นักวิทย์แนะเร่งฟื้นฟูประชากรสัตว์ ช่วยดูดซับคาร์บอน ลดโลกร้อน

การศึกษาใหม่พบว่าการปกป้องและฟื้นฟูประชากรสัตว์บางสายพันธุ์อาจช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยเฉพาะสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ช้าง วาฬ วัวกระทิง และฉลาม ซึ่งมีประสิทธิภาพการจับคาร์บอนเทียบเท่ากับป่า 

นักวิจัยพบว่าสัตว์ 9 สายพันธุ์ ได้แก่ หมาป่าสีเทา วิลเดอบีสต์ วัวมัสค์ ช้างป่าแอฟริกา ควายไบซันอเมริกัน ฉลามปะการัง นากทะเล วาฬบาลีน ตลอดจนปลาทะเล สามารถช่วยดักจับคาร์บอนได้ 6.41  กิกะตันต่อปี นั่นคือประมาณ 95% ของปริมาณที่ต้องกำจัดทุกปีเพื่อให้แน่ใจว่าภาวะโลกร้อนยังคงอยู่ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

การศึกษานี้นำโดย Yale School of the Environment และ ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ 15 คน จาก Global Rewilding Alliance ได้ทำการเปรียบเทียบปริมาณคาร์บอนในทุ่งหญ้าสะวันนา ป่าไม้ และระบบนิเวศอื่นๆ ขณะที่จำนวนประชากรสัตว์ป่ายังสมบูรณ์ และเมื่อจำนวนลดต่ำลง

พวกเขาพบว่าระบบนิเวศที่ประชากรสัตว์ยังมีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ โดยการกระทำ เช่น การหาอาหาร หรือการขุดดิน ช่วยเพิ่มความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของระบบนิเวศได้มากถึง 250%

นักวิจัยให้เหตุผลว่าการใช้ชีวิตของสัตว์ในป่ามีส่วนช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์พืชเอื้อต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ช่วยกักเก็บคาร์บอน ต่างจากมนุษย์ที่เข้าไปเพื่อผลประโยชน์ เหยียบย่ำ และทำลายระบบนิเวศ

ออซวาลด์ ชมิทซ์ ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาประชากรและชุมชนหนึ่งในผู้ศึกษาอธิบายว่าในอดีตผู้คนมองว่าสัตว์ป่าไม่มีความสำคัญมากนักในนิเวศวิทยา แต่หลังจากมีการศึกษาหหลายฉบับนักวิทยาศาสตร์จึงตระหนักมากขึ้นว่าสัตว์ป่า ตั้งแต่แมลงผสมเกสรตัวเล็กๆ ไปจนถึงช้างที่แทะต้นไม้ กำลังร่วมกันสร้างระบบนิเวศอย่างแข็งขัน

เขาคิดต่อไปว่า “พืชสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับสัตว์ แต่สัตว์ไม่อุดมสมบูรณ์พอที่จะส่งผลกระทบต่อพืชในทางที่สำคัญ … แต่เห็นได้ชัดว่านั่นไม่จริง” กับสิ่งมีชีวิตทั้งใหญ่และเล็กตั้งแต่วิลเดอบีสต์ไปจนถึง หมาป่า แมงมุม และวาฬ ไปจนถึงปลามีโซเพลาจิก ล้วนมีความสำคัญต่อวัฏจักรคาร์บอน

รักษาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มมากไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมไม่เพียงแต่ต้องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเท่านั้น แต่ยังต้องกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศประมาณ 500 กิกะตันภายในปี 2100

การแก้ปัญหาทางธรรมชาติ เช่น การปกป้องและฟื้นฟูป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ และระบบนิเวศทุ่งหญ้าสามารถช่วยได้ แต่การดำเนินการดังกล่าวอาจจะไม่ทัน ดังนั้นการฟื้นฟูประชากรสัตว์ หรือการนำผู้ล่ากลับสู่ระบบนิเวศ (Trophic Rewilding) คือหนึ่งในกระบวนการสร้างความเคลื่อนไหวให้กับวัฏจักรคาร์บอน

“แทนที่จะใช้เวลา 77 ปีเพื่อ(ดูดซับคาร์บอน)ให้ได้ 500 กิกะตันออกมา เราสามารถมีได้ภายใน 35 ปี หากเราพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสร้างประชากรเหล่านี้ขึ้นมาใหม่” ชมิทซ์กล่าว

ตัวอย่างเช่น ในแถบอาร์กติกฝูงกวางคาริบูและสัตว์ขนาดใหญ่อื่นๆ ทำให้หิมะอัดแน่นป้องกันไม่ให้น้ำแข็งละลาย หรือวาฬที่หากินในน้ำลึกจะขับถ่ายออกมาเป็นสารอาหารกระตุ้นให้เกิดการผลิตแพลงก์ตอนซึ่งจำเป็นต่อการตรึงคาร์บอนในมหาสมุทร ในขณะเดียวกันสัตว์เหล่านี้ยังเป็นตัวดูดซับคาร์บอนในตัวมันเอง

Mar 27 2023. Restoring just nine groups of animals could help combat global warming. Newscientist

Dec 8 2022. Animating the Carbon Cycle: Earth’s animals vital allies in CO2 storage. Mongabay

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย