เห็นด้วยหรือไม่รื้อรีสอร์ทดอยม่อนแจ่มชาวม้งยันอยู่มาก่อนมี พรบ.ป่าไม้ 2484แค่ศาลตัดสินว่าผิดพร้อมไปปลูกผัก

เกิดอะไรขึ้นที่ม่อนแจ่มทำไมชาวบ้านที่นั่นจึงออกมาคัดค้านการเข้ารื้อถอนรีสอร์ทบนดอย นายเอกรินทร์ นทีไพรวัลย์ แกนนำชาวบ้านดอยม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยผ่านรายการคุยตามข่าว สำนักข่าวไทย ว่า ดอยม่อนแจ่มมีพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ มีชาวบ้านอาศัยอยู่จำนวน 3,800 คน โดยอยู่อาศัยมาก่อนมี พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 และปัจจุบันเป็นลูกหลานรุ่นที่ 3 

นายเอกรินทร์ กล่าวว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจนนำสู่การดำเนินคดีกับชาวบ้านในพื้นที่สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ ได้นำแผนที่ที่จัดทำโดยมูลนิธิโครงการหลวง เมื่อปี 2546 ซึ่งเป็นแผนที่ใช้สำหรับการขอ GAP ซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาใช้ดำเนินคดีกับชาวบ้านในปี 2552 

ขณะนั้นทางป่าไม้สำนัก 1 ได้งบมาขึ้นรูปแปลงที่ม่อนแจ่ม และนำแผนที่โครงการหลวงมาดำเนินคดีและจับกุมชาวบ้าน โดยที่ไม่ได้มารังวัด “ผมจึงให้มาชี้ว่ามีชาวบ้านคนไหน มีผู้ใหญ่บ้านคนไหนไปชี้แนวให้เจ้าหน้าที่รังวัดบ้างและใช้เครื่องมืออะไรมารังวัด นายช่างที่มารังวัดชื่ออะไร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ตอบไม่ได้แม้แต่คนเดียว ปัญหามันอยู่ตรงนี้แหละครับ”

ล่าสุดนายเอกรินทร์ กล่าวว่า มีหนังเวียนจากป่าไม้สำนัก 1 มาถึง 5 ม่อนบนดอยม่อนแจ่ม แจ้งว่าจะเข้ามารื้อรีสอร์ทและเต็นท์ในม่อนแจ่มระหว่างวันที่ 29 ถึง 30 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นของชาวบ้านเผ่าม้งในพื้นที่ ยืนยันไม่มีนอมินีจากนอกพื้นที่ 

ที่นี่ชาวบ้านหันทำธุรกิจท่องเที่ยวในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิกจำนวน 106 คนซึ่งเป็นชาติพันธุ์ม้ง เป็นลูกหลานรุ่นที่สามจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเมืองจีน ทำการเกษตรส่วนหนึ่งประกอบธุรกิจท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเป็นเต็นท์ที่พับเก็บได้เมื่อถึงเทศกาลก็นำมากางหลังเทศกาลก็จะถอดออก 

“วิสาหกิจนี้จัดตั้งขึ้นโดยโครงการหลวงที่ให้พวกเราไปจดทะเบียนเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม ผมกล้าเอาศีรษะของกลุ่มม้งที่ม่อนแจ่ม 3,800 ศรีษะเป็นประกันว่าไม่มีนอมินีไม่มีคนพื้นเมืองจากที่อื่น มีแต่คนดั้งเดิมเผ่าม้งเท่านั้น ถ้าจะใช้คำว่าบุกรุกก็ต้อง 100 กว่าปีที่แล้ว 

“พวกผมทำตามมติ ครม.11 พ.ค. ปี 2542 แต่เจ้าหน้าที่ไม่เคยมารังวัดปักหมุด ได้เรียกร้องมาตลอดว่าให้มารังวัดที่ดินให้กับชาวบ้าน ส่วนที่รื้อไปแล้ว 5 ที่ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าเป็นนอมินีหรือคนนอก และมีกลุ่มชาติพันธ์ม้งหนึ่งคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งไม่มีใครไปปกป้อง”

นายเอกรินทร์ อธิบายอีกว่า พื้นที่ม่อนแจ่มบริเวณนี้ไม่ใช่ของโครงการหลวงเพราะโครงการหลวงมีพื้นที่ 105 ไร่ซึ่งไม่ใช่ตรงนี้ แต่โครงการหลวงเข้ามาส่งเสริมการปลูกผัก และต่อมาเมื่อการทำการเกษตรมีปัญหาโคงการหลวงก็ส่งเสริมให้ทำเรื่องท่องเที่ยว 

