รณรงค์ 3R ผ่านไป 48 ปี ขยะพลาสติกยิ่งเพิ่ม มาเริ่ม R ตัวใหม่กันไหม?

3 ก.ค. ของทุกปี คือ “วันปลอดถุงพลาสติกสากล” ซึ่งหน่วยงานทุกองค์กรออกมารณรงค์กันไม่รู้จักเหน็ดเหนือย แต่ขยะพลาสติกกลับเพิ่มมากขึ้น

ขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อุตสาหกรรมพลาสติกจะรออะไร ขยายการผลิตมากขึ้นซิ เพราะเป้าหมายคือ กำไร บริษัทไม่เคยกำหนดไว้ในนโยบายว่าจะลดปริมาณการผลิตหรือมุ่งส่งเสริมการใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติก

โลกรู้จักคำว่า 3R มาอย่างยาวนาน นั่นคือ Reduce = ลดการใช้ (คิดก่อนใช้) ใช้อย่างพอเหมาะ บริโภคเท่าที่จำเป็น เพื่อลดปริมาณขยะโดยเฉพาะลด ละ เลิก พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง, Reuse = การใช้ของซ้ำไปซ้ำมาให้นานที่สุด, Recycle = การนำขยะมาใช้ประโยชน์ เช่น การนำขวดแก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ ไปสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่

เส้นทางของ 3R ยาวไกล วันนี้เข้าสู่วัยกลางคน 48 ปี หลังจากช่วงสงครามเวียดนาม ชาวอเมริกันจำนวนมากเริ่มตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กระทั่งมีการกำหนดให้มี “วันคุ้มครองโลก” ครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 1970 จากนั้นในปี 1976 รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลักการ 3R ถูกนำมาใช้รณรงค์กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สถานการณ์การผลิตพลาสติกของโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รายงานล่าสุดของ OECD ระบุว่า ทั่วโลกใช้พลาสติกรวมกันถึง 460 ล้านตัน ในปี 2019 เป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่บันทึกไว้เมื่อปี 2000 ถึงเกือบสองเท่า ขณะที่ปริมาณขยะพลาสติกที่ทั่วโลกผลิตออกมาในช่วงปีเดียวกันก็สูงขึ้นกว่าสองเท่า มาเป็น 353 ล้านตันด้วย แต่ขยะพลาสติกทั่วโลกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพียง 9% เท่านั้น (ขยะไทยรีไซเคิลได้ 18%)

การผลิตพลาสติกที่เพิ่มจำนวนอย่างมากได้ก่อให้เกิดวิกฤตต่อโลกในหลายด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมลภาวะ และก่อให้เกิดมลพิษอากาศ ซึ่งข้อมูลโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) คาดว่า ภายในปี 2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การใช้ และการกำจัดพลาสติกจะคิดเป็น 15% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด และมีขยะพลาสติกประมาณ 11 ล้านตันไหลลงสู่มหาสมุทรทุกปีและอาจเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าภายในปี 2040

อย่างไรก็ตาม สมาชิก UN 175 ประเทศได้ร่วมกันผลักดัน “สนธิสัญญาพลาสติก” ( (Global Plastic Treaty) หวังจะใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขวิกฤตมลพิษจากพลาสติกทั่วโลก และจะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยจะหาข้อสรุปกันให้ได้ภายในสิ้นปี 2024

ประเด็นก็คือว่า เราจะคาดหวังอะไรได้จากข้อตกลงระหว่างประเทศหรือสนธิสัญญาระดับโลกเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาโลกได้พยายามสร้างกติกาและเงื่อนไขเพื่อความเป็นธรรมมากมาย แต่หลายประเทศก็ละเลย โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย ยกตัวอย่าง การประชุม COP หรือ การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งเป็นเวทีเจรจาระดับโลกว่าด้วยวิกฤตโลกร้อนและดำเนินสืบเนื่องมาเกือบ 3 ทศวรรษ

รูปธรรมของอุปสรรควิกฤตโลกร้อนที่ชัดสุดก็คือ อุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลไม่ยอมลดปริมาณกำลังการผลิต แม้ว่าพลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่การควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส ยังห่างไกลความเป็นจริง เนื่องจากโลกมีแต่จะร้อนระอุมากขึ้นและยิ่งจะเข้าใกล้วันมหาวิปโยคในไม่ช้าไม่นาน

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หนึ่งในร่างสนธิสัญญาพลาสติกมีการกล่าวถึง “การปรับเปลี่ยนทิศทางการใช้วัสดุและหาวัสดุทดแทนเพื่อเป็นทางเลือก” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณการหาวัสดุแทนที่ หรือ Replace นี่คือ R ตัวใหม่ที่ควรจะต้องพูดถึงกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในบ้านเราหากสามารถนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (Agriculture Waste) มาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ และสามารถทดแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกได้ ก็จะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกต้นทาง แต่ในทางกลับกันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งที่ปัจจุบันถูกกำจัดด้วย “การเผา” ซึ่งเป็นสาเหตุการก่อมลพิษอากาศ

เนื่องในวันปลอดถุงพลาสติกสากล หรือ International Plastic Bag Free Day ประเทศไทยจึงต้องมาพูดถึง R ตัวที่ 4 คือ Replace กันให้จริงจังคู่ขนานไปกับการทำเกษตรที่ปลอดการเผา แต่แปลงวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ อาทิ ฟางข้าว ชานอ้อย เปลือกผลไม้ ใบไม้ ฯลฯ ให้เกิดมูลค่าในทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มเติมจากราคาผลผลิตต่อปี

ทั้งหมดจะเป็นจริงได้ ภาครัฐต้องเริ่มต้นขยับและสร้างกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การกำหนดโยบายหรือออกกฎหมายเพื่อให้ภาคเกษตรปลอดการเผาและการส่งเสริมผู้ประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้สิทธิประโยชน์มากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ปริมาณขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจะลดลง คุณภาพอากาศจะค่อยๆ ดีขึ้นอีกด้วย

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย

เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด