การประปาภูมิภาคตั้งเป้าปี 65เร่งลดน้ำสูญเสีย ขยายพื้นที่บริการให้ทั่วถึง

ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคตั้งเป้าเร่งดำเนินการลดน้ำสูญเสียในระบบจำหน่ายอย่างเร่งด่วน เพื่อลดการสูญเสียรายได้จำนวนมาก โดยมุ่งเน้นไปที่พื้นที่ กปภ.สาขาที่มีปริมาณน้ำสูญเสียสูง พร้อมขับเคลื่อนการทำงานเพื่อให้คนไทยมีน้ำประปาสะอาดใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยจะเร่งขยายพื้นที่การให้บริการให้ต่อเนื่อง

สมบูรณ์ สุนันทพงศ์ศักดิ์ ผู้ว่าการ กปภ.

นายสมบูรณ์ สุนันทพงศ์ศักดิ์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผยว่า ปี 2565 ตั้งใจและมุ่งมั่นพัฒนาประปาไทยด้วยนโยบาย FORWARDS : ขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า โดย กปภ. ได้นำแนวทางการจัดการองค์กรสาธารณูปโภคด้านน้ำให้มีประสิทธิผล (Effective Utility Management :EUM) มาเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการองค์กร รวมทั้งนำหลักการจัดการน้ำสะอาด (Water Safety Plan : WSP) ตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) มาใช้ในการบริหารจัดการคุณภาพน้ำให้สะอาดปลอดภัยและได้มาตรฐาน

ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับกระบวนการติดตามและตรวจสอบการผลิตน้ำประปา และนำมาตรฐานขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO) มาประยุกต์ใช้ใน กปภ.คือ มาตรฐาน ISO 24510 และ 24512 ซึ่งเป็นมาตรฐานน้ำดื่มทั้งในเชิงคุณภาพและความต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรฐาน ISO 24528 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำสูญเสียในระบบจำหน่าย

ทั้งนี้แม้ว่าการผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพดีเพียงใด แต่หากยังมีน้ำสูญเสียสูงก็จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการน้ำประปา การบริหารจัดการน้ำสูญเสียจึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ กปภ. ให้ความสำคัญและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เปรียบได้กับคำว่า “จับปลาใหญ่” คือ จัดการควบคุมและแก้ไขสิ่งที่ทำให้ กปภ. สูญเสียรายได้จำนวนมาก โดยมุ่งเน้นพื้นที่หรือ กปภ.สาขาที่มีปริมาณน้ำสูญเสียสูง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 การจัดการน้ำสูญเสียเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีปริมาณน้ำสูญเสียอยู่ที่ 603 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากปี 2563 คือ 607 ล้าน ลบ.ม. ทำให้สามารถรักษาทรัพยากรน้ำและลดต้นทุนการดำเนินงานไปได้กว่า 4 ล้าน ลบ.ม. ขณะเดียวกันปัจจุบัน กปภ.มีสาขาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานศูนย์ราชการสะดวกหรือ GECC รวม 208 สาขา ในปี 2565 ตั้งเป้าหมายให้ กปภ.ทุกสาขาได้รับการรับรองมาตรฐาน GECC ควบคู่กับการพัฒนาบริการผ่านช่องทางดิจิทัลบนสมาร์ทโฟนซึ่งเปรียบเสมือน กปภ.สาขาที่ 235 ให้สามารถตอบสนองพฤติกรรมลูกค้าในยุคดิจิทัล

ก้าวต่อไปของ กปภ.จะมุ่งมั่นขับเคลื่อนการทำงานเพื่อยกระดับการบริหารจัดการน้ำประปาของ กปภ. ไปสู่องค์กรประปามืออาชีพที่ได้มาตรฐานสากล โดยมีเป้าหมายคือ ประชาชนไทยมีน้ำประปาสะอาดใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยจะเร่งขยายพื้นที่การให้บริการน้ำประปา เช่น การขับเคลื่อนโครงการในปี 2564 และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันกว่า 62 โครงการทั่วประเทศ โดยเฉพาะภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่ ตลอดจนแผนการลงทุนในอนาคตที่จะยกระดับประปาไทยให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ กปภ. ได้แถลงผลการดำเนินงาน กปภ.ในรอบปี 2564 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ว่า ในภาพรวมปี 2564 ที่ผ่านมา กปภ.ได้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID – 19 ด้วยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานให้แก่ประชาชน ได้แก่ 1) การลดค่าน้ำประปา 10% ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ได้มากถึง 4.66 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงินกว่า 850 ล้านบาท

2) การลดค่าครองชีพช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – กันยายน 2564 ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนผ่านมาตรการนี้ไปแล้วกว่า 83 ล้านบาท 3) การติดตั้งมิเตอร์ประปาให้กับโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอย จำนวน 621 เครื่อง พร้อมปริมาณน้ำจ่ายฟรีกว่า 430 ลูกบาศก์เมตร

4) สนับสนุนงบประมาณ 4.15 ล้านบาท จัดซื้อเครื่องให้อากาศผสมออกซิเจนอัตราการไหลสูงกว่า 20 เครื่องให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ และเครื่องฟอกอากาศและฆ่าเชื้อโรค จำนวน 6 เครื่อง แก่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร

นายสมบูรณ์ กล่าวด้วยว่า ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2565 ที่ใกล้จะถึงนี้ กระทรวงมหาดไทย และ กปภ. ขอมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้ใช้บริการน้ำประปาของ กปภ. ทั่วประเทศ ภายใต้หัวข้อ “130 ปี มหาดไทย ส่งสุข คลายทุกข์ให้ประชาชนรับปีใหม่ 2565” ผ่านโครงการ “ติดมิเตอร์ใหม่ ลดราคา การประปาฯ จัดให้” ลดค่าติดตั้งประปาใหม่ 10% สำหรับผู้ใช้น้ำรายใหม่ ประเภทที่อยู่อาศัยที่ติดตั้งมาตรวัดน้ำขนาด 1/2 นิ้ว ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 28 ก.พ. 65 คาดว่าจะลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้กว่า 5,000 ราย และส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงน้ำประปาสำหรับอุปโภคและบริโภคมากยิ่งขึ้น

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่