ภาคเกษตรมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 1 ใน 3 ของทั่วโลก หากหันมาทำ “เกษตรฟื้นฟู” จะช่วยลดคาร์บอน และเป็นทางออกจากวิกฤตโลกร้อน
มีการคาดการณ์ว่าหากไม่เร่งฟื้นฟูที่ดินเพื่อการเกษตร ภายใน 50 ปีข้างหน้าอาจไม่มีที่ดินเหลือเพียงพอที่จะผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งโลก ซึ่งการเกษตรที่ทำให้ที่ดินเสื่อมโทรมก่อให้เกิดการสูญเสียความสามารถในการผลิตมากถึง 400,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และหากไม่หันมาพึ่งพาเกษตรธรรมชาตินอกจากจะเป็นการทำลายล้างที่ดินแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคตอีกด้วย
อย่างไรก็ดี สถานการณ์สภาพภูมิอากาศจนถึงขณะนี้อาจกล่าวได้ว่าเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิโลกให้อยู่ในระดับ 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีสได้ค่อนข้างแน่นอนแล้ว ฉะนั้นต่อไปนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตมนุษยชาติที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลล่าสุด ปี 2023 เป็นปีที่อุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาตั้งแต่ปี 1850 โดยอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2023 สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงปี 1850 -1900 อยู่ที่ 1.48 องศาเซลเซียส ช่วงปีดังกล่าวเป็นยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งมนุษย์เริ่มนำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้ และเริ่มปล่อยก๊าซก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เราจะช่วยหยุดวิกฤตนี้ได้อย่างไร
ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UN) ภาคเกษตรมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก หากมีการปฏิรูปการผลิตภาคเกษตรก็จะเป็นทางออกหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนลงได้
ในช่วงที่ผ่านมามีการพูดถึงระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) มาเป็นระยะ นั่นคือ ระบบการเกษตรที่เป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและฐานชีวภาพของดิน ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดระดับการทำลายระบบนิเวศ ปลอดจากการใช้สารเคมีที่ทำลายชีวิตทั้งปวงในการผลิตอาหาร
ผลได้ที่จะตามมาคือความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งด้านบนและด้านล่างของผิวดิน นอกจากนี้ยังเพิ่มความสามารถของดินในการกักเก็บน้ำ และกักเก็บคาร์บอนในระดับที่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดระดับคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ
ทำไมเราจะต้องให้ความสนใจ “เกษตรฟื้นฟู” ก็เพราะปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์มันเกินขีดจำกัดแล้ว
อุณหภูมิโลกที่สูงเกินขีดจำกัด กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ นั่นก็คือผลพวงจากภาวะโลกร้อนที่ร้อนจนกลายเป็นภาวะโลกเดือด (global boiling) ซึ่งได้สร้างความแปรปรวนขึ้นมากมาย ทั้งสภาพอากาศสุดขั้ว เกิดคลื่นความร้อน อากาศร้อนทุบสถิติ น้ำท่วมรุนแรงจากปริมาณฝนที่มากเกินไป พายุไซโคลน และเกิดภัยแล้งทั่วภูมิภาคของโลก ฯลฯ
แน่นอนว่าหากจะหยุดโลกร้อนในวันนี้ ต้องเริ่มนับหนึ่งการลดอุตสาหกรรมที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลและหันไปพึ่งพลังงานสะอาดให้ได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ในทันที แต่เป็นทราบกันดีว่าไม่มีรัฐบาลไหนจะยอมชะลอจีดีพีของประเทศตัวเองเพื่อเห็นแก่คนคนทั้งโลก (ยกเว้นความอยู่รอดของรัฐบาลตัวเอง)
เกษตรกรรมฟื้นฟูเป็นทางเลือกของการทำเกษตรที่พึ่งพาธรรมชาติ มุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงสุขภาพของดินที่ถูกใช้จนเสื่อมโทรมลงจากการใช้เครื่องจักรกลหนัก การใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงในการทำฟาร์มแบบเข้มข้นให้สามารถกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง
มีการคาดการณ์ว่าหากไม่เร่งฟื้นฟูที่ดินเพื่อการเกษตรกลับมา ภายใน 50 ปีข้างหน้าอาจไม่มีที่ดินเหลือเพียงพอที่จะผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งโลกได้ ซึ่งที่ดินที่เสื่อมโทรมลงทำให้สูญเสียความสามารถในการผลิตมากถึง 400,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และจะเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต
เกษตรฟื้นฟูสำคัญอย่างไร
ดิน หนึ่งช้อนชามีจุลินทรีย์มากถึง 6,000 ล้านตัว ดินยังเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด เช่น แมลงและเชื้อรา ดินที่มีสุขภาพดีช่วยสร้างระบบนิเวศอื่นๆ ผ่านกระบวนการทางธรรมชาติ ซึ่งเกษตรฟื้นฟูหรือเกษตรอินทรีย์เป็นวิธีการทำการเกษตรแบบไม่ไถพรวน หรือพรวนดินให้น้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยรักษาคาร์บอนไว้ในดิน เพิ่มการดูดซับน้ำ และทำให้เชื้อราที่สำคัญในในดินไม่ถูกรบกวน
การปลูกพืชหลายประเภทจะช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะที่การใช้มูลสัตว์และปุ๋ยหมักจะช่วยคืนสารอาหารให้กับดินโดยเฉพาะดินที่เสื่อมโทรมจากปุ๋ยเคมี ซึ่งหนึ่งในการฟื้นฟูดินก็คือ การเลี้ยงสัตว์ที่มีการเคลื่อนย้ายไปในแต่ละแปลง
ตามรายงานของ Regenerative Farming ในแอฟริกา ระบุว่า การทำเกษตรกรรมแบบปฏิรูปหรือเกษตรฟื้นฟูในแอฟริกาจะสร้างผลผลิตพืชเพิ่มขึ้น 13% ภายในปี 2040 และจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 40% ในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่า สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเกษตรลงได้และทำให้กลายเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไปในตัวอีกด้วย หรือพื้นที่เกษตรกรรมเหล่านี้สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เทียบเท่าระหว่าง 2.6 ถึง 13.6 กิกะตันต่อปี
ในสหภาพยุโรปมีประมาณการว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเกษตรอาจลดลง 6% ต่อปีภายในปี 2573 หากเกษตรกร 1 ใน 5 หันมาทำเกษตรกรรมอย่างชาญฉลาดด้านสภาพภูมิอากาศหรือการทำเกษตรฟื้นฟู ซึ่งจากรายงานในปี 2022 พบว่า หากสุขภาพของดินดีขึ้น 14% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั่วทั้งกลุ่ม 27 ประเทศ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นระหว่าง 1.9 ถึง 9.3 พันล้านยูโรต่อปี
เขาทำเกษตรฟื้นฟูกันที่ไหนบ้าง?
