หนึ่งในความยิ่งใหญ่สุดของโลก ฮีโร่แห่งอินเดียชุบชีวิตแม่น้ำที่ตายแล้ว กลับมาชุ่มฉ่ำได้อีกครั้ง

แม่น้ำอรรวาริ (Arvari ) มีต้นกำเนิดในเทือกเขาอรรวัลลิ เป็นแม่น้ำสายเล็กที่ไหลผ่านเขตอัลวารของรัฐราชสถานทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย และเป็นแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ที่มันไหลผ่าน

มันเหือดแห้งไปนานถึง 60 ปี นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 แม่น้ำอรรวาริเสื่อมโทรมลงเหลือเพียงสถานะเป็นแอ่งน้ำช่วงฤดูมรสุม มีเพียงกระแสน้ำโคลนที่ไหลแรงและสั้น ๆ บางช่วง ตอดลเวลาส่วนใหญ่มันคือพื้นดินที่แห้งแล้ง

เรียกได้ว่าแม่น้ำอรรวาริเหมือนแม่น้ำที่ตายไปแล้ว มีสภาพเหมือนกับแม่น้ำสำคัญบางสายของอินเดีย เช่น แม่น้ำเนรัญชลาที่กลายเป็นผืนทรายสุดลูกหูลูกตาช่วงหน้าแล้ง และมีน้ำเหลือเป็นช่วง ๆ ในฤดูมรสุม

อินเดียกำลังเจอเกับวิกฤตแหล่งน้ำเข้าอย่างจังแล้ว แต่เหมือนฟ้าส่ง ราเชนทระ ซิงห์ (Rajendra Singh) มาเกิดเพื่อช่วยกู้สถานการณ์ในอินเดียและที่แม่น้ำอรรวาริ ราเชนทระ ซิงห์คนนี้เป็นนักสิ่งแวดล้อมที่มีฉายาว่า “มนุษย์น้ำแห่งอินเดีย” (The water man of India)

ซิงห์ ตั้งองค์กรที่ชื่อ ตารุน ภารัต สังฆ์ (TBS) ซึ่งระดมพลังชุมชนมาช่วยกันแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและสนับสนุนการฟื้นฟูระบบการจัดการน้ำแบบดั้งเดิม ด้วยวิธีการที่เรียก ว่า “โชฮัด” (Johad) หรือการสร้าง “ตระพัง” กักน้ำ หรือเขื่อนดินนั่นเอง

ในปี 1986 ซิงห์กับองค์กรของเขาเริ่มสร้างอ่างเก็บน้ำโบราณ ด้วยการถมดินสร้างทำนบเป็นรูปทรงพระจันทร์เสี้ยวขวางทางน้ำเอาไว้ถือเป็นวิธีการสร้างสระกักน้ำแบบดั้งเดิมในพื้นที่แถบนั้นอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครเคยทดลองกั้นแม่น้ำด้วยวิธีนี้ วิธีการเดิมคือสร้างสระใหญ่ขึ้นมาเพื่อดึงน้ำฝนก่อน แล้วต่อทางน้ำกระจายน้ำไปสระเล็ก ๆ อื่น ๆ ต่อไป

วิธีนี้จะช่วยชะลอการระเหยและหายไปของยน้ำธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นรวดเร็วในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียที่เป็นพื้นที่แห้งแล้งมากและใกล้กับทะเลทราย

หลังจากที่พวกเขาสร้างเขื่อนดินนี้เองทำให้พบว่ากระแสน้ำในแม่น้ำอรรวาริที่เคยไหลแรงและหายไปอย่างรวดเร็วเริ่มที่จะไหลช้าลงและมากักรวมกันจนระเหยช้าลงเรื่อย ๆ

กระทั่งถึงปี 1990 แม่น้ำเริ่มที่จะไหลยาวนานถึงจนถึงเดือนตุลาคม พวกเขาจึงสร้างเขื่อนกักน้ำขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ จนถึงปี 1991 แม่น้ำก็ไหลนานขึ้นจนถึงเดือนมกราคม

