พลังงานหมุนเวียนไทยลำดับ 36 โลก จะบรรลุเป้า Net Zero ได้จริงหรือ?

ไทยใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 13.38 รั้งลำดับที่ 36 ของโลก ตามแผน PDP ได้กำหนดสัดส่วนพลังงานทดแทนไม่น้อยกว่า 50% แต่จะ Net Zero ได้จริงหรือไม่

ในปี 2023 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่สัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนเติบโตขึ้นถึง 30% โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ จากเดิมเมื่อปี 2000 อัตราการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ราวๆ 19% อย่างไรก็ดี แม้สัดส่วนจะเพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวมมนุษยชาติก็ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติมากถึง 70% ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน

ในการประชุม COP 28 ที่ผ่านมา ชาติสมาชิกได้ข้อตกลงแค่จะ “เปลี่ยนผ่าน” การใช้พลังงานฟอสซิลไปเป็นพลังงานทดแทน และเพิ่มสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานทดแทนเป็น 3 เท่า ภายในปี 2030 (ก่อนการประชุมประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอันดับต้นๆ อยากเห็นมติยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ถูกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมพลังงานขัดขวาง และประธาน COP28 ก็คือ UAE)

 

คำถามคือทำไมไม่หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ทั้งที่สามารถทำให้มีเสถียรภาพได้ แต่ยังจะสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซใหม่สร้างเทอร์มินอลก๊าซใหม่ ทั้งๆ ที่ปัจจุบันการไฟฟ้าติดหนี้อยู่แสนล้านเพราะราคาก๊าซที่ผันผวน

 

พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ประกอบไปด้วย พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ โดยพลังงานแสงอาทิตย์เติบโตมากที่สุด แค่ในปี 2023 ปีเดียว พลังงานแสงอาทิตย์สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าถ่านหินถึง 2 เท่า

ประเทศในสหภาพยุโรปถือครองพลังงานหมุนเวียนของโลกไว้กว่า 44% และคิดเป็น 17% ของปี 2023 ถือเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเติบโตของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมากที่สุดในโลก โดยในปี 2022 ประเทศที่มีสัดส่วนในการใช้พลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในโลก 5 ลำดับ ได้แก่ นอรเวย์ สวีเดน บราซิล นิวซีแลนด์ และเดนมาร์ก ตามลำดับ ในขณะที่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดของโลก ในปี 2023 ประกอบด้วย ชิลี อันดับหนึ่งอยู่ที่เกือบ 20% กรีซ อันดับสอง 19% ตามมาด้วยฮังการี 18% และเนเธอร์แลนด์ 17%

สำหรับประเทศไทย มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ 13.38 ถูกจัดให้อยู่ลำดับที่ 36 ของโลก และลำดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากเวียดนามที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ 26.75

อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 ((Thailand Power Development Plan : PDP 2024) ทางคณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศได้เห็นชอบแล้ว และเปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อเดือน มิ.ย. 2567 ภายใต้แผนพลังงานชาติได้กำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (RE) ไว้ไม่น้อยกว่า 50% หรือประมาณ 34,051 เมกะวัตต์ ไม่รวมกำลังผลิตที่มีข้อผูกพันแล้ว

แบ่งออกเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 23,612 เมกะวัตต์ พลังงานลม 5,345 เมกะวัตต์ ชีวมวล 1,046 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 936 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยนํ้า 2,681 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 12 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 300 เมกะวัตต์ พลังนํ้าขนาดเล็ก 99 เมกะวัตต์ และพลังความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์

ตามแผนดังกล่าวนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ณ สิ้นปี 2580 จะอยู่ที่กว่า 1 แสนเมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากแผน PDP เดิมอยู่ที่ 77,211 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอยู่ราว 18,833 เมกะวัตต์ ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์จะมีสัดส่วนสูงถึง 17% ตามร่างแผนดังกล่าวนี้จะช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อสิ้นปี 2580 ลงเหลือราว 60 ล้านตัน จากในปี 2566 ภาคการผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 37% หรือประมาณ 90 ล้านตันต่อปี

สัดส่วนดังกล่าวนี้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้ามากถึง 65% หรือราว 58 ล้านตัน การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วน 34% หรือประมาณ 30.8 ล้านตัน และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้นํ้ามันสำเร็จรูป มีสัดส่วน 1% หรือราว 0.8 ล้านตัน

วีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) ให้สัมภาษณ์กับ Posttoday เรื่องพลังงานหมุนเวียนของไทยไว้น่าสนใจว่า ไทยมีพื้นที่เกษตรอยู่ราว 150 ล้านไร่ มีพื้นที่ที่ระบบชลประทานเข้าถึงแค่ 30 ล้านไร่ หรือ 1 ใน 5 ที่เหลืออีก 120 ล้านไร่ ถ้าทําโซลาร์ 100,000 เมกะวัตต์ จะใช้พื้นที่เพียง 700,000 ไร่ และถ้าทำได้ก็เท่ากับสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณครึ่งหนึ่งของความต้องการพลังงานทั้งหมด และจะทำให้พลังงานหมุนเวียนทั้งระบบโตถึง 80 – 90%

“คำถามคือทำไมไม่หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ทั้งที่สามารถทำให้มีเสถียรภาพได้ แต่ยังจะสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซใหม่สร้างเทอร์มินอลก๊าซใหม่ ทั้งๆ ที่ปัจจุบันการไฟฟ้าติดหนี้อยู่แสนล้านเพราะราคาก๊าซที่ผันผวนขึ้นมาจากตลาดโลก ทําไมเรายังจะต้องไปพึ่งการนําเข้า ทั้งๆ ที่ถ้าใช้ไบโอแมส ไบโอก๊าซในประเทศได้ ใช้พลังงานจากลม-แดด แม้เราอาจจะต้องนำเข้าเครื่องจักรเข้ามา แต่มันก็แค่ครั้งเดียว แล้วหลังจากนั้นเราก็ใช้ไปได้ตลอด ทำให้เราก็ไม่ต้องพึ่งตลาดโลกมากนัก” วีระเดช ระบุเชิงตั้งคำถาม แต่ก็ดูจะมีคำตอบในใจถึงสาเหตุที่แท้จริง

อ้างอิง:
พ.ค. 08, 2567 . สัญญาณดี! ปี 2023 พลังงานหมุนเวียน โตพุ่ง 30% ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก . Springnews
ก.ย. 30, 2566 . เปิด 5 อันดับประเทศใช้พลังงานหมุนเวียนมากสุดของโลก ส่วนไทยรั้ง 36 . Matichon Online
มิ.ย. 08, 2567 . เปิดร่างพีดีพี เพิ่มพลังงานหมุนเวียน 3.4 หมื่น MW ชูแสงอาทิตย์สัดส่วน 70% . Thansettakij
ส.ค. 06, 2567 . RE100 “พลังงานหมุนเวียนไทย” สำเร็จได้ที่ความต่อเนื่องของ PDP . Posttoday

เครดิตภาพ: enelgreenpower

Related posts

เมืองทั่วโลกเร่งปรับตัว รับมือคลื่นความร้อนดันอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น

สรุป 10 ปัจจัยน้ำท่วมเชียงราย ไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำระดับชาติ

โลกป่วนภูมิอากาศเปลี่ยน คุมอุณหภูมิไม่อยู่ Flexitarian ช่วยกอบกู้โลก