“พื้นที่ตรงนี้ตามมติ ครม.บัญญัติไว้ให้ประกอบอาชีพจากพื้นที่ทั้งหมด 2,500 ไร่มีประชาชนอาศัยอยู่ 3,800 คน ถือครองไม่ถึงสองงาน เจ้าหน้าที่จะให้ปลูกผักอย่างเดียวมันเป็นไปไม่ได้ ตามธรรมชาติของมนุษย์ต้องการพัฒนาตัวเองคนม้งก็เหมือนกันอยากพัฒนาตัวเอง เมื่ออาชีพเกษตรกรรมอยู่ไม่ได้ก็ต้องทำสองงานและเมื่อโลกมันเปลี่ยนโครงการหลวงมาส่งเสริมการท่องเที่ยวที่นี่ พวกเราก็เปลี่ยนตามเพื่อให้มีโอกาส นี่คือข้อเท็จจริงที่นี่”

ขณะเดียวกัน “พวกผมเรียกร้องตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ซึ่งรอเจ้าหน้าที่มารังวัดปักหมุดตั้งแต่ปี 2542 ล่วงเลยมาจนถึงบัดนี้แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดมาดำเนินการตามมติ ครม. ดังกล่าวจึงเกิดข้อพิพาททั้งที่พวกเราพิสูจน์ได้ว่าอยู่ตรงนี้มาก่อนจะมี พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ซึ่งพิสูจน์จากภาพถ่ายทางอากาศได้

“พวกเรายินดีเสมอและพร้อมที่จะพิสูจน์ตลอดเวลา แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยเรียกพวกเรามาทำตามสิ่งที่พวกเราเรียกร้อง ผมเป็นพลเมืองบ้านเมืองนี้ผมเคารพกฎหมาย ถ้าศาลตัดสินว่าผิดผมยินดีทำตามกฎหมาย เพราะทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน 

“ชาวมอนแจ่มเปิดให้เจ้าหน้าที่มาจับทุกรายแล้วขึ้นสู่ศาล ถ้าศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งใดๆ มาให้มีการรื้อถอนเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ต้องรื้อถอน วิสาหกิจตรงนี้รื้อถอนด้วยตัวเอง ผมเอาหัวเป็นประกัน เราจัดการตัวเองได้ แต่ท่านแค่สงสัยว่าพวกเราทำปิดแล้วจับขึ้นสู่ศาล ศาลยังไม่นัดไต่สวน 

“พวกเราจึงไปร้องศาลปกครองเอาไว้ ศาลปกครองสูงสุดก็ยังไม่มีคำสั่ง แต่ท่านมาใช้คำสั่งทางปกครองซึ่งนักกฎหมายมหาชนบอกว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย มากระทำย่ำยีกันอย่างนี้เป็นใครก็คงไม่ยอม ถ้าไม่ฟังกรรมการไม่ฟังศาลประเทศไทยจะอยู่ได้อย่างไร ลุแก่อำนาจแบบนี้อยู่ด้วยกันไม่ได้หรอกครับ

“ถ้าศาลตัดสินว่าผิดและให้กลับไปทำการเกษตรพวกผมก็ยินดีอย่างยิ่ง สามารถปรับเปลี่ยนไปทำอะไรซักอย่างให้พอเลี้ยงครอบครัวได้ ขอแค่ให้มีคำสั่งพิพากษาออกมา

“ผมขอฝากถึง ผอ.ป่าไม้สำนัก 1 ที่ดูแลพื้นที่ ผมเชื่อว่าความจริงไม่ตายไปจากนี้และยังคงอยู่ที่นี่ ผมหวังว่าท่านจะแสวงหาความจริงและผมอยากจะกราบเรียนถึงท่านรัฐมนตรี ผมฝากว่าอย่าฟังความข้างเดียว ขึ้นมาดูที่นี่ด้วยตัวท่านเองรับฟังข้อมูลอีกด้านจากพวกผม 

“ขอความเมตตาจากท่านได้ทำความจริงให้ปรากฏที่ม่อนแจ่มหรือหาทางออกบนโต๊ะเจรจาร่วมกันผมยินดีไปทุกที่และหาทางออกร่วมกัน จะลดจะเพิ่ม จะอยู่อย่างไรขอให้ม่อนแจ่มยังคงอยู่เพื่อเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงกลุ่มชาติพันธุ์ที่นี่ผมก็พอใจนายเอกรินทร์กล่าว

ด้านนายมนตรี ปลูกปัญญา ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบที่พักบนดอยม่อนแจ่มทั้ง 122 แห่ง มี 36 แห่ง ที่พบข้อมูลหลักฐานชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนมือถ่ายโอนไปให้กับนายทุนเข้ามาประกอบกิจการแทน รวมทั้งมีการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ 

ทั้งนี้ มีความผิดตามมาตรา 25 (23) ของพระราชบัญญัติป่าไม้ ซึ่งในวันนี้ทางเจ้าหน้าที่จึงมาดำเนินการรื้อถอน โดยก่อนหน้านี้ได้มีการแจ้งเตือน และเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์ชี้แจงไปแล้ว

อ้างอิง: 

  • นายเอกรินทร์ นทีไพรวัลย์ แกนนำชาวบ้านดอยม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์รายการคุยตามข่าว สำนักข่าวไทยช่อง MCOT เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2565
  • https://www.nationtv.tv/news/region/378884797

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย