อาหารเสริมจากสาหร่ายทะเล ลดก๊าซมีเทนจากการเรอของวัวลง 82%

วัวเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญโดยมาจากการ “เรอ” ของพวกมันที่มีก๊าซมีเทนจำนวนมหาศาล การศึกษาใหม่โดยละเอียดพบหลักฐานเพิ่มเติมว่าการให้อาหารเสริมประเภทสาหร่ายทะเลจะช่วยให้วัวลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงได้อย่างมากโดยไม่ส่งผลต่อสุขภาพหรือรสชาติของเนื้อสัตว์

ภาคเกษตรกรรมมีส่วนสร้างมลพิษรายใหญ่ที่สุดโดยเฉพาะจากภาคปศุสัตว์ที่ปลอ่ยก๊าซมีเทนมากถึง 37% ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกร้องให้ผู้คนลดการบริโภคปริมาณเนื้อแดง แต่อาจไม่ใช่ทางออกเดียว เพราะการเปลี่ยนอาหารให้วัวก็ช่วยได้เช่นกัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานักวิจัยจาก CSIRO และ University of California Davis (UCD) ได้แสดงให้เห็นว่าการใส่สาหร่ายลงไปในอาหารปกติของวัวสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงได้อย่างมาก

สำหรับการศึกษาใหม่ทีมงานได้ปรับขนาดการทดลองจากสองสัปดาห์เป็นห้าเดือน โดยให้อาหารวัวเนื้อที่ผสมสาหร่ายทะเล Asparagopsis taxiformis จำนวน 21 ตัวในปริมาณที่แตกต่างกัน สาหร่ายชนิดนี้เติบโต ในน่านน้ำเขตร้อนของออสเตรเลีย โดยการทำงานของมันจะไปขัดขวางเอนไซม์ในลำไส้ของสัตว์ที่ผลิตก๊าซมีเทน

นักวิจัยวัดระดับก๊าซมีเทนในลมหายใจของวัววันละ 4 ครั้ง โดยให้พวกมันกินอาหารจากอุปกรณ์พิเศษ การศึกษาพบว่าวัวที่กินสาหร่ายทะเลในปริมาณประมาณ 80 กรัม จะปล่อยก๊าซมีเทนออกมาน้อยกว่าวัวควบคุมถึง 82% ในขณะที่ยังคงมีน้ำหนักเท่าเดิม

ที่สำคัญประสิทธิภาพของการลดก๊าซมีเทนไม่ได้ลดลงในช่วงทดลองห้าเดือน และการทดสอบรสชาติพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสัตว์หรือนมที่มาจากสัตว์ที่ป้อนอาหารใหม่

“ตอนนี้เรามีหลักฐานที่ชัดเจนว่าสาหร่ายทะเลในอาหารเลี้ยงโคมีประสิทธิภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกและประสิทธิภาพไม่ได้ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป” Ermias Kebreab นักวิจัย กล่าวและว่า อุปสรรคที่ยากในตอนนี้ก็คือการจะเลี้ยงสาหร่ายทะเลชนิดนี้ในระดับที่ใหญ่ขึ้นและวิธีการที่จะให้อาหารเสริมแก่วัวเหล่านั้น

Related posts

‘เลียงผา’ นักสู้แห่งขุนเขา กับ 3 ปัจจัย สูญพันธุ์

‘ปลาหมอคางดำ’ ทำลายระบบนิเวศ ยื่นฟ้องศาลเอาผิดเสียหายหมื่นล้าน

งานวิจัยชี้ หมาพันธุ์เดียวกัน แต่นิสัยต่าง เพราะ อยู่ที่คนเลี้ยง