เปิดรับฟังคนเชียงใหม่ เพิกถอนอุทยานฯออบหลวง สร้างอ่างเก็บน้ำ

เปิดรับฟังความคิดเห็นคนเชียงใหม่ ขอเพิกถอนอุทยานฯ ออบหลวง 253 ไร่ สร้างอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด แลกสูญเสียป่าเต็งรัง เบญจพรรณ และสัตว์ป่า 106 ชนิด

สำนักอุทยานแห่งชาติเปิดรับฟังความคิดเห็นกรณีเพิกถอนอุทยานฯ ออบหลวง (บางส่วน) จำนวน 253 ไร่ เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพนิเวศป่าไม้เป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ มีสัตว์ป่า 106 ชนิด แต่ต้องเก็บกักน้ำเพื่อการเพาะปลูกในพื้นที่

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติออบหลวง (บางส่วน) จ.เชียงใหม่ เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน กรณีเพิกถอนอุทยานแห่งชาติออบหลวง (บางส่วน) เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้รับมาประกอบการพิจารณา ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้การเสนอร่าง พ.ร.ฎ.เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง (บางส่วน) สอดคล้องกับพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 8 วรรคสาม

โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างเพื่อเก็บกักน้ำช่วยเหลือสนับสนุนการเพาะปลูกในเขตพื้นที่การเกษตรของราษฎรซึ่งมักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นประจำ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของราษฎร และยกฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียงให้สูงขึ้น โดยจะเป็นผลสืบเนื่องจากผลผลิตจากการเพาะปลูกที่ได้ผลดีขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนที่มั่นคง เป็นการลดความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำต้นทุนช่วงฤดูแล้ง

ทั้งนี้ กรมชลประทานจะต้องดำเนินการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่รวม 253 ไร่ โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่หัวงานและอาคารประกอบ 43 ไร่ พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 207 ไร่ และพื้นที่ถนนเข้าพื้นที่หัวงาน 3 ไร่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพนิเวศป่าไม้เป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ

จากการสำรวจสัตว์ป่าในพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ หัวงานและอาคารประกอบ แนวท่อส่งน้ำและบ่อน้ำเดิม และถนนเข้าสู่พื้นที่หัวงาน พบสัตว์ป่าทั้งหมด 106 ชนิด สัตว์ป่าที่พบส่วนใหญ่ มีขนาดตัวเล็ก เนื่องจากพื้นที่สองฝั่งลำน้ำที่เป็นภูเขามีความลาดชันค่อนข้างมาก จึงไม่เหมาะสมในการอาศัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ส่วนสัตว์ป่าบริเวณพื้นที่รับประโยชน์ พบสัตว์ป่าประเภทค่อนข้างคุ้นเคยหรือทนทานต่อการถูกรบกวนจากกิจกรรมมนุษย์

สำหรับสถานภาพสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย บริเวณพื้นที่โครงการพบว่า ส่วนใหญ่เป็นนก จำนวน 46 ชนิด สัตว์ป่าคุ้มครอง อีก 6 ชนิด ส่วนสถานภาพเพื่อการอนุรักษ์บริเวณพื้นที่โครงการ พบเหยี่ยวปีกแดง นกปรอดหัวโขน เม่นใหญ่ สุนัขจิ้งจอก นกยูง และมีสัตว์ป่าชนิดที่ IUCN (2018-2) กำหนดให้มีสถานภาพเพื่อการอนุรักษ์เป็นสัตว์ป่าถูกคุกคามในระดับใกล้สูญพันธุ์ คือ นกยูง

สำหรับพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำของโครงการอยู่ในเขตอุทยานฯ ออบหลวง มีสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งหมดเป็นพื้นที่ป่าไม้ ส่วนพื้นที่รับประโยชน์มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขา ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม (ร้อยละ 54.64)

อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบในการกำหนดพื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานฯ การขยายอุทยานฯ หรือการเพิกถอนอุทยานฯ ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน ในการขยายพื้นที่อุทยานฯ ออบหลวง (บางส่วน) จ.เชียงใหม่

จึงขอเชิญชวนแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=37239 ระหว่างวันที่ 10-24 มิ.ย. 2567

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่