1 ปีมีครั้ง ‘ดอกบัวผุด’ บานที่ป่าจะนะ เปิดเข้าชมวันละ 2 รอบ

“ดอกบัวผุด” บานที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเหรง บ้านควนยาง ต.นาหว้า อ.จะนะ จ.สงขลา ทางเขตห้ามล่าฯ จึงเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวเข้าชมความงาม “ดอกบัวผุด” ได้ตั้งแต่วันที่ 8 – 11 ก.พ. 2565 นี้เท่านั้น วันละ 2 รอบ เวลา 09.30 น. และ 13.30 น. ระยะทางเดินขึ้นเขาไปกลับประมาณ 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

ผู้ที่สนใจชมดอกไม้ที่สวยและลึกลับ 1 ปีมีครั้ง และบานให้ชมแค่ 1 อาทิตย์ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เพจ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเหรงครับ https://www.facebook.com/Khaoreng/

สำหรับดอกบัวผุด (Rafflesia kerrii) เป็นพืชอยู่ในวงศ์ Rafflesiaceae สีม่วงแดง มีขนาดเฉลี่ย 50 – 80 เซนติเมตร น้ำหนัก 6 – 8 กิโลกรัม เป็นดอกที่แยกเพศผู้และเพศเมียที่แยกออกจากกัน ดอกบานมีลักษณะเด่นที่กลีบดอก, กำบังดอก จานดอก และหนาม จะบานเต็มที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 

บัวผุดเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ที่แปลกมาก เพราะไม่มีลำต้น ใบ และราก เป็นพืชเฉพาะถิ่นที่พบการกระจายพันธุ์เฉพาะในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย เช่น ที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี ทางจังหวัดจึงนำมาเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด ถือเป็นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

บัวผุดที่พบในประเทศไทยได้รับการตั้งชื่อเป็นสปีชีส์ของโลกเมื่อ 2527 โดย วิลเลิม เมเยอร์ (Willem Meijer) นักพฤกษศาสตร์ชาวดัตช์จากมหาวิทยาลัยเคนทักกี สหรัฐอเมริกา ตั้งชื่อพฤกษศาสตร์สากลเพื่อเป็นเกียรติแก่ อาร์เธอร์ ฟรานซิส จอร์จ เคอร์ (Arthur Francis George Kerr) นายแพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวไอริช ผู้สำรวจพันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2472 ที่ จ.กระบี่

ธรรมชาติของบัวผุดจะบานเพียง 5 – 7 วัน และจะเหี่ยวเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ และเน่าเปื่อย ดอกที่บานแล้วจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ภายนอกสุดเรียกว่า กลีบดอก มีลักษณะอวบน้ำเป็นสีแดงคล้ำจำนวน 5 กลีบ ถัดมาคือกำบังดอกสีแดง เป็นส่วนที่ล้อมรอบใจกลางดอก และส่วนสุดท้ายคือ จานกลางดอกและหนาม มีแผ่นแบนคล้ายจานสีแดงสด มีปุ่มคล้ายหนามขึ้นอยู่ตรงกลาง 

หนามทำหน้าที่กระจายความร้อนและส่งกลิ่นเหม็นออกมา โดยมีกำบังดอกช่วยทำให้กลิ่นเหม็นเน่าภายใน ไม่ฟุ้งกระจายไปไกล เพื่อล่อแมลงชนิดต่าง ๆ 

นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า การแพร่พันธุ์ของดอกบัวผุดน่าจะต้องอาศัยปัจจัยหลายประการคือ ดอกตัวผู้ ตัวเมีย ต้องอาศัยอยู่ใกล้กัน และบานพร้อมกัน เพื่อทำให้แมลงวันที่จะพาละอองเรณูของดอกเกสรตัวผู้ไปหาดอกเกสรตัวเมียมีโอกาสสูงขึ้น ก่อนจะเหี่ยวเฉาไปภายในไม่ถึงอาทิตย์

หลังจากนั้นสัตว์ขนาดเล็ก อาทิ กระแต ต้องมากินผลบัวผุดที่แก่จัด และเมล็ดของบัวผุดอาจจะติดเล็บของมัน และกระแตต้องไปตะกุยบนผิวลำต้นของเถาวัลย์วงศ์องุ่น จนเมล็ดบัวผุดฝังเข้าไปในท่อน้ำเลี้ยงได้ จึงเกิดการเจริญงอกงามของดอกบัวผุดจนกลายเป็นปรสิต

บัวผุดจึงเป็นพืชเปราะบางเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก เพราะกระจายพันธุ์ได้ยาก และต้องอาศัยเป็นกาฝากของอยู่ในป่าดิบชื้นเท่านั้น มิหนำซ้ำ ชาวบ้านนิยมนำดอกตูมมาต้มน้ำดื่ม ด้วยความเชื่อว่า ช่วยทำให้หญิงมีครรภ์คลอดง่าย มดลูกเข้าอู่เร็ว

ในความงดงามและความลึกลับของดอกไม้ชนิดนี้ เบื้องหลังคือเป็นพืชเบียน (Parasitic Plant) ปรสิต หรือกาฝากนั่นเอง

อ้างอิง: 

https://www.facebook.com/Khaoreng/

https://readthecloud.co/meijer/

chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/viewer.html?pdfurl=https%3A%2F%2Fwww.thaiscience.info%2FJournals%2FArticle%2FTJOF%2F10470703.pdf&clen=3310798&chunk=true

เครดิตภาพ: เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเหรง

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด