นักวิทย์ค้นพบเชื้อราย่อยสลายพลาสติก อาวุธช่วยกำจัดขยะมหาสมุทร

นักวิทยาศาสตร์ในเยอรมนีค้นพบชนิดของแบคทีเรียและเชื้อราที่สามารถสลายพลาสติกสังเคราะห์ได้ ซึ่งอาจเป็นอาวุธใหม่ในการต่อสู้กับมลพิษพลาสติกทั่วโลก

ทีมงานที่สถาบัน Leibniz ซึ่งทำการวิจัยนิเวศวิทยาน้ำจืดและการประมงน้ำจืดในเบอร์ลินค้นพบว่า เชื้อราไมโครบางชนิดสามารถอยู่รอดได้โดยอาศัยพลาสติกเพียงอย่างเดียว และสามารถทำให้พลาสติกสลายเป็นรูปแบบที่ง่ายขึ้น

แม้ว่านี่จะเป็นความก้าวหน้าอันน่าพอใจ โดยเฉพาะในการจัดการกับมลพิษพลาสติกในมหาสมุทร แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า นี่อาจไม่ใช่ทางแก้ปัญหาได้ทั้งหมด

การวิจัยเชื้อราไมโครในทะเลสาบ Stechlin ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเยอรมนีสามารถเจริญเติบโตได้บนพอลิเมอร์สังเคราะห์โดยไม่ต้องอาศัยแหล่งคาร์บอนอื่น

“ผลการค้นพบที่น่าประหลาดใจที่สุดของเราคือ เชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้เฉพาะบนพอลิเมอร์สังเคราะห์บางชนิดและแม้กระทั่งสร้างชีวมวลได้” Hans-Peter Grossart นักวิจัยหลักกล่าวกับ Reuters

นักวิจัยกล่าวว่า ความสามารถของเชื้อราในการสลายพลาสติกอาจพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการมีอยู่ของวัสดุสังเคราะห์ที่มีจำนวนมากในสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในการสลายโพลียูรีเทน ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้กันทั่วไปในผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ตามรายงานของ Reuters ระบุว่า เชื้อรา 4 ชนิดจาก 18 ชนิดที่ทีมงานสถาบัน Leibniz ศึกษา พบว่า มีความ “หิวโหย” ซึ่งหมายความว่าสามารถย่อยพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโพลียูรีเทน

เชื้อราเหล่านี้ถือเป็นความหวังในการแก้ปัญหามลพิษพลาสติก แต่ไม่ใช่ทางออกที่ครอบคลุมสำหรับปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี เนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกด้วย เช่น อุณหภูมิที่เหมาะสม หรือสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้อย่างเช่น โรงบำบัดน้ำเสีย แต่การย่อยสลายของเชื้อราอาจไม่มีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ

นั่นเท่ากับเราต้องลดปริมาณขยะพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อมด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตที่สลายพลาสติกเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์มาหลายปีแล้ว จนถึงปัจจุบันพบเชื้อราและแบคทีเรียมากกว่า 400 สายพันธุ์ที่สามารถสลายพลาสติกได้ และอาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะล้นโลก

เมื่อปีที่แล้ว การศึกษาเผยแพร่ในวารสาร Journal of Hazardous Materials โดยนักวิจัยจาก Royal Botanic Gardens, Kew, London ระบุว่า พวกเขาได้ระบุสายพันธุ์เชื้อรา 184 ชนิดและแบคทีเรีย 55 ชนิดที่สามารถสลายโพลีคาปโรแลคโตน ซึ่งเป็นโพลีเอสเตอร์ที่ย่อยสลายได้และใช้กันทั่วไปในการผลิตโพลียูรีเทน

จากการศึกษาครั้งใหม่นี้ระบุว่า ไมโครไบโอมที่หลากหลายของเชื้อราและแบคทีเรียสามารถสลายพลาสติกในพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศจีน โดยเชื้อราและแบคทีเรียสามารถสลายโพลีคาปโรแลคโตน (PCL) ซึ่งเป็นโพลีเอสเตอร์ที่ใช้ในการผลิตโพลียูรีเทนหลายชนิด

การวิจัยครั้งนี้มีการเก็บตัวอย่างในเดือน พ.ค. 2021 ในพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองโดย UNESCO ใกล้กับชายฝั่งทะเลเหลือง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จาก Kew และพันธมิตรเชื่อว่าการค้นพบล่าสุดนี้อาจนำไปสู่การพัฒนาเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพในการสลายขยะพลาสติกทางชีวภาพ

ศาสตราจารย์ Steve Fletcher ผู้อำนวยการสถาบัน Revolution Plastics ที่มหาวิทยาลัย Portsmouth กล่าวว่า วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการกับมลพิษคือข้อตกลงการลดการผลิตพลาสติกในระดับโลกอย่างมีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งในเดือน ธ.ค.ปีนี้จะมีการเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาพลาสติกระดับโลกฉบับแรกในการประชุมที่เกาหลีใต้

สนธิสัญญาดังกล่าวจะสามารถสร้างแนวทางสำหรับวิธีที่โลกจะจัดการกับภูเขาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไมโครพลาสติกที่ได้แทรกซึมเข้าสู่ทุกสิ่งตั้งแต่มหาสมุทรลึกที่สุดไปจนถึงแหล่งอาหารและอวัยวะภายในของมนุษย์

อนึ่ง การผลิตพลาสติกทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1.7 ล้านตันในปี 1950 เป็น 400 ล้านตันในปี 2022 ตามข้อมูลของ Statista และแม้จะมีความพยายามเพิ่มขึ้น แต่มีพลาสติกทั่วโลกเพียง 9% เท่านั้นที่ได้รับการรีไซเคิล

อ้างอิง:
August 09, 2024 . Scientists discover plastic-eating fungi that could help clean up world’s oceans . Independent
May 17, 2023 . Plastic-eating fungi thriving in man-made ‘plastisphere’ may help tackle global waste . Phys

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน