ขยะทางการแพทย์ทั่วโลก ล้นทะลักเป็นขยะปนเปื้อน หาทางรีไซเคิลชุดตรวจโควิด

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไม่ใช่แค่หายนะของมนุษยชาติ แต่ยังเป็นหายนะของธรรมชาติด้วย เพราะสร้างขยะมหาศาลโดยเฉพาะขยะ medical waste เช่น หน้ากากอนามัยและชุดตรวจโควิดที่กำลังทะลักล้นจากประเทศต่าง ๆ ในช่วงที่การตรวจเชื้อ

คำถามคือเป็นไปได้ไหมที่จะนำชุดตรวจหรือขยะเหล่านี้มารีไซเคิล? ตอบว่าเป็นไปได้ และเป็นไปได้ 2 แบบ แบบแรกคือการแยกขยะโดยผู้ใช้ก่อนเพื่อแยกส่วนที่รีไซเคิลได้กับส่วนที่ไม่ได้ แบบที่สองคือความพยายามหาวิธีรีไซเคิลให้ได้ทั้งหมดอย่างเป็นระบบ 

การรีไซเคิลชุดตรวจแบบแรก มีการสาธิตจาก Charlotte Dreizen (@CharDreizen) ผู้จัดการด้านความยั่งยืนของ AIANational โพสต์เทรดในทวิตเตอร์ถึงวิธีการรีไซเคิลชุดตรวจแบบเฉพาะหน้า เธอแนะนำว่า 1. กล่องกระดาษและแผ่นกระดาษสามารถรีไซเคิลได้ 2. ทิ้งซองใส่การ์ดทดสอบไป เพราะทำจากพลาสติกและโลหะผสมกันทำให้รีไซเคิลไม่ได้ 

ข้อ 3 ให้ทิ้งไม้สว็อบ (ใช้แยงจมูก) และกระดาษที่มาพร้อมกันรวมถึงซองพลาสติกที่ใส่มาลงในถังขยะ เพราะมีขนาดเล็กเกินกว่าจะนำไปรีไซเคิล และที่สำคัญยังมีเชื้อโรคปนเปื้อนหลังการใช้งาน และ 4. ให้ทิ้งหลอดพลาสติกและแถบทดสอบลงในถังขยะเพราะปนเปื้อนกับน้ำลายของมนุษย์แล้ว ทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถรีไซเคิลได้ 

ทั้งหมดนี้คือวิธีการรีไซเคิลแบบง่าย ๆ แม้ว่าจะรีไซเคิลได้นิดหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และคุณจะยิ่งรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่มีผลสะเทือนถ้ารู้ว่าโลกของเราต้องแบกรับขยะจากชุดตรวจมากมายมหาศาลแค่นั้น ดังนั้นไม่มีเรื่องเล็ก ๆ สำหรับการรีไซเคิล มีแต่ของที่เล็กเกินกว่าจะรีไซเคิลได้

การรีไซเคิลแบบที่ 2 คือการจัดการขยะเหล่านี้อย่างเป็นระบบให้มากกว่านี้ ซึ่งยากกว่า แต่ก็มีความพยายามนั้นเหมือนกัน เช่น กลุ่มอนุรักษ์ Mullum Cares ในออสเตรเลีย ซึ่งเผยว่าจะมีชุดทดสอบพลาสติกประมาณ 50 ล้านชุดถูกทิ้งลงในบ่อขยะของออสเตรเลียในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ดังนั้นพวกเขาจะต้องทำอะไรสักอย่าง

ถึงจะเป็นขยะพลาสติกและกระดาษ แต่เป็นวัสดุปนเปื้อนทางชีวภาพ (biohazard) ทำให้รีไซเคิลได้ลำบากขึ้นไปอีก วิธีการขั้นต้นที่ทางกลุ่มแนะนำคือก่อนที่จะพบวิธีรีไซเคิล (ซึ่งพวกเขากำลังหาทางอยู่) ครัวเรือนต่าง ๆ ควรมีที่เก็บขยะชุดตรวจแยกต่างหากเอาไว้ในบ้านก่อน 

ในขณะเดียวกันก็มีผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า ชุดตรวจรีไซเคิลแม้จะทำจากวัสดุที่รีไซเคิลได้ และควรจะทิ้งมันอย่างเป็นระบบมากกว่า แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีประเทศไหนที่ดำเนินการรีไซเคิลพวกมันเลย นอกจากจะทิ้งไปในฐานะขยะปนเปื้อน

แม้จะมีความเสี่ยงจากเชื้อปนเปื้อนและการไม่มีที่ไหนรับรีไซเคิล กลุ่ม Mullum Cares ก็ยังเดินหน้ารับชุดตรวจเหล่านั้นมาเก็บไว้เพื่อหาทางรีไซเคิลให้ได้ และล่าสุดกลุ่มนี้รวบรวมชุดทดสอบที่ใช้แล้วจำนวน 50 กก. นำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ และป้อนเข้าไปในเครื่องพิมพ์ 3 มิติขนาดใหญ่

พวกเขาจะรีไซเคิลพลาสติกจากชุดตรวจเพื่อสร้างประติมากรรมที่จะสร้างขึ้นในที่สาธารณะ (เป็นรูปหนู หรือ rat เพื่อล้อกับชื่อชุดตรวจ RAT หรือ Rapid Antigen Test) เพื่อเน้นย้ำถึงการณรงค์เพื่อรีไซเคิลชุดตรวจโควิดและปัญหาขยะมากมายมหาศาลที่เกิดขึ้น

ซาชา เมนส์บริดจ์ (Sasha Mainsbridge) ผู้ก่อตั้งกลุ่มบอกว่า “เราต้องการทำสิ่งนี้เป็นโครงการขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถทำได้ หากเราทำได้ ก็สามารถปรับใช้ระบบรีไซเคิลที่มีขนาดใหญ่กว่าได้อย่างแน่นอน”

ข้อมูลจาก

  • Hannah Ross. (28 Jan 2022). “Recycling rapid antigen tests could be complicated but Mullum Cares begins search for solutions”. ABC
  • Hayley Taylor. (11 Feb 2022). “A rat made of RATs: the COVID sculpture made from medical waste to boost recycling effort”. 7NEWS.

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย