‘โรงขยะอ่อนนุช’ จ่อปิดฉากปี 69 มลพิษจะสิ้นสุดลง?

by Pom Pom

“โรงขยะอ่อนนุช” เตรียมปิดตัวถาวร ในปี 2569 หลังสร้างมลพิษกลิ่นเหม็นและควันดำมานานกว่า 30 ปี ชุมชนรอบข้างหวังว่านี่จะเป็นจุดจบของปัญหาที่เรื้อรัง หลัง รมช.มหาดไทย ยืนยัน ไม่ต่อสัญญา 2 โรงขยะอ่อนนุช

“โรงขยะอ่อนนุชก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 2,500 เศษ ช่วงที่ดิฉันยังเป็นวัยรุ่น ทุกครั้งที่ต้องผ่านอ่อนนุช ต้องปิดจมูกทุกครั้ง เพราะส่งกลิ่นเหม็นมาก ก็คิดว่าคนที่อยู่แถวนี้อยู่กันอย่างไร ขนาดผ่านมาไม่นานยังเหม็นขนาดนี้”

เป็นการตอบกระทู้ของ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกตั้งกระทู้ถามจาก ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สส.พรรคประชาชน ที่ว่า สัญญาโรงขยะอ่อนนุชที่จะหมดในช่วงปี 69-70 จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ?

จึงเป็นที่มาให้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศยุติ 2 สัญญา โรงขยะอ่อนนุช ได้แก่

  1. โรงงานทำปุ๋ยหมัก ขนาด 1,000 ตันต่อวัน ประกอบการมาแล้ว 8 ปี หมดสัญญาปี 2570
  2. โรงงานกำจัดมูลฝอย (ด้วยวิธีการหมักทำปุ๋ย) ขนาด 600 ตันต่อวัน ประกอบการมาแล้ว 10 ปี หมดสัญญา ธ.ค. ปี 2569

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร

โรงขยะอ่อนนุช: ปัญหามลพิษและความท้าทายของกรุงเทพมหานคร

โรงขยะอ่อนนุช หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช” ตั้งอยู่ในเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในสถานที่กำจัดขยะหลักของเมืองหลวงที่มีประชากรหนาแน่น และผลิตขยะปริมาณมหาศาลในแต่ละวัน ด้วยพื้นที่กว่า 580 ไร่ ศูนย์แห่งนี้รับหน้าที่จัดการขยะมูลฝอยจากชุมชนในกรุงเทพฯ ราว 3,400-4,000 ตันต่อวัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสำคัญของขยะทั้งหมดที่กรุงเทพมหานครต้องกำจัดถึง 9,500 ตันต่อวัน

แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของโรงขยะอ่อนนุช กลับกลายเป็นประเด็นร้อนที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนโดยรอบ โดยเฉพาะปัญหากลิ่นเหม็นและมลพิษที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน

ความเป็นมาของโรงขยะอ่อนนุช

ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เริ่มดำเนินการมานานหลายทศวรรษ โดยเดิมทีมีบทบาทเป็นสถานีคัดแยกและฝังกลบขยะ ต่อมาในปี 2560 กรุงเทพมหานครได้ลงนามสัญญากับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (Mechanical-Biological Treatment: MBT) ขนาด 800 ตันต่อวัน บนพื้นที่ 20 ไร่ภายในศูนย์ โครงการนี้มีเป้าหมายเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน โดยผลิตก๊าซชีวภาพและไฟฟ้าขนาด 4.2 เมกะวัตต์ ซึ่งเริ่มเดินระบบอย่างเต็มรูปแบบในปี 2563

ถึงแม้จะมีเจตนาดีในการลดปริมาณขยะ และสร้างพลังงานหมุนเวียน แต่ทว่า การตั้งโรงงานใกล้ชุมชน กลับนำมาซึ่งปัญหามลภาวะที่รุนแรง

โรงขยะอ่อนนุช กับปัญหาที่ชุมชนต้องเผชิญ

ตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ชาวบ้านในเขตประเวศ สวนหลวง สะพานสูง รวมถึงบางส่วนของลาดกระบังและสมุทรปราการ ได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นรุนแรงที่ลอยมาจากโรงขยะอ่อนนุช โดยเฉพาะในช่วงฝนตกหรือลมแรง ที่กลิ่นยิ่งทวีความรุนแรง ชาวบ้านบางรายระบุว่า ได้กลิ่นตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางกายและใจ เช่น อาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ และความเครียดจากการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ ยังมีรายงานน้ำเสียจากกองขยะไหลลงสู่คลองและชุมชนใกล้เคียง เพิ่มความกังวลเรื่องมลพิษทางน้ำ

ปัญหานี้รุนแรงถึงขั้นที่ชุมชนรวมตัวยื่นฟ้องศาลปกครองในปี 2566 เพื่อขอเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และเรียกร้องให้ปิดโรงงานอย่างถาวร โดยระบุว่า โรงงานตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ใกล้ชุมชนเกินไป ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากคำสั่งหัวหน้า คสช. (ที่ 4/2559) ที่ยกเว้นผังเมือง อนุญาตให้ตั้งโรงงานในพื้นที่ที่เดิมไม่ได้รับอนุญาต

ความพยายามแก้ไขและอุปสรรค

กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ในปี 2565 กรมโรงงานฯ สั่งปิดโรงงานชั่วคราว 30 วัน เพื่อให้ปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่น และมีการติดตั้งระบบฉีดสเปรย์ดับกลิ่น รวมถึงปลูกต้นไม้เป็นกำแพงธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ชาวบ้านยังคงร้องเรียนว่ากลิ่นเหม็นไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

จนล่าสุด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ระบุในการตอบกระทู้ถามสดในสภาว่า สัญญาการทำปุ๋ยหมักของโรงขยะอ่อนนุชที่กำลังจะหมดในอีก 2 ปีข้างหน้า อาจไม่ได้รับการต่ออายุ เนื่องจากปัญหามลพิษกลิ่นที่ยังไม่คลี่คลาย นอกจากนี้ เตาเผาขยะบางส่วนที่มีอายุการใช้งานนานกว่า 30 ปี และขาดระบบกรองมลพิษก็ถูกสั่งปิดชั่วคราวเพื่อปรับปรุง

ปัญหาโรงขยะอ่อนนุชสะท้อนถึงความท้าทายในการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องรับมือกับปริมาณขยะมหาศาลท่ามกลางข้อจำกัดด้านพื้นที่และเทคโนโลยี แม้จะมีความพยายามแก้ไขจากหลายฝ่าย แต่ปัญหายังคงเรื้อรังและต้องการแนวทางที่ครอบคลุมและยั่งยืน ทั้งนี้ โรงขยะอ่อนนุช จะสามารถเปลี่ยนจาก “ต้นตอของมลพิษ” สู่ “ต้นแบบของการจัดการขยะที่ยั่งยืน” ได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

ภาพ : ภาพปกเป็นภาพประกอบบทความเท่านั้น

Copyright @2021 – All Right Reserved.