เครือข่ายเกษตรฟื้นฟูกำลังเติบโต โดย Regeneration International จัดทำรายชื่อเครือข่ายพันธมิตรทั่วเอเชีย ละตินอเมริกา สหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ในออสเตรเลีย นีลส์ โอลเซ่น เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำเกษตรกรฟื้นฟู เขาเป็นเกษตรกรรายแรกของโลกที่ได้รับเงินจากรัฐบาลเพื่อแยกคาร์บอนในดิน ระบบเกษตรของโอลเซ่นเป็นการปลูกพืชผสมและพืชตระกูลถั่ว รวมถึงหญ้าอยู่ในทุ่งเดียวกัน เพื่อเพิ่มสารอาหารในดิน เพิ่มผลผลิต และคาร์บอนในดิน
เกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายในบราซิล กำลังปลูกงา ฟักทอง และข้าวโพด ควบคู่ไปกับฝ้ายที่เป็นพืชหลัก และใช้ทางเลือกอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีอีกด้วย ผลผลิตฝ้ายของพวกเขาเพิ่มขึ้น 3 เท่าในพืชทั้งสองชนิดนับตั้งแต่เริ่มต้น ในขณะที่ผลผลิตของพืชอื่นๆ เพิ่มขึ้นมากถึง 7 เท่า
ตัวอย่างการทำฟาร์มแบบปฏิรูปอื่นๆได้แก่ เกษตรกรในแทนซาเนีย แอฟริกาตะวันออก มีการปลูกถั่ว กล้วย และข้าวโพด ควบคู่ไปกับพืชผลเชิงพาณิชย์ เช่น กระวาน เป็นต้น
ดังนั้นในขณะนี้ทั่วโลกมีการตื่นตัวในปฏิรูปการเกษตรกันอย่างจริงจัง ทั้งด้วยเหตุผลการรับมือภาวะโลกร้อน การพึ่งพาเกษตรธรรมชาติมากกว่าอุตสาหกรรมเกษตร การเกษตรที่สร้างความมั่นคงด้านอาหาร การเกษตรที่ช่วยปกป้องสุขภาพ ฯลฯ
ย้อนมาดูบ้านเรา คำถามก็คือแล้วรัฐบาลไทยมีการผลักดันการปฏิรูปภาคเกษตรจริงจังแค่ไหน โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เกิดระบบการเกษตรที่มีความยั่งยืน มีความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างครัวของโลกที่เป็นจริง ไม่ใช่ขายฝันเรื่อยไป
ภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
1. ภาคพลังงาน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 69.06 % หรือคิดเป็นปริมาณ 257,340.89 GgCO2eq มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมพลังงาน 40.05% การขนส่ง 29.16% อุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้าง 20.24% และอื่นๆ 6.56%
2. ภาคเกษตร ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 15.69% หรือคิดเป็นปริมาณ 58,486.02 GgCO2eq มาจากการเพาะปลูกพืชเกษตร 77.57% การทำปศุสัตว์ 22.43% การเผาไหม้ชีวมวลจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร 2.92% การใส่ปุ๋ยยูเรีย 2.86 %
3. ภาคกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10.77% หรือคิดเป็นปริมาณ 40,118.14 GgCO2eq มาจากอุตสาหกรรมอโลหะ 51.28% อุตสาหกรรมเคมี 33.17% และ อุตสาหกรรมที่ใช้สารทำลายชั้นโอโซนที่ 13.33%
4. ภาคของเสีย ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4.48% หรือคิดเป็นปริมาณ 16,703.68 GgCO2eq โดยในจำนวนนี้ มาจากกำจัดขยะมูลฝอย 52.53% การบำบัดน้ำเสีย 45.71% การกำจัดขยะด้วยการเผาในเตาเผา 1.08% และการบำบัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีทางชีวภาพเพียง 0.68%
*หมายเหตุ : GgCO2eq = กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียมเท่า
อ้างอิง:
• https://www.bangkokbiznews.com/world/1107688#google_vignette
• https://www.weforum.org/agenda/2022/10/what-is-regenerative-agriculture/
• เว็บไซต์กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม