เปิดต้นตอหลัก ‘ฝุ่น PM2.5’ ใน กทม. มาจากไหน

City air pollution concept. Close up woman wearing N95 mask to air pollution in Bangkok city

ไขข้อข้องใจ “ฝุ่น PM2.5” ใน กทม. มาจากไหน? หลังค่าฝุ่น ติดอันดับ 8 ของโลก เกินมาตรฐานทุกเขต ‘หนองแขม-บางบอน-ธนบุรี’ สูงสุด มีผลกระทบต่อสุขภาพ

เรื่องของ “ฝุ่น PM2.5” ไม่เคยจางหายไป โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทย ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตคุณภาพอากาศที่เรียกว่า “ฝุ่น PM2.5” อย่างรุนแรง ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวและประสิทธิภาพการทำงานของคนในเมือง

ข้อมูลจาก IQAir รายงานสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ยิ่งตอกย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบแก้ปัญหา “ฝุ่น PM2.5” เพราะข้อมูลระบุว่า ระดับค่ามลภาวะทางอากาศของกรุงเทพมหานคร พุ่งขึ้นเป็นอันดับ 8 ของโลก

ด้าน ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร วันนี้ (9 มกราคม) เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ยตรวจวัดได้ 64.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบว่าเกินมาตรฐาน อยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) จำนวน 47 เขต และระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ 3 เขต

5 อันดับของค่าฝุ่น PM2.5 เขตสูงสุดในกรุงเทพมหานคร

  • อันดับ 1 เขตหนองแขม 94.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • อันดับ 2 เขตบางบอน 76.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • อันดับ 3 เขตธนบุรี 75.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • อันดับ 4 เขตบางขุนเทียน 74.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • อันดับ 5 เขตบางนา 74.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

พื้นที่ปริมณฑล ที่อยู่ในระดับสีแดง 

  • ตำบลนครปฐม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม 82.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 77.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ 76.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร 82.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 87.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มาจากไหน?

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อไขข้องใจเกี่ยวกับกับฝุ่น PM2.5 ใน กทม. ว่ามาจากไหน โดยระบุว่า ฝุ่นใน กทม. มาจาก 3 ปัจจัย

  • ปัจจัย 1 – ฝุ่นฐานเมือง (ขนส่ง อุตสาหกรรม)
  • ปัจจัย 2 – สภาพอากาศ/อัตราการระบายอากาศต่ำมาก
  • ปัจจัย 3 – ลมตะวันออก/ออกเฉียงเหนือ พาฝุ่นจากจุดเผาชีวมวลด้านนอกเข้ากรุงเทพฯ

ที่ปรึกษาผู้ว่า กทม.อธิบายค่าฝุ่น PM2.5 ใน กทม.มาจากไหน

ที่ปรึกษาผู้ว่ราชการกรุงเทพมหานคร อธิบายว่า ถ้ามีแค่ปัจจัย 1 ค่าฝุ่นก็จะประมาณสีฟ้า/เขียว เช่นเดียวกับฤดูอื่นๆ ของปี โดยเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2567 ค่าฝุ่นที่เริ่มมีเหลืองๆ ส้มๆ นั้น มาจากปัจจัย 1+2 ส่วนวันนี้ (ส้มทั่วเมือง) นั้น เพราะว่าครบ 3 ปัจจัย โดยเฉพาะจุดเผานอกกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล และมาลมที่นำเข้ากรุงเทพฯอย่างชัด

ทั้งนี้ ระยะถัดไป อัตราการระบายจะดีขึ้น คาดว่าฝุ่นจะลดลงช่วยปลายอาทิตย์ ส่วนเราหวังจริงว่าการเผาชีวมวลจะมีมาตรการลดที่ชัดเจน

ส่วนข้อมูลจากเพจ ฝ่าฝุ่น ให้ข้อมูลสอดรับกันเช่นกัน โดยระบุว่า ภาพซ้อนจุดความร้อนจาก NASA FIRMS ระหว่างวันที่ 5-9 มกราคม 2568 กับความถี่ของเส้นทางลมโดย NOAA HYSPLIT  เมื่อนำมาประกอบกันจะพอบอกได้ว่า ลมพัดฝุ่นจากการเผาในที่โล่งจากพื้นที่ไหนบ้างเข้าสู่กรุงเทพฯและปริมณฑล  ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเผาในที่โล่งในภาคอีสานและภาคกลางของเราเอง  ส่วนรองข้ามแดนมาจากกัมพูชา

จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า เหตุใดเราชาวภาคกลางและชาว กทม. ควรสนใจไฟป่าและการเผาในที่โล่ง  เพราะฝุ่น PM2.5 ทำให้เรา และครอบครัวเรา มีชีวิตสั้นลงโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปีแล้ว และยังเป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยอีกหลายๆ โรคที่รุนแรงจนอาจเสียชีวิต

ความรุนแรงของฝุ่น PM2.5

ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ ทำให้สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและกระแสเลือดได้ง่าย ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น การระคายเคืองทางเดินหายใจ, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด จากข้อมูลบน X และเว็บไซต์ต่างๆ ระบุว่าค่าฝุ่น PM2.5 ในกทม. มักเกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) และของประเทศไทยเอง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวและช่วงที่มีการก่อสร้างหรือเผาไหม้มากๆ

ค่า PM2.5 ระดับไหนอันตราย

องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ในอากาศว่า หากเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ประเทศไทยกำหนดอันตรายของฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากเอาตามมาตรฐานโลก ค่าฝุ่น PM2.5 ใน กทม. เรียกได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤต

สรุป

วิกฤตฝุ่น PM2.5 ใน กทม. ไม่เพียงแค่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระยะสั้น แต่ต้องมีการวางแผนระยะยาว เพื่อลดการปล่อยมลพิษและสร้างเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น การร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ ให้กรุงเทพฯ กลับมาเป็นเมืองที่มีอากาศบริสุทธิ์อีกครั้ง

อ้างอิง :

Related posts

เปลี่ยนวิธีจัดการ ‘ตอซังข้าว’ ลด PM2.5 ด้วย ‘จุลินทรีย์ย่อยสลาย’

ผลวิจัย จับคนมาวิ่งใน ‘ฝุ่น PM2.5’ พุ่งสูง พังทั้งเลือด-ปอด

คนกรุง อ่วม ‘PM2.5 พุ่ง’ เกินมาตรฐาน มกราคม เจอยาว