ผลักดันโมเดล ‘สมดุลราษฎร์-รัฐ’แก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เชียงใหม่

เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีการปรับเปลี่ยนแนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศหรือฝุ่น PM2.5 ที่ค่อนมีรูปธรรมมากกว่าปีก่อนๆ และจังหวัดอื่น ๆ ในจังหวัดภาคเหนือด้วยกัน โดยเกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนมากขึ้น ซึ่งแนวทางส่วนหนึ่งสอดคล้องผลจากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการเคาท์ดาวน์ PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้ออกแบบภาพอันพึงประสงค์นั่นคือ “สมดุลราษฎร์-รัฐ” ที่กำหนดให้รัฐและประชาชนมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาในระดับเท่าเทียมกัน

การดึงภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียมาร่วมคิดและร่วมเสนอทางออกจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทำให้มองภาพอนาคตร่วมกัน และนำไปสู่การผลักดันแนวทางการแก้ปัญหาที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งการสัมมนาเชิงปฏิบัติการทั้ง 3 ครั้ง นำไปสู่การแบ่งกลุ่มทำงานเพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติให้มีความเป็นไปได้จริง 6 กลุ่ม โดยมีตัวอย่างความคืบหน้าที่น่าสนใจและจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการนำไปใช้แก้ปัญหา ดังนี้ 

กลุ่มที่ 1 การเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน ได้มีการประชุมหารือและประสานงานการจัดหาอุปกรณ์จากองค์กรต่าง ๆ ทั้งวิธีการจัดซื้อและการรับบริจาค การเลือกอุปกรณ์ที่ต้องมีมาตรฐานเดียว การลำดับความสำคัญของประเภทอุปกรณ์และสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟให้ตรงความต้องการที่แท้จริงของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งกระจายอุปกรณ์ไม่ให้กระจุกอยู่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่และชุมชนมีอุปกรณ์พร้อมสำหรับการดับไฟได้ทันสถานการณ์

กลุ่มที่ 2 การสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนัก คณะทำงานเห็นว่าสื่อกระแสหลักมักให้ความสนใจประเด็นมลพิษหรือฝุ่น PM2.5 เฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์เท่านั้น จึงมีการหารือระหว่างกลุ่มสื่อทางเลือกที่ให้ความสนใจกับปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อกำหนดประเด็นการสื่อสาร การเลือกช่องทางในการสื่อสาร รูปแบบและเนื้อหาในนำเสนอในสถานการณ์ฝุ่นควัน นอกจากนี้ทาง สสส.ได้ผลักดันให้มีการจัดทำแคมเปญรณรงค์เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศอีกด้วย

กลุ่ม 3 การทำแผนหมู่บ้าน สืบเนื่องจากชาวบ้านทำแผนไม่เป็น จึงต้องสนับสนุนการจัดทำแผนหมู่บ้าน ซึ่งได้กำหนดนำร่อง 35 ตำบล โดยแผนดังกล่าวจะสนับสนุนให้ชาวบ้านในพื้นที่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่สามารถลดการพึ่งพาไฟ โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งมีการกำหนดกรอบการจัดทำแผน ประกอบด้วย กลไกการจัดการระดับหมู่บ้าน ขอบเขตการจัดการพื้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิง แผนการจัดการพื้นที่ เชื้อเพลิง แนวกันไฟ ระบบข้อมูล ซึ่งในกรณีที่ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งจะพบว่าการทำแผนจะทำได้ง่ายขึ้น ท้องถิ่นที่ไม่เข้มแข็งการจัดทำแผนจะทำได้แค่หลวม ๆ ทั้งนี้ขนาดของพื้นที่สำหรับรองรับแผนของตำบลที่มีความกว้างขวางเป็นอุปสรรคต่อบริหารจัดการเชื้อเพลิงและการป้องกันไฟป่า ทำให้ในบางพื้นที่มีโอกาสเกิดแผนในระดับตำบล แต่จะยากสำหรับการเกิดแผนระดับหมู่บ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล

กลุ่ม 4 ศูนย์ข้อมูลวิชาการและการแก้ไขมลพิษทางอากาศ มีการเสนอให้ชื่อว่า “ศูนย์ข้อมูลวิชาการเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศแบบครบวงจร” ซึ่งจะเป็นการรวมกลุ่มเครือข่ายวิชาการจากมหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ และเชื่อมโยงการดำเนินงานกับศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ใช้ภาษาเข้าใจง่าย และหน่วยงานสามารถนำข้อมูลวิชาการที่น่าเชื่อถือไปใช้ประกอบการตัดสินใจแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างถูกต้องและสามารถลดความสับสนของข้อมูลได้ โดยเน้น 1) ความถูกต้องน่าเชื่อถือ 2) ความฉับไวทันเหตุการณ์ 3) ความครบถ้วนและผลกระทบ

กลุ่ม 5 เครือข่ายประชาสังคม 9 จังหวัดภาคเหนือ ทางสภาลมหายใจเชียงใหม่ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมจะเป็นแกนหลักประสานการขยายเครือข่ายความร่วมมือเพื่อให้เกิดสภาลมหายใจครบทั้ง 9 จังหวัด เพื่อเสริมพลัง-สานพลัง เครือข่ายภาคประชาสังคมของทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในการช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในนามสภาลมหายใจภาคเหนือ โดยได้มีการประสานงานกับเครือข่าย จ.แพร่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เพื่อจัดตั้งสภาลมหายใจในนามจังหวัดและมีการแจ้งประสานไปยังจังหวัดที่เหลือเพื่อรับทราบวัตถุประสงค์การรวมกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป

กลุ่มสุดท้าย กลุ่ม 6 แผน อปท. ที่ผ่านมาหน่วยภาครัฐจะเป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ และไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดการจัดทำแผนในการแก้ไขปัญหา จึงขาดงบประมาณสำหรับการจัดการไฟป่า รวมทั้งติดขัดในการใช้งบประมาณ เนื่องจากเกรงจะทำผิดระเบียบการใช้งบฯ ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยในปี 2564 ได้มีการผลักดันเพื่อทำความเข้าใจกับแต่ละ อปท.ให้มีการกำหนดงบประมาณไว้ในแผนและสามารถใช้งบประมาณสนับสนุนการแก้ปัญหาไฟป่าได้แล้ว

ตัวอย่างความคืบหน้า เช่น  องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนเงินงบประมาณ จำนวน 13,670,000 บาท ให้แก่มูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จ.เชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนงบฯ เพิ่มเติมให้กับหมู่บ้าน จำนวน 644 หมู่บ้านและอำเภอ จำนวน 24 อำเภอ

จะเห็นได้ว่าการดำเนินโครงการเคาท์ดาวน์ PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ โดยมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย (Scenario Thailand) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2563 เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ กล่าวคือมีการพัฒนารูปแบบ (โมเดล) เกิดการสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคเอกชน ในการพัฒนาแนวทางขับเคลื่อนเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ตลอดจนเห็นความสำคัญในการพัฒนาการสื่อสาร เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพ และสร้างความมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

 

 

 

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย