เคาะมาตรการแก้ฝุ่น PM2.5 ตั้งเป้าลดพื้นที่เผาป่าอนุรักษ์ป่าสงวน 50%

ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2566 ที่มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในปีงบประมาณ 2567 ประกอบด้วย การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และ “มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ปี 2567”

พร้อมทั้งมีมติเสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง เป็นกลไกการบริหารจัดการทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ เพื่อยกระดับมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทั้งการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่โล่ง และพื้นที่การเกษตร และหมอกควันข้ามแดน รวมถึงประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านแก้ปัญหาหมอกควันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ปี 2566 พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระยะสั้น เช่น การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากภาคเกษตร โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการเป็นการเร่งด่วน และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระยะยาว

อาทิ การเพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตรในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเห็นชอบ (ร่าง) รายงานสถานการณ์ดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปี 2566 และ (ร่าง) แผนการบริหารจัดการ EPI ของประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูล

สำหรับ ทส. ได้จัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง มีการรายงานสถานการณ์ประจำวัน และการคาดการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในทุกวัน ช่วงเวลา 14.00 น. ผ่านช่องทาง Facebook live ของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) และกระทรวงฯ เพื่อให้ประชาชนตรียมตัวและวางแผนล่วงหน้า พร้อมทั้งให้มีการรายงานกรณีพิเศษเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤต หรือ PM 2.5 ส่งผลกระทบร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม ภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง จะมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีเป้าหมาย ดังนี้

1) พื้นที่เผาไหม้ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน ลดลงร้อยละ 50

2) พื้นที่เกษตรกรรมเผาไหม้ ลดลงร้อยละ 50

3) ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ลดลงร้อยละ 40

4) จำนวนวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ลดลงร้อยละ 30

ข้อมูลสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดข้อมูลจากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS ประเทศไทยพบจุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 8 มี.ค. 2566 ทั้งสิ้น 70,339 จุด จังหวัดที่พบจุดความร้อนสะสมสูงสุดคือ จ.กาญจนบุรี 8,712 จุด ตามด้วย จ.ตาก 5,843 จุด และลำปาง 3,603 จุด พื้นที่ที่พบจุดความร้อนสะสมมากที่สุดคือพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 27,255 จุด

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร รายงานว่า ปี 2565 ไทยมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้เพียงร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศ หรือคิดเป็น 102,135,974.96 ไร่ ลดลดลงจากปี 2564 ประมาณร้อยละ 0.02 คิดเป็น 76,459.41 ไร่ อย่างไรก็ตามจากรายงานสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศตั้งแต่ปี  2556 – 2565 พบว่า มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ค่อนข้างจะคงที่

และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของไทยมีการลดลงต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) การเกิดจากปัญหาไฟป่า (Forest Fire) หรือการบุกรุกทำลายป่า เป็นต้น

นายบัณรส บัคลี่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ นำเสนอข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ไว้ตอนหนึ่งว่า การเผาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เกิดจากการชิงเผาของหน่วยงานภาครัฐ โดยที่ไม่มีอยู่แผนงบประมาณเปิดเผย แต่มีมาตรการแทรกอยู่ในงบดับไฟ เนื่องด้วยภาคเหนือเป็นป่าผลัดใบซึ่งเข้าใจว่าแต่ละป่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องจัดการไฟก่อนฤดู แต่ละปีมีโควต้าเป้าหมายการชิงเผา ซึ่งไม่เปิดเผยต่อสธารณะ ไม่เพียงเท่านั้นการชิงเผาส่วนใหญ่ก็ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการจริงๆ เช่น เผาลามกลางคืนในแปลงใหญ่ ซึ่งก่อผลกระทบสูง

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษฝุ่นภาคเหนือไม่เคยระบุสาเหตุปัญหาว่ามาจากการบริหารไฟของรัฐเลย ชี้ไปเฉพาะประชาชนลอบเผา หาของป่า ซึ่งเป็นแค่หนึ่งในสาเหตุรอง สถิติย้อนหลังชี้ว่า ไฟและรอยไหม้เกิดในป่าของรัฐ (ป่าสงวน+ป่าอนุรักษ์ 80%) แต่ไม่เคยมีชุดการบริหารจัดการไฟในพื้นที่ป่าของรัฐ ควรจะให้มีหน่วยงานและเปิดให้สังคมรับทราบ เปิดเผย โปร่งใส และมีส่วนร่วม รวมทั้งเพิ่มขั้นตอนในมาตรการให้เป็นไปตามหลักวิชาการ และคำนึงถึงผลกระทบต่อสาธารณะให้มากกว่าที่เคย

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่