กระทรวงทรัพย์ฯ มอบสมุดประจำตัวทำกินในป่าสงวน ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ใน อ.ทุ่งสง ทุ่งใหญ่ และบางขัน จ.นครศรีธรรมราช 1,972 ราย รวม 37,334 ไร่
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงฯ เป็นประธานพิธีมอบ “สมุดประจำตัว” แก่ผู้ได้รับการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกิน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 ให้เข้าทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ท้องที่อำเภอนำร่อง 3 อำเภอ ได้แก่ ทุ่งสง ทุ่งใหญ่ และบางขัน จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 37,334 ไร่ จำนวน 1,972 ราย
นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้มีพื้นที่เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้ประชาชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมายใน จ.นครศรีธรรมราช ทั้งสิ้น 346,290 ไร่ แบ่งพื้นที่ได้ 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ลุ่มน้ำชั้นที่ 3, 4 และ 5 ที่มีราษฎรถือครองทำกินมาก่อนปี 2545 มีพื้นที่ดำเนินการ 66,160 ไร่ กรมป่าไม้โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อนุญาตให้ จ.นครศรีธรรมราช นำพื้นที่ไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนแล้ว 18,286 ไร่ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)
สำหรับกลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 4 ดำเนินการโดยกรมป่าไม้ มีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มที่ 2 ลุ่มน้ำชั้นที่ 3, 4 และ 5 ที่มีราษฎรอยู่อาศัยทำกินระหว่างปี 2545 ถึงปี 2557 มีพื้นที่ดำเนินการ 35,006 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลราษฎรผู้ถือครองที่ดินและผังแปลงที่ดิน เพื่ออนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำพื้นที่ไปดำเนินการจัดที่ดินให้แก่ราษฎร
กลุ่มที่ 3 ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ที่มีราษฎรอยู่อาศัยทำกินมาก่อนปี 2545 และกลุ่มที่ 4 ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ที่มีราษฎรอยู่อาศัยทำกินระหว่างปี 2545 ถึงปี 2557 โดยมีพื้นที่ดำเนินการ 245,124 ไร่ และเร่งดำเนินการตามขั้นตอนในการอนุญาตให้ราษฎรได้อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติได้อย่างถูกต้องโดยเร็ว โดยได้มอบอำนาจให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สามารถอนุมัติโครงการตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 สั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการจัดระเบียบการใช้ที่ดิน และรับรองการอยู่อาศัยทำกินแบบแปลงรวมให้แก่ราษฎร
สำหรับการมอบสมุดประจำตัวให้ประชาชน จำนวน 37,334 ไร่ รวม 1,972 ราย ใน 3 อำเภอนำร่องข้างต้นถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีการมอบสมุดประจำตัวให้แก่ราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 และ 2 ซึ่งในอนาคตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถเข้าไปส่งเสริมพัฒนาอาชีพและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ประชาชนต่อไป