ฝุ่น PM2.5 ปนเปื้อนทังสเตน
ภัยต่อสุขภาพที่มาจากยานพาหนะ

by IGreen Editor

เป็นที่รับทราบกันดีว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำลายสุขภาพร่างกาย ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ยิ่งช่วงปลายปีต่อเนื่องเข้าสู่ต้นปีใหม่ ถือเป็นช่วงเข้าสู่สถานการณ์ฝุ่นควันที่จะค่อย ๆ ทวีความรุนแรง ดังนั้นทุกภาคส่วนของสังคมไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้สังคมเกิดความตระหนักและช่วยกันหามาตรการในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งปัจจุบันรับหน้าที่โฆษกศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ อธิบายว่า หากอุปมาอุปมัยให้เห็นภาพง่ายๆ สุขภาพร่างกายของคนเราก็เป็นเหมือนธนาคารซึ่งอยู่ๆ วันหนึ่งถูกโจรเข้าไปปล้น รถที่โจรใช้เดินทางมาก็เปรียบเหมือน PM2.5 ซึ่งนำคนร้ายหลายๆ คนเข้าไป

บุคคลที่นักวิชาการรายนี้เปรียบเปรยก็คือ สารก่อมะเร็งในปอด โลหะหนัก ปรอท แคดเมียม สารหนู ทังสเตน ฯลฯ เพื่อเข้าไปปล้นธนาคาร หรือเข้าทำร้ายสุขภาพของคนเรา ซึ่งหากมีแค่ตัวฝุ่นเฉยๆ ไม่มีสารเหล่านี้ก็ไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากนัก แต่เผอิญว่าสารเหล่านี้เป็นพิษและก่อให้เกิดอันตรายกับสุขภาพ ซึ่งสารโลหะหนักที่ปนเปื้อนมากับ PM2.5 แต่ละชนิดยังมีผลต่อสุขภาพที่แตกต่างกันด้วย

เช่น ปรอท เป็นสาเหตุของโรคมินามาตะ อัมพาต มะเร็ง ตลอดจนทำให้เกิดความผิดปรกติทางพันธุกรรม โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ทำให้เป็นมะเร็ง สารหนู ทำให้เกิดโรคผิวหนัง ทำให้รู้สึกมึน ตัวชา อยากอาเจียน เข้าสู่ระบบประสาท และทำอันตรายต่อปอด แคดเมียม ทำลายส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผิวหนัง ปอด ทางเดินอาหาร กระดูก เป็นต้น ซึ่งสารโลหะหนักแต่ละชนิดจะมีค่ามาตรฐานว่าไม่ควรเกินเท่าใดถึงจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกาย

ศ.ดร.ศิวัช กล่าวอีกว่า สารโลหะหนักเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากหลายแหล่ง หลักๆ คือมาจากกิจกรรมที่มาจากการอุตสาหกรรมและไอเสียยานพาหนะ เช่น การก่อสร้างมีกระจายเต็มไปทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่วนใหญ่เป็นการสร้างระบบขนส่งมวลชน ยังไม่รวมถึงการก่อสร้างคอนโดและอื่นๆ เมื่อมีการเชื่อมเหล็กก็จะมีโลหะหนักปนเปื้อนออกมา รวมทั้งกลุ่มยานพาหนะก็มีไอเสียที่ปนเปื้อนโลหะหนักจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของอาจารย์ศิวัชในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาพบว่า สารโลหะอื่นๆ ใน PM2.5 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แต่ที่พบมากและเป็นลักษณะเฉพาะในพื้นที่ กทม. คือทังสเตน ซึ่งเป็นโลหะหนักที่ใช้เคลือบเบรกรถ ทุกครั้งที่มีการแตะเบรก ทังสเตนจะหลุดออกมา เพราะฉะนั้น ฝุ่น PM2.5 ใน กทม.ส่วนใหญ่จะมีการปนเปื้อนของทังสเตนค่อนข้างมาก ซึ่งข้อมูลตามที่อาจารย์ศิวัชระบุ ในทางการแพทย์พบว่า ทังสเตนมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคตกิจกรรมเหล่านี้อาจจะค่อยๆ ลดลงหรือมีทิศทางที่ดีกว่าในปัจจุบัน ด้วยเพราะเมื่อระบบขนส่งมวลชนต่างๆ มีการก่อสร้างเสร็จ คน กทม.จะหันไปใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น มีทางเลือกการเดินทางโดยไม่ต้องใช้รถยนต์ ขณะเดียวกับปริมาณของรถยนต์ไฟฟ้าก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามกระแสโลกที่ประชาชนเรียกร้องให้ภาครัฐมีการลดหย่อนภาษีและจะนำไปสู่สังคมที่เต็มไปด้วยรถไฟฟ้าเหมือนเช่นในประเทศจีน

“เราทราบกันว่า 70% ของ PM2.5 มีแหล่งกำเนิดจากไอเสียรถยนต์ เมื่อ 2 ปัจจัยนี้มารวมกันก็น่าจะทำให้สถานการณ์ PM2.5 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในอนาคต” ศ.ดร.ศิวัช กล่าว

ในขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัด จะมีปัจจัยเรื่องการเผาอ้อยหรือซากชีวมวลต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการที่ก่อให้เกิด PM2.5 โดยเฉพาะขณะนี้ใกล้จะเริ่มการเก็บเกี่ยวผลผลิต กลุ่มเกษตรกรที่ใช้วิธีเผาอ้อยส่วนใหญ่มักเป็นเกษตรกรรายเล็กที่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า 50 ไร่ เนื่องจากไม่มีกำลังการจ้างแรงงานหรือใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเผา

แนวทางการแก้ปัญหาในส่วนนี้ต้องใช้มาตรการทางเศรษฐกิจมาสร้างแรงจูงใจ เช่น ระยะเวลาในการเปิดหีบอ้อยควรยาวนานขึ้น เพราะถ้าระยะเวลาเปิดหีบสั้นไปจะเร่งให้ชาวไร่อ้อยต้องเร่งเผาเพื่อให้สามารถเก็บอ้อยได้เร็วที่สุด รวมทั้งใช้มาตรการเพิ่มราคาอ้อยสดให้สูงขึ้น เป็นต้น

อาจารย์ศิวัช ระบุอีกว่า จากการศึกษาวิจัยในพื้นที่ กทม. เชียงใหม่ และภูเก็ต ระหว่างปี 2560-2561 ยังพบข้อเท็จจริงที่น่าปละหลาดใจอีกประการก็คือเมื่อตรวจวัด PM2.5 ตลอด 1 ปีเต็มในเชียงใหม่ มีแหล่งกำเนิด PM2.5 มาจากไอเสียยานพาหนะสูงถึง 50% ขณะที่การเผาเศษชีวมวลเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 2 ประมาณ 20% แต่การเผาต่างๆ นี้จะสูงในช่วงระยะเวลาหนึ่งประมาณ 1-2 เดือน ทำให้ช่วงนั้นคนเชียงใหม่และจังหวัดอื่นในภาคเหนือตอนบนต้องทนทุกข์กับคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ แต่ถ้าพิจารณาข้อมูลทั้งปีแล้วจะเห็นว่าแหล่งกำเนิดสำคัญยังคงเป็น PM2.5 จากไอเสียยานพาหนะ ซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่ กทม. และภูเก็ต

“แนวทางการลด PM2.5 ในยานพาหนะ คือการกวดขันการติดตั้งแคทตาไลติก คอนเวอร์เตอร์ ซึ่งหากกวดขันอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดการปล่อยสารต่างๆ ได้เกือบ 75% แต่ปัญหาที่พบคือรถขนส่งสินค้านิยมถอดแคทตาไลติก คอนเวอร์เตอร์ ออกเพื่อให้ได้แรงม้าเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้สนใจถึงการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ทางแก้คือทางภาครัฐต้องกวดขันการติดตั้งแคทตาไลติก คอนเวอร์เตอร์อย่างจริงจัง”

นอกจากเหนือจากการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ปัจจัยสำคัญที่สุดในการลดปัญหา PM2.5 คือจิตสาธารณะของคนไทยทุกคน เพราะต่อให้ภาครัฐออกมาตรการมานับร้อยนับพันแต่ถ้าคนไทยไม่ร่วมแรงร่วมใจกันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อย่างเช่น การใส่หน้ากากอนามัยในช่วงโควิด-19 ระบาด หรือการล็อกดาวน์ที่ทุกคนพร้อมใจกันสนับสนุนรัฐบาล

“เพราะตอนนั้นมีโลงศพมาตั้งให้ดูอยู่ตรงหน้า ตอนนี้คนไทยตายด้วยโควิด 60 คน แต่ผลจาก PM2.5 ทำให้คนไทยตายปีละ 50,000 คน กลับไม่มีใครใส่ใจหรือมีความรู้สึกร่วม เมื่อเทียบกับโควิด-19 ดังนั้นจิตสาธารณะต่างหากที่เป็นปัญหาในการลด PM2.5 ช่วงโควิด-19 เราทำสำเร็จเพราะจิตสาธารณะของคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่เราไม่มีจิตสำนึกแบบนี้กับ PM2.5 ดังนั้นต่อให้มีอีกเป็นร้อยเป็นพันมาตรการ แต่ถ้าคนไทยไม่ผนึกกำลังร่วมแรงร่วมใจกันก็ทำไม่สำเร็จ” ศ.ดร.ศิวัช กล่าว

Copyright @2021 – All Right Reserved.