เครื่องดื่มขวดพลาสติกรีไซเคิล
ปนเปื้อนสารเคมีเกินค่ามาตรฐาน
แนะปรับปรุงวิธีนำกลับมาใช้ใหม่

by IGreen Editor

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบรูเนลลอนดอนพบสารเคมี 150 ชนิดที่ชะล้างลงในเครื่องดื่มจากขวดพลาสติก โดย 18 รายการของสารเคมีนั้นอยู่ในระดับเกินมาตรฐาน พร้อมเตือนว่าจำเป็นต้องมีการรีไซเคิลขวดที่ได้คุณภาพขึ้นเพื่อช่วยขจัดสารเคมีที่อาจเป็นอันตราย

การวิจัยแสดงให้เห็นว่าเครื่องดื่มที่บรรจุขวดโดยใช้ Polyethylene Terephthalate (PET) ที่รีไซเคิล พบสารเคมีที่เรียกว่า Food Contact Chemicals (FCC) ที่มีความเข้มข้นสูงกว่าเครื่องดื่มบรรจุขวดโดยใช้ PET ที่ “บริสุทธิ์” ตัวใหม่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการรีไซเคิลอาจทำให้เครื่องดื่มบรรจุขวดบางชนิดปนเปื้อนได้ จึงมีการเรียกร้องให้มีวิธีการรีไซเคิลอย่างระมัดระวังมากขึ้นเพื่อกำจัดสารเคมีที่อาจเป็นอันตราย

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเรียกร้องให้ขวด PET มีการรีไซเคิลอย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 แต่อย่างไรก็ตาม PET ยังขึ้นชื่อว่าอาจปนเปื้อนสารเคมีได้ รวมทั้งสารก่อกวนต่อมไร้ท่อ ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ปัญหาหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็ง รวมถึงผลร้ายอื่น ๆ

ดร.อีเลนนี ลาโควิดู อาจารย์จากศูนย์วิจัยและนโยบายด้านมลพิษของมหาวิทยาลัยบรูเนล ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษากล่าวว่า สารเคมีจากแหล่งต่าง ๆ ที่ใช้ในระหว่างการผลิตและการย่อยสลายระหว่างการผลิต PET สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดวงจรชีวิตของขวด

ลาโควิดู เสนอให้มีการลงทุนในเทคโนโลยี Super-Cleaning ใหม่ ๆ จะทำให้มีโอกาสสูงสุดที่จะกำจัดการปนเปื้อน PET รีไซเคิลให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ PET บริสุทธิ์ แต่ทางออกที่ดีที่สุดของปัญหานี้คือให้สังคมเริ่มยุติการใช้ PET โดยสิ้นเชิง

“เราทุกคนมีหน้าที่ต้องแบกรับ เราต้องเริ่มคิดหาวิธีป้องกันการใช้ขวด PET ในครัวเรือนของเราด้วยการลงทุน เช่น เครื่องกรองน้ำ หรือภาชนะใส่น้ำขนาดใหญ่ และเรียนรู้วิธีกำจัดขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี” เธอกล่าว

นอกจากนี้ในรายงานที่ตีพิมพ์ใน Journal of Hazardous Materials ยังชี้ให้เห็นว่าผู้รีไซเคิลจำเป็นต้องปรับปรุงวิธีการรวบรวม และแปรรูปขวด PET ใหม่ และผู้ผลิตขวดควรให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อการรีไซเคิลให้ได้คุณภาพ

อ้างอิง:
Damien Gayle (Mar 18, 2022) “Recycled plastic bottles leach more chemicals into drinks, review finds” . Guardain
Tim Pilgrim (Mar 18, 2022) “Harmful chemicals found in bottled drinks prompts call for better recycling
Share this” . Brunel University London

Copyright @2021 – All Right Reserved.