‘เกษตรฟื้นฟู’ ตัวจริง Carbon Neutral กักเก็บคาร์บอนมากกว่าป่าปลูก

เกษตรกรรมฟื้นฟูมีมานานมากแล้วเพราะเป็นเกษตรตามธรรมชาติซึ่งตรงกันข้ามกับระบบเกษตรในปัจจุบันที่พึ่งพาสารเคมี หรือเป็นเกษตรอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นปริมาณมากกว่าความปลอดภัยของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

ความแตกต่างของเกษตรฟื้นฟูที่เด่นชัดก็คือ เป็นการทำเกษตรโดยไม่ไถพรวนหน้าดิน แต่จะพึ่งพาธรรมชาติในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและฐานชีวภาพของดิน ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการทำลายระบบนิเวศ และปลอดการใช้สารเคมี

ท่ามกลางสภาวะโลกร้อนที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไม่หยุดหย่อน การทำเกษตรฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) จึงจะเป็นทางออกและทางรอดของโลก เพราะภาคเกษตรก็มีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นเกษตรฟื้นฟูนอกจากจะเพิ่มความสามารถของดินในการกักเก็บน้ำแล้ว ยังดึงคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากักเก็บไว้ใต้ดินในปริมาณมากขึ้นด้วย

ดังนั้น เกษตรฟื้นฟูจึงจะเป็นทางออกแห่งอนาคตของเกษตรกรรมไทย  “เจน” – เจนนิเฟอร์ อินเนส เทเลอร์ กับ “นิค” – นิโคลัส อินเนส เทเลอร์ พ่อลูกเจ้าของ “Udon Organic Farm” แห่งเมืองอุดรธานี ครอบครัวซึ่งพิสูจน์เป็นแบบอย่างการทำเกษตรไม่ทำร้ายโลก แต่ยังช่วยกักเก็บคาร์บอนลดโลกร้อนได้จำนวนมหาศาล (1)

“นิค” เป็นชาวอังกฤษ เข้ามาทำงานในประเทศไทยและพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะที่ปรึกษาองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO เขาจบปริญญาตรีด้านการเกษตร และปริญญาโทด้านการประมง จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่มีฝันอยากทำอาชีพเกษตรไปด้วย จึงได้ชักชวนครอบครัวมาทำฟาร์ม ซึ่งในช่วงแรกก็ลงมือทำเกษตรแบบทั่ว ๆ ไปมาร่วม 20 ปี กระทั่งหันมาทำเกษตรฟื้นฟูจนเห็นผลและต่อยอดเป็นกิจการภายใต้ชื่อ Udon Organic Farm มาปีกว่า โดยเริ่มจากขายสินค้าทางออนไลน์

ฟาร์มที่เป็นที่ตั้งของบ้านพักอาศัยด้วยมีพื้นที่ 8 ไร่ และฟาร์มอีกพื้นที่มีขนาด 113 ไร่ โดย “เจน” บอกว่า ช่วง 20 ปีก่อนที่บ้านก็ทำเกษตรไถพรวน เพราะดินยิ่งร่วน อากาศเข้าง่าย ยิ่งดี เสมือนเป็นการลองผิดลองถูก ต่อมาคุณพ่อพยายามศึกษาว่า ทำไมข้าวถึงน้อยลงทุกปี “เราพบว่าเวลาไปไถพรวนเป็นการไปรบกวน ให้นึกถึงบ้านของสิ่งมีชีวิต แล้วเราไปตัดขาดไส้เดือนไปยุ่งกับบ้านของเขา ทำให้ผ่านไป 20 ปี ดินกลายเป็นทรายและก็แน่น พอเราหันมาทำเกษตรฟื้นฟูจะพบว่าดินแยกเป็นชั้น และนำความอุดมสมบูรณ์กลับมาได้เยอะมาก มีปลาในนาข้าว วิธีปลูกข้าวคือใช้ไม้ขุดหลุมหยอดเมล็ดข้าว แม้ปีแรกไม่ได้ผลดี ปีที่สองเริ่มดีขึ้น ปีที่ 3 เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ข้าวที่ได้ดีขึ้น เห็นกบเห็นเขียดกลับมา น้ำในนาใสขึ้น และต่อมาผลผลิตข้าวก็เพิ่มขึ้นทุกปี”

วิถีเกษตรตามธรรมชาติ ทำให้ Udon Organic Farm เรียนรู้ว่าในแต่ละปีสามารถเพิ่มจุลินทรีย์ลงไปในดินประมาณ 1% ซึ่ง “นิค” บอกว่าเขาเรียนรู้จากตัวอย่างฟาร์มในออสเตรเลีย จึงนำมาปรับใช้ จากเดิมทีดินในฟาร์ม (113 ไร่) ที่เขาซื้อมาสภาพไม่ดี แห้งแล้งและแข็งมาก แต่เมื่อผ่านไปประมาณ 10 ปี ดินก็ค่อย ๆ เริ่มดีขึ้น

“ถ้าเทียบกับมนุษย์ที่ปล่อยคาร์บอนเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ตันต่อคนต่อปี แต่ถ้าทำการเกษตรฟื้นฟูแค่ไร่เดียว คุณจะเป็น Carbon Neutral ทันที ถ้าคนหันมาทำเกษตรฟื้นฟูก็เท่ากับว่าจะกักเก็บคาร์บอนในดินได้มากขึ้น มากกว่าการปล่อยคาร์บอนต่อคนต่อปี ซึ่งจะเข้าใจง่ายกว่าการกระตุ้นให้คนคิดว่า ต้องหยุดทำการเกษตรแล้วไปปลูกป่าแทนการสะสมคาร์บอนในต้นไม้มันไม่แน่นอน ยิ่งปลูกเพื่อขายคาร์บอนเครดิต อีก 30 ปีบริษัทนั้นยังอยู่ไหม ถ้าปลูกแล้วอีก 20 ปีตัดทิ้งก็ไม่มีประโยชน์ หรือเราปลูกป่าแล้วมีบริษัทมาซื้อและตัดต้นไม้ คาร์บอนที่สะสมอยู่ในต้นไม้ก็หมดไป แต่ดีที่สุดต้องเก็บอยู่ในดิน มันอยู่นานกว่า และสามารถตรวจจากดาวเทียมได้ เป็นสิ่งที่เกษตรกรสามารถมีส่วนร่วมได้”

“นิค” ไม่ได้มุ่งสื่อสารไปในทางขัดขวางนโยบายการปลูกป่า เพียงแต่มั่นใจจากประสบการณ์ที่เขาลงมือทำ กระทั่งได้คำตอบว่า การทำเกษตรฟื้นฟูสามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนได้มาก แต่การเกษตรเปิดหน้าดินทำให้คาร์บอนใต้ดินขึ้นไปอยู่ในอากาศมาก ถ้าเทียบคาร์บอนที่อยู่ในพืชในต้นไม้ทั่วโลก และคาร์บอนอยู่ในดินเขาบอกว่า คาร์บอนอยู่ในดินมีมากกว่าถึง 3 เท่า

“ทุกคนคิดว่าจะต้องปลูกป่า การปลูกป่าจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่นั้นไม่ได้ จะไปปลูกที่ไหน ประชากรโลกมันเยอะ ถ้าไปปลูกป่า คนจะกินอะไร คนจะอยู่อย่างไร จึงต้องทำหลาย ๆ อย่าง ซึ่งการทำเกษตรฟื้นฟูต้องปลูกต้นไม้ด้วยถึงจะมีระบบนิเวศที่ดีอยู่ในฟาร์ม มีต้นไม้ใหญ่ มีไม้ดอกสำหรับแมลง ถ้าทำเกษตรแบบเดิม ดินทั่วโลกมันจะเสื่อมคุณภาพลง เราจะมีอาหารที่ไม่เพียงพอ ถ้าจะเอาพื้นที่ทำการเกษตรมาปลูกป่า จะแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง แต่ไปเกิดปัญหาอีกอย่างหนึ่ง การทำเกษตรฟื้นฟูจึงหมายถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของเราด้วย”

แน่นอน แนวทางเกษตรฟื้นฟูที่ “นิค” และครอบครัวกำลังทำไปด้วยดี แต่ก็ยอมรับว่า การวัดคาร์บอนในดินทำได้ยาก เพราะในดินมีคาร์บอนหลายประเภท และต้องนำไปวัดในห้องแล็บ  “คาร์บอนในดินมีมากกว่าอยู่ในต้นไม้ทั้งหมด และกักเก็บในดินดีกว่า เพราะไม่ได้ตอบโจทย์แค่เรื่องโลกร้อน แต่เป็นการฟื้นฟูความหลากหลายของระบบนิเวศกลับมาด้วย ถ้าเราจะมีอาหารไว้ให้ลูกหลานในอนาคต เราต้องเริ่มฟื้นฟูดิน”

การทำนาที่ใช้น้ำก็ปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก “นิค” อธิบายเรื่องนี้ว่า คาร์บอนที่ปล่อยมาจากใต้ดินเป็นคาร์บอนที่สะสมไว้ ไม่ใช่คาร์บอนใหม่ แต่ใต้ดินเป็นคาร์บอนรีไซเคิล ไม่เหมือนคาร์บอนที่ออกมาจากเครื่องบินหรือรถยนต์ “ครอบครัวเราเป็นหนึ่งที่ปล่อยคาร์บอนก็จริง แต่เราทำการเกษตรที่สะสมคาร์บอนมากกว่าการปล่อย ซึ่งตามเป้าหมายของ Udon Organic Farm ต้องการใช้ดินที่เหลือปลูกพืชให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มการสังเคราะห์แสง และช่วยกักเก็บคาร์บอนให้มากขึ้นด้วย”

ทั้งเจนและผู้เป็นพ่อยอมรับว่า การจะเปลี่ยนจากเกษตรเคมีไปเป็นเกษตรออร์แกนิกถึงแม้จะไม่ใช่ออร์แกนิก 100 เปอร์เซนต์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าคิดว่าลดการใช้สารเคมีลงเพื่อระบบนิเวศและเพื่อสุขภาพของเราอาจจะฟังเข้าใจง่ายขึ้น

“เราต้องค่อย ๆ ทำ การที่เกษตรกรกลุ่มหนึ่งจะเปลี่ยนวิถีเกษตรไม่ง่าย เพราะมีผลกระทบ แต่เราจะทำเหมือนเดิมอีก 20 ปี อีก 100 ปี ไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนและตัดสินใจว่าจะเปลี่ยน อย่างที่ Udon Organic Farm ไม่มีหลักสูตรตายตัวว่า ต้องทำหนึ่งสองสามสี่ห้าแล้วจะแก้ได้ เพราะแต่ละพื้นที่ต่างกัน เวิร์กสำหรับที่หนึ่ง แต่อีก 100 พื้นที่อาจไม่เวิร์ก” นิค ย้ำเหตุผลแนวทางและความสำคัญของเกษตรฟื้นฟูที่เขาทำ

“นิค” แนะนำวิธีการทำเกษตรฟื้นฟูในแบบฉบับของ Udon Organic Farm ว่า มี 5 หลักการด้วยกันคือ

  1. ปกคลุมหน้าดินเสมอ นั่นหมายถึงจะไม่มีการเปิดหน้าดิน การเปิดหน้าดินจะทำให้วัชพืชขึ้น
  2. ลดการรบกวนดิน หรือไม่ต้องขุด ไม่ต้องพรวน ไม่ต้องไถ
  3. ปลูกพืชให้หลากหลายชนิด ยกตัวอย่างแปลงหนึ่งปลูกคะน้า ปลูกผักสลัด อีกแปลงปลูกแรดิช อีกแปลงปลูกกะหล่ำ หรือสลับปลูกหลายชนิดก็ได้ (ใกล้แปลงผักยังมีการปลูกไม้ดอกไว้ด้วย)
  4. เลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม เมื่อไม่ใช้สารเคมีบำรุงดินก็จะต้องทำปุ๋ยหมักใช้เอง ซึ่งก็จะนำมูลวัวไปผสมกับไม้ไบ้ที่ร่วงอยู่ในฟาร์มตามธรรมชาติ ปุ๋ยหมักเหล่านี้จะนำไปปลูกพืชผักทุกแปลง
  5. เก็บรักษารากไว้ในดินเสมอ เพราะรากพืชที่อยู่ใต้ดินจะมีการสื่อสารด้วยเครือข่าย Mycorrhizal Network มีการส่งสัญญาณเตือนพืชใกล้เคียงด้วยกันว่ามีศัตรูพืชกำลังมา และมีการแลกเปลี่ยนสารอาหารกัน

นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมต้องปลูกพืชให้หลากหลายซึ่งก็คือวัฏจักรความหลากหลายของระบบนิเวศ

“เจน” บัณฑิตตรีโทสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering) บอกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีกระทบต่อการทำเกษตรของเธอและเกษตรกรอื่น ๆ มาก ยกตัวอย่างปี 2566 อุดรฯ ฝนตกมากจนถึงเดือนตุลาคม และเกิดน้ำท่วม อากาศแปรปรวน ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบไปทั่ว ทว่าในแง่ของแมลงที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน เธออธิบายว่า เมื่อดินเพาะปลูกดีจะช่วยให้ต้นไม้แข็งแรง ที่สำคัญต้องปลูกต้นไม้ที่หลากหลาย เช่น ไม้ดอก เพื่อสร้างระบนิเวศการพึ่งพาระหว่างกัน

“นิค” สรุปว่า หลักการเกษตรฟื้นฟูคือการนำ 3 อย่างกลับไปในดินคือ ออกซิเจน น้ำ และคาร์บอน พืชจะมีชีวิตต้องเอาคาร์บอนลงดิน ซึ่งจะเพิ่มความหลากหลายของพืชและสิ่งมีชีวิตให้อยู่ในฟาร์ม และการทำเกษตรออร์แกนิกนอกจากช่วยลดโลกร้อนยังทำให้สุขภาพของทุกคนดีขึ้นด้วย

อ้างอิง

  • นิโคลัส อินเนส เทเลอร์ และเจนนิเฟอร์ อินเนส เทเลอร์, เจ้าของ Udon Organic Farm, สัมภาษณ์, 13 มกราคม 2567 

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย

เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด