กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เตรียมนำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้หลังจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2565 โดยแผนดังกล่าวนี้วางเป้าจัดการขยะชุมชนร้อยละ 80 รีไซเคิล ร้อยละ 36
แผนปฏิบัติการขยะฉบับใหม่นี้มีเป้าหมายสำคัญ คือ 1) ขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ 80 โดยจะเพิ่มการคัดแยกขยะจากบ้านเรือนและนำกลับไปรีไซเคิล ร้อยละ 36 มุ่งเน้นการนำไปเผาผลิตเป็นพลังงาน เพื่อลดการเทกองและการเผาขยะอย่างไม่ถูกต้อง และลดการนำขยะไปฝังกลบ
2) เพิ่มปริมาณการนำขยะกลับมาเป็นวัสดุรีไซเคิลในการผลิตให้มากขึ้น ทั้งขยะพลาสติกและขยะบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษ แก้ว อะลูมิเนียม ตั้งแต่ร้อยละ 74 – 100
3) ลดปริมาณขยะอาหารเหลือร้อยละ 28 เพื่อลดปัญหากลิ่นเหม็นที่กองขยะและลดก๊าซเรือนกระจก 4) ของเสียอันตรายชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง อย่างน้อยร้อยละ 50 รวมถึง
5) มูลฝอยติดเชื้อและกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายต้องจัดการอย่างถูกต้องร้อยละ 100 ทั้งนี้ มีความมุ่งมั่นเพื่อทำให้ขยะไม่ใช่ขยะ แต่ขยะคือทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และการกำจัดขยะต้องไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “การจัดการขยะวิถีใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมสะอาด และก้าวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน”
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2559-2564) ได้สิ้นสุดลง ทส. โดย คพ. จึงดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570) โดยแผนจัดการขยะฉบับที่ 2 ต้องการยกระดับการบริหารจัดการขยะให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ ครอบคลุมทั้งการจัดการขยะพลาสติก ขยะบรรจุภัณฑ์ ขยะอาหาร ขยะมูลฝอยชุมชน ของเสียอันตรายชุมชน ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มูลฝอยติดเชื้อ และกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย โดยให้ความสำคัญกับการจัดการ ณ ต้นทาง ตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการเกิดขยะ
ตั้งแต่การออกแบบการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนโดยเลือกใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ซ้ำและเรียกคืนกลับไปรีไซเคิล มีระบบการคัดแยก ณ แหล่งกำเนิด เพื่อให้มีการนำทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุดทั้งในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล และพลังงาน เพื่อให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด