โลกจะไม่สามารถรับมือปริมาณขยะพลาสติกมหาศาลได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า หากประเทศต่างๆ ไม่เห็นพ้องลดการผลิตพลาสติก และบรรลุข้อตกลงภายในสัปดาห์หน้า
ก่อนการเจรจารอบสุดท้ายที่สำคัญของสหประชาชาติเพื่อจัดทำ “สนธิสัญญาระดับโลกฉบับแรกเกี่ยวกับการยุติขยะพลาสติก” หรือที่เรียกว่าสนธิสัญญาพลาสติก (Global Plastic Treaty) ของสหประชาชาติ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พ.ย.ถึง 1 ธ.ค. 2567 ณ เมืองปูซาน เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการประชุมรอบสุดท้ายจากก่อนหน้านี้มีการประชุมมาแล้ว 4 รอบในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก
แอนน์ บีทเท ทวินเนอเรียม รัฐมนตรีด้านการพัฒนาระหว่างประเทศของนอร์เวย์ ยอมรับถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศผู้ผลิตพลาสติกและประเทศอื่นๆ ที่แตกออกเป็นสองฝ่าย โดยเธอเป็นตัวแทนของกลุ่มประเทศ “ความทะเยอทะยานสูง” กว่า 60 ประเทศ ซึ่งนำโดยรวันดาและนอร์เวย์ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตพลาสติก โดยเฉพาะการลดการผลิตอย่างเข้มงวด
แม้ว่า “สนธิสัญญาที่สมบูรณ์แบบ” อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการคัดค้านอย่างหนักแน่นจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันซึ่งเป็นฝ่ายที่คัดค้านการลดกำลังการผลิตอย่างเข้มข้นมาต่อเนื่อง (เม็ดพลาสติกเกิดจากการนำน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติมาผ่านกระบวนการกลั่นและ Polymerization เพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น PE PP PS และ PET เป็นต้น) แต่เธอยังหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงที่สามารถปรับปรุงและเสริมความแข็งแกร่งได้ในอนาคต
“เราอาจไม่ได้สนธิสัญญาพลาสติกที่สมบูรณ์แบบ แต่เราต้องก้าวหน้าไปให้ไกลกว่านี้ และฉันคิดว่าเราจะทำได้ ฉันเลือกที่จะมีความหวัง” ทวินเนอเรียมกล่าว
ในปีนี้นักวิจัยหลายกลุ่มพบไมโครพลาสติกในตัวอย่างรกทุกชิ้นที่ตรวจสอบ ในหลอดเลือดแดงของมนุษย์ที่พลาสติกมีความเชื่อมโยงกับภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงในอัณฑะและอสุจิของมนุษย์ ซึ่งเพิ่มหลักฐานเกี่ยวกับการแพร่กระจายของขยะพลาสติกและความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ วิกฤตพลาสติกได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพมนุษย์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสภาพภูมิอากาศ
สองปีหลังจากที่ 175 ประเทศได้บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เพื่อรับรองกรอบการเจรจาสำหรับสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระดับโลกเพื่อจัดการกับวงจรชีวิตของพลาสติกในทุกขั้นตอน ผู้แทนยังคงมีความเห็นต่างกันอย่างมากเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหา โดยมีเส้นตายที่ใกล้เข้ามา ความคืบหน้าชะงักงันจากข้อพิพาทเรื่องความจำเป็นในการลดขนาดอุตสาหกรรมพลาสติกมูลค่า 712 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การประชุมครั้งล่าสุดในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ไม่สามารถตกลงกันได้ในการกำหนดเป้าหมายการผลิต ซึ่งถือว่าเป็นกุญแจสำคัญในการลดขยะพลาสติกให้อยู่ในจุดสำคัญของสนธิสัญญา
“แน่นอนว่าเราต้องเพิ่มการรีไซเคิลและการจัดการขยะ แต่ถ้าเราไม่ลดการผลิตและการบริโภค เราจะไม่สามารถรับมือกับปริมาณพลาสติกในระบบได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า” ทวินเนอเรียมกล่าว
การใช้พลาสติกทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นสามเท่าภายในปี 2603 (ค.ศ. 2060) โดยคาดว่าการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ของซาฮาราและเอเชีย ปริมาณขยะพลาสติกก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสามเท่าในช่วงเวลาเดียวกัน โดยครึ่งหนึ่งจะถูกฝังกลบ และน้อยกว่าหนึ่งในห้าจะถูกรีไซเคิล
ข้อตกลงเกี่ยวกับการ “ยุติการใช้” ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single use Plastics) ที่ระบุไว้ในรายการทั่วโลก รวมถึงการห้ามใช้สารเคมีอันตรายในพลาสติก เช่น พลาสติกที่ใช้กับบรรจุภัณฑ์อาหารและของเล่นเด็ก ถือเป็นสิ่งที่ “ไม่ต้องคิดมาก” ทวินเนอเรียมกล่าว โดยหลายประเทศได้ออกกฎหมายห้ามพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในระดับประเทศแล้ว
อย่างไรก็ตาม การเจรจาที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งสะท้อนมุมมองที่แตกต่างกัน โดยประเทศที่มีอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่ เช่น ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และอิหร่าน ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นกลุ่ม “เอกฉันท์” ได้บ่ายเบี่ยงการลดการผลิต และเน้นการจัดการขยะเป็นวิธีแก้ปัญหาหลักสำหรับวิกฤตนี้ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องแบกรับผลกระทบจากการผลิตพลาสติกเกินความจำเป็นซึ่งล้นเกินระบบจัดการขยะที่ไม่เพียงพอ กำลังเรียกร้องให้มีการลดการผลิตพลาสติกในระดับโลก
ความไม่แน่นอนที่ส่งผลกระทบต่อการเจรจาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจุดยืนของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อไม่นานมานี้ สหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณว่าสนับสนุนสนธิสัญญาที่เรียกร้องให้จำกัดการผลิตพลาสติก แต่การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอย่างเต็มตัวในเดือน ม.ค. ที่จะถึงนี้ทำให้เกิดข้อกังขา
ทวินเนอเรียมกล่าวว่า สหรัฐฯ จะได้รับการต้อนรับอย่างสูงหากเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรนี้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสสำหรับจีนและประเทศอื่นๆ ที่จะแสดงบทบาทความเป็นผู้นำในเรื่องนี้
ผู้เจรจาจากหนึ่งในประเทศที่มี “ความทะเยอทะยานสูง” กล่าวว่า “หากเราสามารถเห็นจีนก้าวเข้ามามีบทบาท อย่างที่พวกเขาเคยทำในด้านอื่นๆ และในประเทศของตนเอง เราก็มีโอกาสดีที่จะสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพได้ แต่ถ้าไม่ เราจะเผชิญกับความยากลำบากอย่างมาก”
อย่างไรก็ตาม ก่อนนี้เมื่อวันที่ท 13 พ.ย. ที่ผ่านมา มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และสมาคมแทรชฮีโร่ไทยแลนด์ ในนามตัวแทนของ 160 องค์กรภาคประชาสังคม ยื่นข้อเรียกร้องถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านนายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ ให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งในการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก
แถลงการณ์ของกลุ่มได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืน 10 ประการ ดังนี้
1) ลดการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนต่อการบริโภคและสิ่งแวดล้อม ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก และสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้
2) กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
3) กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน
4) กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายและขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น ขยายระบบใช้ซ้ำ การเติม และการซ่อมแซม รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่กระบวนรีไซเคิลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ได้จริงภายในประเทศ ครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติก และค่าความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
5) กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก สู่สาธารณะ
6) กำหนดให้มีมาตรฐานสากลในการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกแต่ต้นทาง การห้ามเผาขยะพลาสติก การกำหนดมาตรฐานการจัดการขยะที่เข้มงวด รวมไปถึงการรีไซเคิลและการผลิตพลังงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
7) ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น
8) ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา
9) กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก
10) กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึงชุมชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สำหรับการประชุมสนธิสัญญาพลาสติกรอบสุดท้ายในครั้งนี้ มีที่มาจากเดือน มี.ค. 2565 ที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (UNEA-5.2) ได้มีมติครั้งประวัติศาสตร์ในการรับรองญัตติด้านการจัดการมลพิษจากขยะพลาสติก และนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee : INC) ในการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล
คณะกรรมดังกล่าวมีผู้แทนจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติเข้าร่วม มีพันธกิจในการพัฒนาเครื่องมือจัดการมลพิษพลาสติก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามแนวทางแบบองค์รวมครอบคลุมวัฏจักรชีวิต (life cycle) ทั้งหมดของพลาสติก ตั้งแต่การผลิต การใช้ และการกำจัดขยะพลาสติก โดยมีการประชุมทั้งหมด 5 ครั้ง กำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ก่อนเสนอเพื่อรับรองมาตรการที่เสร็จสมบูรณ์ในการประชุมผู้แทนรัฐบาลรัฐสมาชิก (Diplomatic Conference) ภายในปี 2568
โดยเมื่อเดือน ก.พ. 2567 มีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรก (INC-1) ระหว่างวันที่ 28 พ.ย.ถึง 2 ธ.ค. 2566 ที่เมืองปุนตา เด เลสเต ประเทศอุรุกวัย ครั้งที่ 2 (INC-2) ระหว่างวันที่ 29 พ.ค.ถึง 2 มิ.ย. 2566 ที่กรุงปารีสฝรั่งเศส และครั้งล่าสุด (INC-3) ระหว่างวันที่ 13 – 19 พ.ย. 2566 ที่กรุงไนโรบี เคนยา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ UNEP ครั้งที่ 4 (INC-4) ระหว่างวันที่ 21 – 30 เม.ย. 2567 ที่กรุงออตตาวา แคนาดา และครั้งสุดท้าย (INC-5) ระหว่างวันที่ 25 พ.ย. ถึง 1 ธ.ค. 2567 ที่เมืองปูซาน เกาหลีใต้ ซึ่งไทยมีกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้แทนหลักในการเข้าการเจรจา
อ้างอิง:
https://www.theguardian.com/environment/2024/nov/24/world-unable-cope-10-years-talks-un-global-treaty-to-end-plastic-waste