ในปี 1992 แม่น้ำไหลจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พวกเขาก็เดินหน้าสร้างอีก ในปี 1993 มันไหลถึงเดือนมีนาคม ในปี 1994 ถึงเดือนเมษายน จนกระทั่งปี 1995 มันก็ไหลตลอดทั้งปี

พวกเขาใช้เวลาเพียงแค่ 9 ปีเท่านั้นในการชุบชีวิตแม่น้ำที่ตายมานานถึง 60 ปีให้กลับมาไหลได้อีกครั้ง รวมแล้วพวกเขาสร้างทำนบหรือเขื่อนดินไปทั้งสิ้น 375 แห่ง

นอกจากจะมีน้ำกินน้ำใช้ถาวรอีกครั้ง มันยังช่วยลดการกัดเซาะของหน้าดินแถบลุ่มแม่น้ำที่เคยหายไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการไหลเร็วของน้ำและจากการไร้พืชพันธุ์เพราะความแห้งแล้ง

เหนือสิ่งอื่นใดคือการจัดการหลังจากนั้น การสร้างแม่น้ำใหม่อาจใช้เวลานาน แต่สิ่งที่นานกว่าคือทำให้มันยั่งยืน องค์กรของซิงห์มีเป้าหมายนี้โดยเฉพาะ นั่นคือสร้างพลังให้กับชุมชนเพื่อรักษาแหล่งน้ำ

หมู่บ้าน 70 แห่งร่วมกันสร้าง “รัฐสภา” คือ Arvari Sansad ที่มาประชุมปีละ 2 ครั้งเพื่อร่วมกันดูแหล่งน้ำ และหลังจากนั้นพวกเขายังสามารถสร้างแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นได้อีกถึง 9,000 แห่ง

นับตั้งแต่นั้นมายังมีแม่น้ำในแถบนั้นอีก 4 แห่งที่เดี๋ยวแห้งเดี๋ยวไหล กลับมาเป็นแม่น้ำถาวรอีกครั้งหนึ่ง ด้วยความพยายามของประชาชนในท้องที่และองค์กร TBS

ส่วนองค์กร TBS ของซิงห์รวมแล้วสามารถฟื้นฟูแม่น้ำ 11 แห่งในรัฐราชสถาน และได้สร้างเขื่อนดินถึงประมาณ 11,800 แห่งเลยทีเดียว

แต่เฉพาะโครงการฟื้นแม่น้ำอรรวาริถือเป็นหนึ่งในโครงการชุบชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก และมันยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จากการสร้างเครือข่ายที่อิงกับอำนาจการตัดสินใจและผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชนต่าง ๆ

จากความโดดเด่นในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำทำให้ ราเชนทระ ซิงห์ ได้รับรางวัล Stockholm Water Prize จากสถาบันน้ำนานาชาติสตอกโฮล์ม (Stockholm International Water Institute) ในปี 2015 ด้วยเหตุผลว่าเขามีความสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จากนั้นในเดือนกันยายน ซิงห์เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ตามด้วยเยอรมนีและโมร็อกโก เขากล่าวว่า ความจำเป็นสำหรับโครงการนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะน้ำได้ผลักดันให้เกิดความขัดแย้งทั่วโลกและจะนำไปสู่ ​​”สงครามโลกครั้งที่ 3″ ที่มาจากปัญหาน้ำ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีต่ำหรือเขื่อนดินกักเก็บน้ำได้กลายเป็นแนวทางสำหรับแก้ปัญหาวิกฤตน้ำทั่วโลก

อ้างอิง:
• Wikipedia contributors. “Tarun Bharat Sangh.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 15 Dec. 2021. Web. 10 Feb. 2022.
• Wikipedia contributors. “Rajendra Singh.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 20 Jan. 2022. Web. 10 Feb. 2022.
• Roger Harrabin (Mar 21, 2015) “Water man of India’ Rajendra Singh bags top prize” . BBC
• Karl Mathiesen (Aug 25, 2015) “Rajendra Singh: Clean flowing rivers must be a human right” . The Guardian

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่