PM 2.5 ตัวการก่อมะเร็ง วิกฤตที่ถูกมองข้าม

คนไทยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเป็นอันดับสอง โดยกรมการแพทย์แนะนำสังเกตสัญญาณเตือน หากไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ควรพบแพทย์

งานวิจัยระบุว่าคนไทยเสียชีวิตจากฝุ่น PM2.5 ประมาณ 70,000 คนต่อปี ขณะที่องค์การอนามัยโลกพบว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 สูงเป็น 4 เท่าของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทางบก

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบกำหนดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ใหม่ จากค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ปรับลดลงเป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2566 และค่าเฉลี่ยรายปีจากเดิม 25 มคก./ลบ.ม. ปรับลดลงเป็น 15 มคก./ลบ.ม. มีผลบังคับใช้หลังประกาศราชกิจจานุเบกษา

สถานการณ์มะเร็งปอดในไทย 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  เผยว่า มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย (เป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง) แต่การตรวจคัดกรองโรคในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราการตายสูง ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการสูบบุหรี่ รวมถึงยามวนต่างๆ ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 เท่า รวมถึงผู้ที่ดมควันบุหรี่จากที่ผู้อื่นสูบก็มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป เพราะในควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด

นอกจากนี้ คนที่ได้รับแร่ใยหิน (แอสเบสตอส) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค ฉนวนกันความร้อน ผู้ที่มีความเสี่ยงคือ ผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแอสเบสตอสปนเบื้อนเป็นเวลานาน อาจใช้เวลา 15-35 ปี ในการทำให้เกิดมะเร็งปอด สำหรับผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ทำงานกับฝุ่นแอสเบสตอส อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า

ขณะที่สาเหตุอื่น ๆ เช่น จากมลภาวะอย่างฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 สารเบนซิน ฟอร์มัลดีไฮด์ เป็นต้น ผู้ป่วยมะเร็งปอดจำนวนมากไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่ หรือแอสเบสตอส มาก่อน ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการคัดกรองโรคมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมักจะเป็นโรคในระยะที่ลุกลามแล้ว ทำให้การตรวจพบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราเสียชีวิตสูง วิธีป้องกันที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

นพ.สุวรรณชัย ยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ใน 19 จังหวัดเกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยหากได้รับในปริมาณมากระยะยาวจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรง ทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งได้ เมื่อฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย นอกจากฝุ่น PM2.5 จะทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายแล้ว ยังเข้าไปทำลายระบบต่าง ๆ ในเซลล์ของปอด ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ในระยะยาว อีกทั้ง PM2.5 ยังมีองค์ประกอบของสารเคมีบางชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ของสารอินทรีย์ไม่สมบูรณ์ พบในเขม่าควันไฟ รวมถึงควันที่เกิดจากน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดมะเร็งปอด

ด้าน นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า อาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งปอด ได้แก่ ไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือมีปอดติดเชื้อซ้ำซาก ซึ่งจริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งปอด แต่อาจพบในโรคอื่นได้ เช่น วัณโรคปอด หากมีอาการสงสัยต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม 

อย่างไรก็ดี หลังจากภาคประชาชนได้เรียกร้องให้มีการปรับค่ามาตรฐานฝุ่นมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็ได้เห็นชอบกำหนดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ใหม่ จากค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ปรับลดลงเป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 และค่าเฉลี่ยรายปีจากเดิม 25 มคก./ลบ.ม. ปรับลดลงเป็น 15 มคก./ลบ.ม. โดยจะมีผลบังคับใช้ในทันทีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ระบุว่า มลพิษอากาศโดยเฉพาะจาก PM2.5 ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยองค์การอนามัยโลก ได้ประมาณการณ์ในปี 2559 ว่า ไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดซึ่งมีสาเหตุมาจากมลพิษอากาศถึง 6,330 ราย สำหรับการเจ็บป่วยพบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2563 พบรายงานผู้ป่วยมะเร็งปอด 122,104 ราย คิดเป็น 186.26 ต่อแสนประชากร

องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2556 ว่า PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่หนึ่งของสารก่อมะเร็ง ซึ่งผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพ มีทั้งผลระยะสั้น ได้แก่ ระคายเคืองตา คอ และจมูก หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ ไอ แน่นหน้าอก เหนื่อย โรคหืดหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบ หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ และผลระยะยาว ได้แก่ การเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืด ภูมิแพ้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ปอดเป็นพังผืด มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เด็กคลอดก่อนกำหนด ผลต่อการเจริญเติบโตของปอดในเด็ก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในอนาคต โดยปกติแล้วปอดมนุษย์จะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 25 ปี หากมีสารพิษกระทบในช่วงเจริญเติบโตของปอดจะส่งผลเสียต่อสมรรถภาพการทำงานของปอดในระยะยาว

นอกจากนี้ อาจถึงขั้นการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทุกระดับค่า PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 มคก./ลบ.ม. โดยเสียชีวิตจากมะเร็งปอดร้อยละ 15-21 และโรคหัวใจร้อยละ 12-14  อีกทั้ง PM2.5 ยังส่งผลให้การออกกำลังในผู้ใหญ่ลดลง รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ในเด็ก และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอีกด้วย

ข้อมูลจากหลายหน่วยงานหลายสถาบันตอกย้ำว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นสาเหตุที่มีความเชื่อมโยงกับการป่วยมะเร็งปอดและโรคอื่น ๆ ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ดังนั้น ตัวเลขความสูญเสียจากฝุ่นพิษในแต่ละปีน่าจะช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ถึงต้นตอของปัญหาได้เป็นอย่างดี และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรต้องลงมือแก้ปัญหามลพิษอากาศอย่างจริงจังเสียตั้งแต่วันนี้

เรียบเรียงข้อมูลจากบทความ ‘ฝุ่น PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็ง เสี่ยงเสียชีวิตสูง ตายปีละ 7 หมื่นคนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส

https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/ฝุ่น-pm2-5-เป็นสารก่อมะเร็งเสี่ยงเสียชีวิตสูงตายปีละ-7-หมื่นคน

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด