึกษาวิจัย และบริการวิชาการนั้นไปเผยแพร่และใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ตลอดจนนำเสนอต่อคณะกรรมการร่วมเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำ และปรับปรุงแก้ไขนโยบายด้านอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ และแผนแม่บทต่อไป

• การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนงบประมาณ ต้องคำนึงถึงงานวิจัยและงานบริการวิชาการที่ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการดำเนินการ และได้รับประโยชน์จากงานวิจัยหรืองานบริการวิชาการนั้นเป็นสำคัญ

• ให้คณะกรรมการร่วมจัดทำนโยบายและแผนแม่บท เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานเพื่อกำกับดูแลและบูรณาการการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ เสนอคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อทราบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

• ในการจัดทำแผนแม่บท ให้คณะกรรมการร่วมนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้ที่อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาคุณภาพอากาศมาประกอบด้วยและให้คณะกรรมการร่วมทบทวนแผนแม่บทอย่างน้อยทุกห้าปี

• แผนแม่บทต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ แนวคิดการบูรณาการสุขภาพกับสิ่งแวดล้อมในประเด็นอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ, เป้าหมายของการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ, การจัดให้มีกลไกและมาตรการที่หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติเพื่อรองรับสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดของประชาชน

• รวมถึงการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องนำผลการประเมินผลกระทบทางสุขภาพไปบังคับใช้ในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่, การกำหนดกลไกและมาตรการสำหรับการจัดการปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น กลุ่มเปราะบาง พื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะ เป็นต้น, การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมปัจจัยที่คุกคามการเข้าถึงสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด, การยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ซึ่งรวมถึงดัชนีคุณภาพอากาศ ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพ และระบบติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศภาคประชาชน

• การส่งเสริม และสนับสนุนให้ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา มีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ, การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศเพื่อนำมาจัดทำฐานข้อมูล และนำไปใช้ในการสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ, การกำหนดมาตรการและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์, การกำหนดมาตรการเกี่ยวกับหมอกควันพิษข้ามแดน

• การจัดทำแผนแม่บทให้จัดทำเป็นสองระยะ คือ ระยะกลาง และระยะยาว แผนแม่บทระยะยาว จัดทำขึ้นในรอบระยะเวลาทุกสิบปีเพื่อกำหนดเป้าหมายระยะสิบปี แผนแม่บทระยะกลาง จัดทำขึ้นในรอบระยะเวลาทุกห้าปี เพื่อการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและบรรลุเป้าหมายตามที่แผนแม่บทระยะยาวกำหนด และเป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ, ให้มีการประเมินผลและทบทวนแผนแม่บทระยะยาว ภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนครบรอบระยะเวลาสิบปี และให้จัดทำร่างแผนแม่บทระยะยาวฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จก่อนแผนแม่บทระยะยาวฉบับเดิมจะสิ้นสุดลง

• มาตรา 25 กำหนดให้มี “คณะกรรมการร่วมนโยบายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ” มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการ มีผู้ได้รับเลือกจากภาคประชาสังคม เป็นรองประธานกรรมการ 2 คน ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ 5 คน ผู้แทนจากภาคประชาสังคม 5 คน มีวาระห้าปีและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

• คณะกรรมการร่วมมีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบายและแผนแม่บทเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ, พิจารณาผลการประเมินการปฏิบัติตามนโยบายและแผนแม่บทที่คณะกรรมการกำกับเสนอ และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกสิ้นปีงบประมาณ, พิจารณาและให้ความเห็นชอบมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ซึ่งรวมถึงดัชนีคุณภาพอากาศและดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพที่คณะกรรมการกำกับประกาศกำหนด

• กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองรักษาความสมดุลและยั่งยืน ระหว่างสิ่งแวดล้อม สุขภาพและเศรษฐกิจ, ติดตามประเมินผลการดำเนินมาตรการทางกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยแร่ กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ หรือกฎหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานคุณภาพของอากาศเพื่อสุขภาพ แล้วรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีทุกหนึ่งปี หรือเมื่อมีสถานการณ์หมอกควันพิษซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง

• เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพอากาศต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการมีอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ

• เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแก้ไขปัญหาจากการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องการบริหารและการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ, ควบคุมการดำเนินงานของคณะกรรมการก ากับให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้, สนับสนุน ส่งเสริม และสร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักรู้ถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจากหมอกควันพิษและความจำเป็นของการเข้าถึงอากาศสะอาด รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษอย่างมีนัยสำคัญและปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัตินี้

• มาตรา 30 ในการปฏิบัติหน้าที่ให้คณะกรรมการร่วม หรือคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการร่วมมอบหมายมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น

• มาตรา 31 เพื่อประโยชน์การส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ให้คณะกรรมการกำกับโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วมมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาในการกำหนดดัชนีคุณภาพอากาศ และดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพ โดยคำนึงถึงหลักการสำคัญว่าอากาศมีมลสารปะปนอยู่หลายชนิด และมลสารแต่ละชนิดส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่แตกต่างกัน

• ดัชนีคุณภาพอากาศ และดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพนั้น ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยอาศัยหลักวิชาการ กฎเกณฑ์ และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน คำนึงถึงสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดและสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ รวมถึงความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งต้องเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้ประชาชนเข้าถึงโดยง่าย

• ให้คณะกรรมการร่วมมีหน้าที่ในการทบทวนดัชนีคุณภาพอากาศ และดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพตามการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ อย่างน้อยทุกสามปี โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน

• มาตรา 34 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนถิ่นมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพในพื้นที่ความรับผิดชอบของตน เสนอต่อคณะกรรมการร่วมด้านอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพระดับจังหวัดเป็นประจำทุกปี และให้คณะกรรมการร่วมด้านอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพระดับจังหวัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้คณะกรรมการกำกับ เพื่อจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลสารสนเทศของข้อมูลคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพในระดับประเทศต่อไป

• นอกจากนี้ มาตรา 36 กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีก 13 คน ซึ่งสรรหาและแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลผู้มีความรู้ ประสบการณ์ และเป็นผู้ที่มีผลงานหรือ เคยปฏิบัติงานที่มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญ ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพ ด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมสุขภาพ ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมสุขภาพ ด้านบริหารจัดการภาครัฐเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมสุขภาพ อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน

• ให้คณะกรรมการกำกับประกอบไปด้วยคณะกรรมการสองประเภท ได้แก่ คณะกรรมการอิสระ และคณะกรรมการปฏิบัติงานประจำ โดยให้ผู้อำนวยการ “องค์การอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ” เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการกำกับ

• คณะกรรมการกำกับ มีหน้าที่และอำนาจ อาทิ ประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนแม่บท, กำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตาม เร่งรัด สนับสนุน และให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการทั้งหลายที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ,
กำกับติดตามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเก็บข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษเพื่อสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับกำหนด

• เสนอเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐแล้วแต่กรณี หากหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ฯลฯ

• มาตรา 40 ให้จัดตั้ง “องค์การอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ” เป็นนิติบุคคล เรียกโดยย่อว่ า “อ.อ.ส.ส.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Clean Air for Health Organization” เรียกโดยย่อว่า “CAHO” มีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับดูแล ติดตาม และดำเนินการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการที่เชื่อมโยงมิติสุขภาพกับสิ่งแวดล้อม มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตาม
กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ อยู่ในกำกับของคณะกรรมการกำกับ และสำนักนายกรัฐมนตรี

• องค์การมีหน้าที่และอำนาจ อาทิ ดำเนินงานตามนโยบายและแผนแม่บท, รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการทั้งหลายที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับในการ
พิจารณากำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตาม และเร่งรัด

• ตลอดจนรายงานข้อมูลการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัตินี้, บริหารจัดการกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ, วิเคราะห์และกำหนดเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ, เข้าร่วมทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ขององค์การ, เรียกเก็บเงินบำรุงกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าบริการหรือค่าตอบแทนอื่นใดในการให้บริการของคณะกรรมการกองทุน

• รายได้ขององค์การ ประกอบด้วย เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี, เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้,ให้องค์การมีผู้อำนวยการคนหนึ่ง และรองผู้อำนวยการตามจำนวนที่คณะกรรมการกำกับกำหนด

• การจัดการร่วมอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ กำหนดให้แต่ละจังหวัดมีคณะกรรมการร่วมด้านอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพระดับจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจ เช่น จัดทำแผนแม่บทการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพในจังหวัดเสนอคณะกรรมการกำกับเพื่อให้ความเห็นชอบ, กำหนดหลักเกณฑ์การกำกับติดตามหน่วยงานของรัฐ ในการดำเนินการป้องกัน แก้ไข
และรักษาเยียวยา เพื่อให้ได้มาซึ่งอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพในเขตจังหวัด

• นอกจากนี้ กำหนดให้การจัดร่วมด้านอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพระดับท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ โดยต้องคำนึงถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณภาพทางอากาศ รวมทั้งการรักษาเยียวยาด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาคุณภาพทางอากาศที่อาจเกิดขึ้น โดยให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณ ทรัพยากร เครื่องมือ และองค์ความรู้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการอากาศส ะอาดเพื่อสุขภาพร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชน เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่
จะหายใจอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ

• การจัดร่วมด้านอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพในเขตพื้นที่เฉพาะ ในกรณีที่พื้นที่ใดมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพทางอากาศสะอาดที่ก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการร่วมมีอำนาจตามพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดเป็นเขตพื้นที่เฉพาะในการจัดร่วมด้านอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ และแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพในเขตพื้นที่เฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหาเป็นการชั่วคราว จนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขเสร็จสิ้น

• เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาดกำหนดให้มี “กองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ” ใน อ.อ.ส.ส. เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเพื่อการช่วยเหลือ การอุดหนุน การพัฒนา การส่งเสริม การสนับสนุน การคุ้มครอง การบำบัด การฟื้นฟู การป้องกัน หรือการจัดการปัญหาเกี่ยวกับหมอกควันพิษและสุขภาพแบบบูรณาการ

• กองทุนอากาศสะอาดฯ ได้รับเงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้, เงินบำรุงกองทุนที่จัดเก็บ, เงินค่าธรรมเนียมการจัดการหมอกควันพิษที่จัดเก็บ, เงินที่ได้รับจากเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด, เงินที่ได้รับจากค่าปรับ เงินค่าสินไหมทดแทน หรือเงินค่าเสียหายที่ได้รับจากการฟ้องร้องโดยเงินและทรัพย์สินให้เป็นของ อ.อ.ส.ส. ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

• กองทุนอากาศสะอาดฯ ใช้จ่ายเพื่อกิจการดังต่อไปนี้ เช่น ค่าใช้จ่ายในมาตรการเพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง ดูแล และรักษาสภาพอากาศที่ดี, ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูและเยียวยาสภาพอากาศและผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวม, ค่าใช้จ่ายช่วยเหลือ อุดหนุน สนับสนุน หรือส่งเสริมชุมชน หรือกลุ่มเปราะบาง, ค่าใช้จ่ายในการศึกษาวิจัย, ค่าใช้จ่ายในการโฆษณา การเผยแพร่ข้อมูล และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพอันเนื่องจากปัญหาหมอกควันพิษ

• มาตรา 72 กำหนดให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดหมอกควันพิษและส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอัตราร้อยละสิบของภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดหมอกควันพิษและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

• สินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดหมอกควันพิษและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ สินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน, สินค้าแบตเตอรี่,
สินค้ารถยนต์, สินค้ารถจักรยานยนต์, สินค้าเรือ, ผลิตภัณฑ์เครื่องหอม, หินอ่อนและหินแกรนิต, สินค้าสารทำลายชั้นบรรยากาศ, สินค้าสุรา, สินค้ายาสูบ, ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นเครื่องดื่มที่มีลักษณะผง เกล็ด หรือเครื่องดื่มเข้มข้นที่มีส่วนผสมของน้ำตาล, กิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, กิจการที่ได้รับอนุญาตหรือสัมปทานจากรัฐ, สินค้าหรือบริการอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตที่ประกาศกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

• ให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรเป็นผู้ดำเนินการเรียกเก็บเงินบำรุงกองทุนเพื่อนำส่งเป็นรายได้ของกองทุน โดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

• มาตรา 78 กำหนดให้มี “คณะกรรมการกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ” จำนวนไม่เกินห้าคน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการกำกับ

• การบริหารเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด มาตรา 86 กำหนดเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด เพื่อเพิ่มหรือลดแรงจูงใจ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล อาทิ ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ, เงินบำรุงกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ, ค่าธรรมเนียมการจัดการหมอกควันพิษ, ระบบฝากไว้ได้คืน, การกำหนดและโอนสิทธิในการปล่อยหมอกควันพิษ, การประกันความเสี่ยงในความเสียหายต่อระบบนิเวศที่ทำให้คุณภาพอากาศด้อยลง

• มาตรา 87 กำหนดให้มี “คณะกรรมการบริหารเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด” จำนวนไม่เกินเจ็ดคน เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ ประเภท ชนิด ลักษณะสินค้าหรือบริการที่ต้องส่งเงินบำรุงกองทุน รวมถึงอัตราเงินบำรุงกองทุนที่ต้องนำส่งตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต, กำหนดมาตรการภาษีเพื่ออากาศสะอาด หรือค่าธรรมเนียมการจัดการหมอก
ควันพิษ กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจัดการหมอกควันพิษรวมถึงสถานประกอบการ กิจการ กิจกรรม บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

• การจัดเก็บภาษีเพื่ออากาศสะอาดและเงินบำรุงกองทุน มาตรา 92 ให้คณะกรรมการกำกับโดยคำแนะนำของคณะกรรมการบริหารเครื่องมือและมาตรการติดต่อประสานงาน ปรึกษาหารือ ขอความร่วมมือ หรือเสนอแนะกระทรวง กรม ส่วนราชการ หรือ
หน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีอากรเพื่ออากาศสะอาดทุกประเภท

• การเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการหมอกควันพิษ มาตรา 95 ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษมีหน้าที่เสียค่าธรรมเนียมการจัดการหมอกควันพิษ ได้แก่ เครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงในยานพาหนะทุกชนิด, เครื่องจักรที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมรวมถึงโรงไฟฟ้า, โครงการก่อสร้างและพัฒนาเมืองโดยภาครัฐ, กิจกรรมทางการเกษตรรวมถึงการเผาในที่โล่งแจ้ง, กิจกรรมก่อสร้างโดยภาคเอกชน, กิจการเหมืองแร่, แหล่งกำเนิดหมอกควันพิษอื่นตามที่กำหนด

• ระบบฝากไว้ได้คืน (deposit-refund measure) ได้แก่ มาตรการในการเรียกเก็บเงินเพิ่ม (surcharge) จากผู้รับโอนสินค้าใด ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออากาศสะอาดเพื่อสุขภาพตามชนิด ประเภท ลักษณะของสินค้า และอัตราเงินเพิ่มที่เรียกเก็บที่ประกาศกำหนด และการได้รับคืนเงินเมื่อนำสินค้านั้นๆ มาคืนหรือนำไปกำจัดตามเงื่อนไข

• การกำหนดสิทธิและการโอนสิทธิในการปล่อยหมอกควันพิษ มาตรา 102 เพื่อให้เกิดความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในการใช้ประโยชน์จากอากาศสะอาดและการจำกัดปริมาณหมอกควันพิษในราชอาณาจักร โดยสั่งการให้หน่วยงานหรือส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจกรรมอันเป็นแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษดำเนินการใด ๆ กับเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษในการนำระบบการกำหนดสิทธิและการโอนสิทธิในการปล่อยหมอกควันพิษมาใช้

• การประกันความเสียหาย มาตรา 104 กำหนดให้มีการประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย ชีวิต
หรือทรัพย์สินที่เกิดจากกิจกรรมใดๆ ที่มีความเสี่ยงเป็นแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษหรือให้ผู้รับประกันจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ได้รับความเสียหาย หรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ

• มาตรการส่งเสริม สนับสนุน และมาตรการอื่น ๆ มาตรา 106 กำหนดให้มีเครื่องมือหรือมาตรการอื่นใด เพื่อสร้างและเพิ่มหรือลดแรงจูงใจ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกัน บำบัด ขจัด หรือลดหมอกควันพิษ หรือส่งเสริมอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ

• หมอกควันพิษข้ามแดน มาตรา 108 ผู้ใดเป็นเจ้าของหรือครอบครองแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษนอกราชอาณาจักรไทย ก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายหมอกควันพิษเข้ามาในราชอาณาจักรไทยจนเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนผู้นั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท และปรับเป็นรายวันอีกวันละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยให้โทษปรับอย่างสูงรวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท

• มาตรา 120 เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่คณะกรรมกา รตามพระราชบัญญัตินี้กำหนดขึ้นเพื่อการป้องกัน เฝ้าระวัง ดูแล รักษาสภาพอากาศที่ดีต่อสุขภาพ และการจัดการปัญหาคุณภาพอากาศที่กระทบต่อสุขภาพให้ถือว่ากระทำการโดยจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมาย

• มาตรา 121 ผู้มีหน้าที่ส่งเงินบำรุงกองทุนและผู้มีหน้าที่เสียค่าธรรมเนียมการจัดการหมอกควันพิษผู้ใดไม่ส่งเงินบำรุงกองทุนหรือส่งเงินบำรุงกองทุนไม่ครบตามจำนวน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าเท่าถึงยี่สิบเท่าของเงินบำรุงกองทุนที่จะต้องนำส่งหรือของค่าธรรมเนียมที่ต้องเสีย

สำหรับการผลักดันกฎหมายอากาสสะอาดได้มีการดำเนินงานมากว่า 3 ปี มีการศึกษาประมาณ 2 ปี และเริ่มร่าง พ.ร.บ. เมื่อปี 2563 โดยในปี 2564 มีการรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหลังยื่นเสนอต่อรัฐสภาในวันที่ 21 มกราคมแล้วได้มีการรณรงค์แคมเปญ

#อย่าปัดตก #พรบอากาศสะอาด #สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด #RightToBreatheCleanAir

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย