ถกแก้ปัญหาขยะพลาสติกผลักดันสนธิสัญญาระดับโลกคุมการผลิตและเพิ่มการรีไซเคิล

ผู้แทนจาก 193 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ จะเข้าร่วมประชุมด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UN) ทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.ถึง 2 มี.ค.นี้ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เพื่อเตรียมการในการยกร่างสนธิสัญญาระดับโลกฉบับแรกว่าด้วยการต่อต้านขยะพลาสติก

อิงเกอร์ แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (Unep) กล่าวว่า ข้อตกลงในการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติอาจเป็นสนธิสัญญาพหุภาคีที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่ข้อตกลงด้านสภาพอากาศของกรุงปารีสในปี 2015 ซึ่งประเทศสมาชิกอาจเห็นพ้องในการออกพิมพ์เขียวสำหรับสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการควบคุมพลาสติกจากต้นทางสู่ทะเล

เป้าหมายหลักของการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมครั้งนี้คือการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC) เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อตกลงขั้นสุดท้าย หากรัฐสมาชิกสามารถตกลงในกรอบการทำงานได้ INC จะเจรจาสนธิสัญญาขั้นสุดท้ายเพื่อลงนามโดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยในอีกสองปีข้างหน้า

ทั่วโลกทราบดีว่าทุกวันนี้ขยะพลาสติกรีไซเคิลได้เพียง 9% จากทั้งหมด และก่อให้เกิดมลพิษ โดยเฉพาะการแตกตัวเป็นอนุภาคเล็ก ๆ หรือไมโครพลาสติกเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีไมโครพลาสติกอยู่ทั่วไปตั้งแต่พื้นทะเลลึกไปจนถึงภูมิภาคอาร์กติก

“ตั้งแต่ปี 1950 จนถึงปัจจุบัน เราได้ผลิตไปแล้วประมาณ 9,000 ล้านตัน และ 76% จบลงด้วยการฝังกลบหรือมหาสมุทร และส่วนที่เหลือจะถูกเผาจนเกิดมลพิษและคาร์บอนไดออกไซด์” แอนเดอร์สันกล่าวและว่า ในทุกปีมีการผลิตพลาสติกใหม่ประมาณ 400 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าภายในปี 2040 หากสหประชาชาติไม่สามารถหาทางควบคุมการผลิตและการใช้จะทำให้พลาสติกในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น 4 เท่าภายในปี 2050 และจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในวงกว้าง

การประชุมในครั้งนี้ต้องการเห็นข้อตกลงที่ครอบคลุมวงจรชีวิตทั้งหมดของพลาสติก ไม่ใช่แค่ขยะในทะเล แต่รวมถึงการเฝ้าติดตามและกำหนดเป้าหมาย โดยมีองค์ประกอบทางการเงินช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนารีไซเคิลขยะพลาสติกได้ การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้รีไซเคิลได้ หรือข้อจำกัดในการผลิตพลาสติกชนิดใหม่ หรือการเลิกใช้ผลิตภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

“สิ่งที่น่าสนใจคือมีซีอีโอ 90 คนลงทะเบียนเรียกร้องข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งรวมถึง PepsiCo และ Coca-Cola และ Procter & Gamble และ Unilever รวมทั้งมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงนั้น โดยเฉพาะผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ที่สุดของโลกบางรายก็แสดงการสนับสนุนต่อสนธิสัญญานี้

อ้างอิง:
Karen McVeigh (Feb 25 2022) “Plastic summit could be most important green deal since Paris accords, says UN” . The Guadian
Jonathan Chadwick and AFP (Feb 25 2022) “‘One for the history books’: An ambitious global treaty to tackle plastic waste will be hammered out next week by the UN – as research reveals just 10% is currently recycled” . Dailymail
(Feb 26 2022) “UN to agree on plan for ‘historic’ plastics treaty” . France24

Related posts

ถ้าเจรจา ‘สนธิสัญญาพลาสติก’ สะดุด ขยะพลาสติกจะทะลักภายใน 10 ปี

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน