ใช้กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับให้ผู้ก่อมลพิษ (ผู้ผลิต) แบกรับต้นทุน

แม้การก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจะไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่ก็ส่งผลกระทบในระยะยาวโดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ ดังนั้นถึงวเลาที่จะต้องนำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้บังคับซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการนำต้นทุนที่เกิดจากการก่อมลพิษทางสิ่งแวดล้อมมาเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้าหรือการบริการ โดยนำกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (Food Traceability) มาประกอบการดำเนินการเพื่อจะได้ทราบแหล่งที่มาการก่อมลพิษ

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และอาจารย์ประจำวิชามลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า ระบุว่า ใครก่อมลพิษต้องเป็นคนจ่ายหรือแบกรับต้นทุน แต่ที่ผ่านมาติดปัญหาในการบังคับใช้ แค่มีปัญหาควันดำก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้

ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาอาจารย์ศิวัชได้นำเสนอในเรื่องนี้หลายครั้งโดยมีแนวคิดที่ว่าถ้าบริษัทไหนก่อมลพิษ เมื่อจับได้จะต้องใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ประจาน เพื่อให้ประชาชนลงโทษ

“ให้ทัวร์ลงเอง ซึ่งบริษัทต้องการรักษาภาพลักษณ์ตัวเอง เช่น บริษัทก่อสร้างนี้ใช่หรือไม่ใช่ที่เป็นเจ้าของรถบรรทุกที่ปล่อยควันดำ แต่ยังไม่ยอมแก้ปัญหา ถ้าประชาชนตื่นรู้และทัวร์ลงมากๆ นี่คือกลไกทางสังคม ส่วนภาครัฐก็ต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย”

อาจารย์ศิวัช ยกตัวอย่างเหตุการณ์รถตู้ชนท้ายรถบรรทุกที่ จ.ระยอง เมื่อปี 2556 หลังจากนั้นกรมการขนส่งทางบกนำเหตุการณ์นี้มาใช้จำกัดความเร็วของรถตู้และกำหนดให้มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง โดยนำเทคโนโลยีเซนเซอร์มาใช้ในการตรวจวัด ถ้าความเร็วเกินกำหนดสัญญาณจะฟ้องไปยังกรมการขนส่งทางบก และสามารถออกใบสั่งได้ทันที ดังนั้นในกรณีการปล่อยมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐานหรือการเผาที่ก่อสารพิษจะต้องถูกปรับ โดยสามารถติดเครื่องตรวจวัดที่ปลายปล่อง โดยไม่ต้องมานั่งไล่จับ

ในกรณีปัญหามลพิษทางอากาศหรือฝุ่นควันจากการเผาวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะการทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรพันธสัญญาก็เช่นเดียวกันที่สามารถใช้กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อหาผู้รับผิดชอบในการจ่ายค่าก่อมลพิษ เช่น การผลิตเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัมจะต้องใช้ข้าวโพดในการเลี้ยงหรือนำมาทำอาหารสัตว์เท่าไหร่ และข้าวโพดนั้นมาจากไหน วิธีการนี้เป็นการย้อนกลับไปหาต้นตอยังแหล่งผลิต

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตเนื้อสัตว์จำนวนเท่านี้ตันต่อปีต้องใช้ข้าวโพดเท่าไหร่ โดยที่บริษัทต้องระบุได้ว่าข้าวโพด 1 ตันต่อปีมาจากแหล่งใด พื้นที่ไหนและปลูกช่วงเวลาใด โดยสามารถใช้ข้อมูลจากดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA มาเทียบว่าการเพาะปลูกช่วงเวลานั้นเกิดจุดความร้อน (Hotspot) หรือไม่ ถ้าเกิดเท่ากับบ่งชี้ได้ว่าเป็นผู้ก่อมลพิษหรือเป็นต้นตอของการเผา

“อยู่ที่ว่าภาครัฐมีความจริงใจหรือไม่ในการเข้าไปไล่บี้เพื่อเอาผิดเอกชนหรือให้แต่ละที่อธิบายที่มาของ Food Traceability ให้ได้ แต่ที่ผ่านมา Food Traceability คือผลิตที่โรงงานไหนแล้วก็จบ แต่ไม่ไปต่อที่ต้นตอ ทั้งที่เนื้อกี่กิโลกรัม ไก่กี่กิโลกรัม ใช้ข้าวโพดเท่าไหร่และใช้พื้นที่กี่ไร่ในการเพาะปลูกและปลูกช่วงเวลาใด

“ถ้าอธิบายได้ก็สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และก่อนและหลังการผลิตใช้ดาวเทียมตรวจได้ว่าเกิดจุดความร้อนหรือไม่ แต่ไม่มีใครกล้าทำ แค่บอกว่าผลิตเนื้อไก่กี่ตัน เนื้อหมู่กี่ตัน ใช้ข้าวโพดเท่าไหร่ เอาแผนที่จิสด้ามาดูแค่นี้จบ”

ข้อเสนอของอาจารย์ศิวัชเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคณะอนุกรรมาธิการจัดทำรายงานผลการศึกษาภายใต้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ศึกษาและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เมื่อเดือนสิงหาคม 2563

โดย กมธ.มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ของฟรี มีต้นทุนในการใช้งาน การก่อมลพิษหรือสร้างผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ไม่เห็นผลในระยะสั้นแต่ก็ส่งผลกระทบในระยะยาว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการนำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP) ที่ให้ความสำคัญกับการนำต้นทุนที่เกิดจากการก่อมลพิษทางสิ่งแวดล้อมมาเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้าหรือการบริการ

นอกจากนี้ ให้นำหลักการ 3R (Reduce Reuse and Recycle : 3Rs) มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียที่เหลือจากการผลิตน้อยที่สุด โดยหนึ่งในแนวคิดที่จะช่วยขับเคลื่อนหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ได้แก่ การพัฒนาระบบการซื้อขายคาร์บอนที่เป็นทางการ ระบบการซื้อขายคาร์บอนเป็นการกำหนดมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ปริมาณคาร์บอนที่ปลดปล่อย โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น การคมนาคม การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเกษตร

ระบบการซื้อขายคาร์บอนจึงเป็นกลไกตลาดที่สำคัญในการสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้ชุมชนและผู้ผลิตหาแนวทางหรือเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อส่งมอบทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าให้ประชากรรุ่นต่อไป

อย่างไรก็ตาม กมธ.ยังมีข้อสังเกตในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามแหล่งกำเนิด อาทิ  ด้านคมนาคม ควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองเพื่อช่วยดูดซับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากกิจกรรมในเขตเมือง การลดมลพิษในยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษมากทุกประเภททันที เป็นต้น ภาคอุตสาหกรรม เช่น การบัญญัติกฎหมายว่าด้วยทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registration : PRTR) เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องรายงานการปล่อยมลพิษทางอากาศให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทราบการศึกษาและเก็บข้อมูลพื้นฐานประเด็นการปล่อยฝุ่นควันและมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เป็นต้น

การแก้ปัญหาการเผาที่โล่ง เช่น การจัดตั้งศูนย์อำนวยการการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตรและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูล Hotspot และ Burn scar เพื่อพัฒนาระบบการรายงานสถานการณ์ฝุ่นที่เหมาะสมในระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ การบริหารจัดการการเผา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายผ่านการจัดระเบียบการชิงเผาในท้องถิ่น เป็นต้น

การแก้ไขปัญหาจากไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์ เช่น การสนับสนุนกำลังและงบประมาณส่วนกลางจากรัฐบาลให้สอดคล้องตามแผนมาตรการป้องกันไฟป่า การจัดตั้งศูนย์อำนวยการการบริหารจัดการการเผาโดยใช้ข้อมูลการพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้าของกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นฐานในการกำหนดช่วงเวลาปลอดภัยที่สามารถให้ประชาชนบริหารจัดการเผาได้เป็นต้น

และการแก้ไขปัญหาจากหมอกควันข้ามแดน เช่น การผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการจัดทำข้อมูลจุดความร้อน แหล่งที่มาของฝุ่นละออง และสถานการณ์หมอกควันข้ามแดนระหว่างหน่วยงานหรือศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลในระดับทวิภาคีหรือพหุภาคี และการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับอนุภูมิภาค เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวได้แบ่งแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นละอองในประเทศไทยออกเป็น 5 แหล่ง ได้แก่

1.การขนส่งคมนาคม เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญในเขตพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีการจราจรจำนวนมาก โดยสาเหตุของฝุ่นละอองเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของยานพาหนะ โดยที่มาตรฐานคุณภาพยานยนต์ เชื้อเพลิง และมาตรการทางภาษีไม่สอดคล้องกับการก่อมลพิษของยานยนต์และไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้ยานยนต์หรือเชื้อเพลิงที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

2.ภาคอุตสาหกรรม เป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นละอองขนาดเล็กในบริเวณที่มีโรงงานหนาแน่นซึ่งปัจจุบันยังขาดการเก็บข้อมูลการตรวจวัด การรายงานฝุ่นควัน และเกณฑ์หรือมาตรฐานที่ครอบคลุมฝุ่นประเภทต่าง ๆ ที่ปล่อยออกมาทางปล่องระบาย

3.การเผาในที่โล่ง เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญในพื้นที่ที่การเกษตรระยะสั้น อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ซึ่งมีการเพาะปลูกอ้อย ข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปริมาณมาก เนื่องจากการเผาเป็นวิธีการเก็บเกี่ยวและเตรียมการเพาะปลูกที่สะดวกและมีต้นทุนต่ำสำหรับเกษตรกรรายเล็ก เมื่อเทียบกับการใช้เครื่องจักรซึ่งมีราคาสูง อีกทั้งนโยบายและมาตรการควบคุม/ลดการเผาต่าง ๆ ยังไม่ส่งผลให้การเผาในพื้นที่เกษตรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

4.ไฟป่า เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญในพื้นที่รอยต่อระหว่างชุมชนและเขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวน โดยพบมากในเขตภาคเหนือซึ่งมีรอยต่อของพื้นที่ป่าและพื้นที่ชุมชน สาเหตุหลักของการเกิดไฟป่า ได้แก่ การหาของป่า สาเหตุรอง ได้แก่ การล่าสัตว์ เผาไร่ เป็นต้น ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดการไฟป่าโดยภาครัฐยังขาดการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและการมีส่วนรวมของชุมชนที่อยู่บริเวณพื้นที่ป่าใกล้เคียง รวมทั้งระบบการแจ้งสถานการณ์และรายงานความคืบหน้ายังไม่ทันต่อเหตุการณ์

5.หมอกควันข้ามแดน เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองสำคัญในหลายพื้นที่ของประเทศไทย อาทิ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ โดยเกิดจากการเผาไหม้ทางการเกษตรหรือไฟป่าในเขตประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่ฟุ้งกระจายสู่พื้นที่ข้างเคียง

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย