ตั้งคำถาม ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ผู้ก่ออาชญากรรมสิ่งแวดล้อม?

บทความใน The Hill สื่ออเมริกันแสดงความเห็นถึง “อาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมของปูติน” ที่ชี้ให้เห็นว่าผู้นำรัสเซียทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โนบิลอีกครั้ง หลังจากส่งทหารรุกรานยูเครนและมีทหารรัสเซียไปยึดครองที่นั่น

DW เคยรายงานไว้ก่อนที่สงครามในยูเครนจะเริ่มต้นขึ้นว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน เป็นหนึ่งในผู้นำของโลกที่คลางแคลงใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“บางครั้งตั้งคำถามถึงบทบาทที่มนุษย์มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และกระทั่งแนะว่าโลกที่ร้อนขึ้นจะสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ให้กับประเทศได้” DW ระบุ

ปูตินอาจทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่ส่งผลร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม แต่เราก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าปูตินก็เหมือนกับผู้นำโลกคนอื่น ๆ ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อหายนะด้านสิ่งแวดล้อมเท่า ๆ กัน แต่มันจะถึงขั้นเป็น “อาชญากรรม” หรือไม่?

Politico สื่อการเมืองจากสหรัฐอเมริกานำเสนอบทความเรื่อง “ความเชื่อมโยงระหว่างปูตินกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยชี้ว่าระหว่างการรุกรานยูเครน ทำให้ความพยายามแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกต้องหยุดชะงักไป

อย่างแรก นักวิทยาศาสตร์ IPCC ของยูเครนต้องหยุดทำงรายงานสภาพภูมิอากาศในขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะแล้วเสร็จ เนื่องจากพวกเขาต้องการที่หลบภัยจากขีปนาวุธของรัสเซีย

อย่างที่สอง รายงานของ IPCC เองก็ชี้ว่า พื้นดินเยือกแข็งของรัสเซียกำลังละลายอย่างรวดเร็ว แต่รัสเซียกลับไปทำสงคราม ปล่อยให้พื้นดินเยือกแข็งปล่อยสารเคมีทำลายโลกออกมา รวมถึงโรคแอนแทรกซ์

บทความนี้ตั้งคำถามไปถึงปูตินว่า “แล้วปูตินจะตอบโต้อย่างไร?” เพราะการแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องใช้เงิน การวางแผน และการจัดลำดับความสำคัญ หากไม่ทำอะไรนักวิทยาศาสตร์เตือนว่ามันจะสูญเสียการควบคุม

อย่างที่สาม บทความนี้โทษปูตินว่า “ปูตินกำลังลากโลกเข้าสู่ยุคใหม่ของการใช้จ่ายด้านกลาโหมที่สูงขึ้นและให้ความสำคัญทางการทหาร” แทนที่จะทำตามรายงาน IPCC ที่จะต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียว

แต่ข้อสังเกตของ Politico จุดนี้จะโทษปูตินฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะหลายประเทศตัดสินใจกันเองที่จะเพิ่มงบประมาณด้านการทหาร และใครจะรู้ว่านี่อาจเป็นโอกาสดีของนักการเมืองนิยมทหาร อุตสาหกรรมอาวุธ และกลุ่มนิยมพลังงานฟอสซิลที่จะเพิ่มงบประมาณ

เอาเข้าจริง ๆ ปูตินไม่ถึงขั้นก่ออาชญากรรม เขาเป็นแค่ตัวฉุดรั้งการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาใหญ่ของปูตินกับภาวะโลกร้อนตอนนี้คือเขาจะจริงใจกับมันแค่ไหนนับจากนี้

เพราะในขณะเดียวกัน อนาโตลี ชูไบส์ ผู้เจรจาปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการแต่งตั้งจากปูติน ได้ลาออกจากตำแหน่งและออกจากประเทศเพื่อประท้วงเรื่องการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ชูไบส์เป็นนักปฏิรูปเศรษฐกิจที่โดดเด่นหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ได้รับการแต่งตั้งในปี 2020 ให้เป็นตัวเชื่อมระหว่างรัสเซียกับองค์กรระหว่างประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

การที่เขาลาออกและหลบหนีอกจากรัสเซียทำให้เขากลายเป็นเจ้าหน้าที่รัสเซียที่อาวุโสที่สุดที่ทำเช่นนั้น และจะทำให้การเจรจาแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกต้องสะดุดลงไปด้วย เพราะปูตินอาจไม่แต่งตั้งใครมาแทนในระยะนี้

รัสเซียอาจจะไม่มีผู้แทนเจรจาปัญหาโลกร้อนไปอีกนาน และน่าสงสัยว่าการประชุม COP รัสเซียจะถูกแบนหรือไม่ หากมีการคว่ำบาตรจริงมันจะยิ่งทำให้ความพยายามแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกยิ่งหมดหวัง

ดังนั้นจึงเริ่มมีเสียงเรียกร้องว่า การแก้ปัญหาโลกร้อนจะขาดรัสเซียไม่ได้ และในขณะที่สื่อของสหรัฐอเมริกาและในยุโรปให้ภาพของปูตินว่าเป็น “อาชญากรด้านสิ่งแวดล้อม” แต่ในระยะหลังปูตินเปลี่ยนท่าทีไปมากแล้ว

แม้ว่าปูตินจะไม่ได้ไปร่วมประชุม COP26 ซึ่งคาดว่าเพราะเขาอาจจะยุ่งกับการวางแผนโจมตียูเครน แต่ช่วงหลายเดือนก่อนเขาสั่งให้รัฐบาลของเขาพัฒนาแผนสำหรับรัสเซียในการบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี 2060

แม้กระทั่งประกาศเป้าหมายที่จะแซงหน้าสหภาพยุโรปในแง่ของการลดการปล่อยก๊าซโดยรวมภายในปี 2050 ซึ่งสวนทางกับจุดยืนก่อนหน้านั้นที่ปูตินถูกมองว่าเป็นพวกไม่เชื่อว่าปัญหาโลกร้อนเกิดจากน้ำมือมนุษย์

อ้างอิง
• Karl Mathiesen. (February 28, 2022). “The link between Putin and climate change”. POLITICO Europe.
• Jacob Knutson (March 24, 2022) “Putin’s climate envoy resigns over Ukraine invasion and leaves Russia”. Axios.
• “Russia shifts its rhetoric on climate action”. (November 24, 2021). DW.
ภาพ Kremlin.ru

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย