PM2.5 ที่เพิ่มเพียง 1 มคก./ลบ.ม เสี่ยงกระตุ้นคนฆ่าตัวตาย

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาทั่วโลกมีจำนวนคนฆ่าตัวตายประมาณ 800,000 คนทุกปี และความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจะยิ่งสูงขึ้นเมื่อมีโรคประจำตัว เช่น เอชไอวี มะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคทางจิตเวช

ก่อนหน้านี้มีการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการสัมผัสกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะซึมเศร้าจากการอักเสบเรื้อรังและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมอง โดยขนาดที่เล็กของ PM2.5สามารถแทรกซึมเข้าไปในปอดและขัดขวางการไหลเวียนของออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดและสมอง

การศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประเมินผลของการสัมผัส PM2.5 ที่สูงขึ้นในระยะสั้น ส่งผลให้อาการทางจิตหลายประเภทแย่ลง จากจำนวนคนไข้ที่เข้าห้องฉุกเฉินทางจิตเวชและเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการพยายามฆ่าตัวตาย 

สหรัฐอเมริกา

นักวิจัยประเมินผลกระทบของมลพิษแต่ละชนิดต่ออัตราการฆ่าตัวตายทั่วสหรัฐอเมริกา โดยใช้ข้อมูลรายวันของจำนวนการฆ่าตัวตายจากศูนย์ควบคุมโรค (CDC) ข้อมูลสภาพอากาศรายวันจาก National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ข้อมูลมลพิษรายวันจากหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและ CDC และข้อมูลประชากรระหว่างปี 2546-2553

ผลลัพธ์ระบุ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ในแต่ละวันในช่วงหนึ่งปีจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 153.8 คนในปีนั้น เพิ่มขึ้น 0.49% จากค่าเฉลี่ยทั่วไป

นอกจากนี้ ยังสัมพันธ์กับจำนวนผู้การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 0.17% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปถึง 50%

ด้วยอัตราดังกล่าวทำให้ค่าเฉลี่ยการฆ่าตัวตายต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณ 0.09 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน แม้ว่าจำนวนนี้จะน้อยแต่นั่นก็หมายความว่า ในเขตที่มีประชากรหนึ่งล้านคน หากหนึ่งปีที่มีอากาศที่ไม่ดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น 11 วันจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายเพิ่มอีก 1 ราย

ผลกระทบดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นตามอายุ โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นเนื่องจากมลพิษทางอากาศ

วันที่มีมลพิษทางอากาศในระดับสูงยังพบว่าส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้ามากขึ้น นักวิจัยเสริมว่าในวันที่ความเข้มข้นมลพิษสูงควรเลี่ยงให้ผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายทำกิจกรรมกลางแจ้ง และอยู่ในอาคารที่มีระบบกรองหรือฟอกอากาศ น่าจะช่วยป้องกันได้ 

เกาหลี

จากการศึกษาฐานข้อมูลบริการประกันสุขภาพแห่งชาติของเกาหลี (NHIS) จากระบบตรวจวัดอากาศแห่งชาติ พบว่าการสัมผัส PM2.5 ระยะสั้นเพิ่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ในปี 2560 ความเข้มข้นเฉลี่ยของ PM2.5 อยู่ระหว่าง 16 – 113 มคก./ลบ.ม. การศึกษาพบช่วงวันที่ PM2.5 เข้มข้นสูงสุด (113 มคก./ลบ.ม.) ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มกว่าวันที่ระดับ PM 2.5 ต่ำสุดที่ (16 มคก./ลบ.ม.) ถึง 95%

ผลลัพธ์จากการศึกษาดังกล่าวถูกนำไปใช้เป็นพื้นฐานสำคัญในการพิจารณาสร้างระบบเตือนภัยมลพิษอากาศของเกาหลีเพื่อลดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพ

ที่มา

December 15, 2022. Suicide may be more common in areas worst hit by air pollution, new study reveals. Euronews

May 19, 2022. Association of short-term particulate matter exposure with suicide death among major depressive disorder patients: a time-stratified case-crossover analysis. Nature.com

June 17, 2021. Suicide. WHO

Related posts

‘สารเคมีตลอดกาล’ ภัยร้ายคุกคาม ทุกอณูบนโลก อยู่ในทุกผลิตภัณฑ์ที่ใช้

ค่าฝุ่นปากีสถานทะลุ 1,900 รั้งอันดับโลก อ้างพัดข้ามพรมแดนจากอินเดีย

ข้อบัญญัติใหม่ กทม. ไม่แยกขยะเก็บ 60 บาท/เดือน แยกขยะจ่าย 20 บาท