ต้นไม้คือเครื่องฟอกอากาศตามธรรมชาติของโลก ดังนั้นถ้าเราคิดว่าตัวเองก็มีหน้าที่ในการกอบกู้โลก การวางเป้าปลูกต้นไม้ “1 ล้านล้านต้น” ก็ไม่สายเกินไปในการหยุดวิกฤตโลกร้อน โดยเฉพาะคนกลุ่มหนึ่งเชื่อมั่นว่า ป่าจำนวนมหาศาลนี้จะช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 200 กิกะตัน หรือท่ากับการปล่อยมลพิษจากรถยนต์มากกว่า 43,000 ล้านคันต่อปี
นี่คือมิชชั่นหรือพันธกิจของ “แจด เดลีย์” ประธานและซีอีโอของ American Forests และเป็นผู้นำสาขาขององค์กร 1t.org ในสหรัฐอเมริกา
1t.org เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดตัวในการประชุมประจำปีของ World Economic Forum ในเมืองดาวอส ในเดือนมกราคม 2563 เพื่อส่งเสริมการปลูกป่า การฟื้นฟูป่า และการอนุรักษ์ป่าอย่างมีข้อมูลมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573เป้าหมายหลักที่จะไปให้ถึงให้ได้ของ 1t.org คือการระดมการเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกต้นไม้ 1 ล้านล้านต้นภายในปี 2573 ซึ่งเป็นคำกล่าวของ “แจด เดลีย์” ที่กล่าวในบทความล่าสุดในนิตยสาร Time
บทความที่ว่าชื่อ “Yes, We Can Grow 1 Trillion Trees to Help Fight Climate Change” (ใช่ เราสามารถปลูกต้นไม้ 1 ล้านล้านต้นเพื่อช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) โดยชี้ว่า ต้นไม้คือเครื่องฟอกอากาศตามธรรมชาติของโลกของเรา
เดลีย์บอกว่าต้นไม้คือ “อุปกรณ์” ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพียงเครื่องเดียวที่ช่วยให้เราดึงคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ “ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาป่าไม้ดักจับและจัดเก็บเกือบ 15% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเราทุกปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยมลพิษต่อปีจากรถยนต์ 163 ล้านคัน”
นั่นหมายความว่า การปลูกต้นไม้มีข้อดีมหาศาล แต่เดลีย์บอกว่า “น่าเศร้าที่เรากำลังสูญเสียต้นไม้ในขณะที่เราต้องการมากที่สุด ทุก ๆ 6 วินาที โลกของเราสูญเสียพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนขนาดเท่ากับสนามฟุตบอลจากการตัดไม้ทำลายป่า”
อย่าเข้าใจผิดว่า 1t.org เอาแต่ปลูกต้นไม้และคิดว่าต้นไม้คือยาครอบจักรวาล เพราะพวกเขาบอกว่า ปัญหาโลกร้อนแก้ไขด้วยการปลูกต้นไม้อย่างเดียวไม่ได้ แล้วทำไมพวกเขาจึงยังคิดว่าต้องปลูกต้นไม่ถึง 1 ล้านล้านต้นล่ะ?
1t.org บอกเหมือนในบทความของเดลีย์ว่า ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับแรกเราต้องกำจัดคาร์บอนอย่างรวดเร็วและอย่างมีนัยสำคัญในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
การลดคาร์บอนมีตัวจักรสำคัญคือ ระบบนิเวศของป่าไม้ที่มีสุขภาพดีสามารถมีส่วนร่วมอย่างมากในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะต้นไม้ที่โตเต็มที่หนึ่งต้นสามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) โดยเฉลี่ยได้ 0.62 เมตริกตันตลอดอายุของต้นไม้ต้นนั้น ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนจากการขับรถ 1 คันระยะทาง 2,400 กิโลเมต
ไม่ใช่แค่นั้นป่าไม้ยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพบนบกถึง 80% ของโลก และเป็นขุมทรัพย์แห่งนวัตกรรมและเป็นแหล่งการดำรงชีวิต ยารักษาโรค และความอยู่รอดของผู้คน 350 ล้านคน
แต่ถึงขนาดนี้แล้วป่าไม้ยังสูญสิ้นไปอย่างรวดเร็วเหมือนที่เดลีย์บอกไว้ ในเขตป่าฝนป่าถูกทำลายจากการตัดไม้ทำลายป่า แต่ในป่าพื้นที่ที่เย็นกว่ากำลังสูญเสียพื้นที่หลายล้านเอเคอร์เนื่องจากภัยแล้ง แมลงศัตรูพืช และไฟป่าที่เลวร้ายลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วก็ทำให้ป่าไม้สูญเสียกลไกในการทำความเย็น
นี่คือสาเหตุที่ต้องปลูกต้นไม้ 1 ล้านล้านต้น เพราะถึงมันจะไม่ใช่การแก้ปัญหาวิธีเดียวที่จะหยุดโลกร้อนได้ แต่เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดและง่ายที่สุดในเวลาที่เรายังลดการใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก
เดลีย์ตอบว่า “ทำไมต้องล้านล้าน? จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำสมัยซึ่งนำโดย Crowther Lab ได้ระบุพื้นที่ที่เหมาะสมต่อระบบนิเวศทั่วโลกมากพอที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ด้วยการปลูกป่า จากการประมาณการต้นไม้หนึ่งล้านล้านต้นสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 200 กิกะตันตลอดอายุขัยของมัน ซึ่งเท่ากับการปล่อยมลพิษต่อปีจากรถยนต์มากกว่า 43 พันล้านคัน”
เดลีย์เล่าว่า เมื่อประกาศเป้าหมายล้านล้านของพวกเขาเมื่อปีที่แล้ว ผู้ที่คลางแคลงใจบางคนมองว่า แผนการของพวกเขาไม่ตรงจุดหรือไม่สมเหตุสมผลกับความเป็นจริง แต่ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า การปลูกต้นไม้ล้านล้านต้นนั้นเป็นไปได้จริง
หนึ่งในความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมคือ ความพยายามในการอนุรักษ์ป่าฝนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนั่นคือ อุทยานแห่งชาติซาโลกาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จากตอนแรกที่ถูกขึ้นบัญชีใกล้สูญพันธุ์ ตอนนี้ถูกลบจากบัญชีความเสี่ยงนั้นแล้วซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามันเป็นไปได้
ความสำเร็จที่คองโกยังเป็นการตอบคำถามว่า 1t.org เน้นเฉพาะการปลูกต้นไม้ใหม่หรือไม่? คำตอบก็คือไม่ใช่และคำขวัญของพวกเขาก็คือ “อนุรักษ์ ฟื้นฟู ปลูกให้เติบโต” การเรียงลำดับแบบนี้ก็มีเหตุผลเบื้องหลังด้วย
เพราะรากฐานของการอนุรักษ์ป่าไม้คือการรักษาป่าไม้ที่มีอยู่ให้สมบูรณ์เป็นป่า ลำดับต่อไปคือการฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมเพื่อทำให้มันเป็นที่กักเก็บคาร์บอน ซึ่งสามารถทำได้โดยผ่านการฟื้นฟูด้วยความช่วยเหลือ (เช่น ผ่านการกำจัดอุปสรรคอาจยับยั้งการเติบโตของต้นไม้) และการฟื้นฟูตามธรรมชาติ (ปล่อยให้ป่าฟื้นฟูด้วยตนเอง)
ในระยะหลังพวกเขายังเน้นที่คำว่า “ปลูกให้เติบโต” (grow) แทนคำว่า “ปลูก” (plant) เฉยๆ การใช้คำว่า “grow” เพื่อเน้นว่า การเพาะกล้าไม้ลงดินเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้นไม้นั้นต้องได้รับการสนับสนุนให้เติบโตเต็มที่เพื่อให้มีศักยภาพสูงสุด ยังต้องเป็นพันธุ์ที่เหมาะสม และปลูกในสภาพที่เหมาะสม
เดลีย์บอกว่า “การปลูกต้นไม้หนึ่งล้านล้านต้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายขึ้นอยู่กับเราทุกคนที่ดำเนินการในประเทศ บริษัทของเรา ชุมชนของเราและในช่วงเวลาที่ง่ายที่จะถูกครอบงำโดยข่าวเกี่ยวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงของเราอย่างไม่หยุดยั้ง มันเป็นสิ่งที่เรามีอำนาจที่จะทำ—ทำตอนนี้เลย เหมือนที่นักอนุรักษ์ในตำนาน ดร.เจน กูดดอลล์ กล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนบนโลกนี้จะต้องทำหน้าที่ของตัวเอง”
ข้อมูลจาก
• Jad Daley, Marc Benioff. (August 27, 2021). “Yes, We Can Grow 1 Trillion Trees to Help Fight Climate Change”. Time.
ภาพ – Irwandi wancaleu – commons.wikimedia
หมายเหตุ 1,000 ล้านตัน เท่ากับ 1 กิกะตัน