ทส.เบรกกรมชลประทานใช้พื้นที่อุทยานสร้างอ่างเก็บน้ำ

กระทรวงสิ่งแวดล้อมไม่เห็นชอบให้กรมชลประทานใช้พื้นที่อุทยานดอยภูนางบางส่วนสำหรับสร้างอ่างเก็บน้ำแม่เมาะที่ อ.ปง จ.แพร่ แต่ให้หาทางเลือกอื่นในการพัฒนาแหล่งน้ำ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งอาศัยของนกยูงและกระทบต่อระบบนิเวศ

การประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธาน เมื่อ 10 มี.ค. 2565 ได้พิจารณาวาระการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง บางส่วนเพื่อให้กรมชลประทานก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่เมาะอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ปง อ.ปง จ.พะเยา ซึ่งจะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศ

โดยเฉพาะกับถิ่นอาศัยของนกยูงที่มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทั้งบริเวณลำห้วยหลัก คือ ห้วยแม่เมาะ และลำห้วยสาขาที่มีน้ำไหลไม่ตลอดทั้งปีอยู่เป็นประจำ ซึ่งมีความถี่ในการพบสูง แสดงว่าระบบนิเวศของลำห้วยมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของนกยูงในบริเวณพื้นที่ที่เป็นอ่างเก็บน้ำดังกล่าว

ภาพ เพจอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง

ที่ประชุมได้มีมติให้ ทส. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันปรึกษาหารือหาแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำทางเลือกอื่น ๆ ที่ดีที่สุด ในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้มีน้ำใช้สำหรับการเกษตร 4,000 กว่าไร่ แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ อาทิ การใช้ศักยภาพของน้ำใต้ดิน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพิจารณาวาระการปฏิบัติการตามโครงการหรือแผนการใด ๆ เพื่อให้มีสิ่งก่อสร้างในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และการปฏิบัติการเพื่อให้มีสิ่งก่อสร้างหรือสาธารณูปโภคพื้นฐานจำเป็นแก่การดำรงชีพ ตามโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ

โดยที่ประชุมได้มีมติให้นำแผนการจัดการอุทยานแห่งชาติ หรือแผนการจัดการกลุ่มป่าเดิม หรือร่างแผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ นำมาใช้ประกอบการพิจารณาการอนุญาตตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอนุญาตให้กระทำการในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ

ตามมาตรา 22 วรรคสอง มาตรา 27 วรรคสาม และมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2564 และระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ พ.ศ.2564 สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อ 7 (5) ของระเบียบดังกล่าวต่อไปได้

ตลอดจนแผนงานหรือโครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งก่อสร้าง สาธารณูปโภคพื้นฐานหรือเพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่จำเป็นแก่การดำรงชีพตามโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ที่ได้รับการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 แล้ว สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อ 7(6) ของระเบียบดังกล่าวต่อไปได้

พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้แจ้งการเตรียมจัดทำ Environmental Map ภายในปีนี้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการวางแผนพัฒนาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนต่อไป

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่