3 กรกฎาคมวันปลอดถุงพลาสติกสากลถึงเวลาทั่วโลกต้องร่วมมือกำจัดมลพิษพลาสติก

เชื่อว่ามีพลาสติกมากกว่า 5 ล้านล้านชิ้นอยู่ในมหาสมุทรของโลก และไม่มีใครตอบได้ว่ามันจะสลายตัวหรือหายไปเมื่อไหร่ นั่นเพราะมนุษย์ผลิต ใช้และทิ้งพลาสติกทุกวัน โดยในแต่ละปีมีการผลิตพลาสติกมากถึง 400 ล้านตัน และ 40% เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ในแต่ละปีมีพลาสติกมากกว่า 8 ล้านตันลงสู่มหาสมุทร ซึ่งส่วนใหญ่ไหลมาจากแม่น้ำสายหลักของโลก แม้มันจะใช้เวลาในการย่อยสลาย 450-500 ปี แต่ก็พบว่ามีอนุภาคไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ของโลก แม้กระทั่งถูกพบเจอบนยอดเขาเอเวอเรสต์ และล่าสุดมีการวิจัยพบในกระแสเลือดของมนุษย์เป็นครั้งแรก

ขยะพลาสติกจึงเป็นหายนะภัยของมนุษยชาติอย่างมิต้องสงสัย

กรกฎาคมถูกกำหนดให้เป็นเดือนแห่งการปลอดพลาสติก (Plastic Free July) เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคลดการใช้พลาสติกตลอดทั้งเดือน ผ่านการสร้างวิถีชีวิตในรูปแบบใหม่ที่ผู้บริโภคงดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันหรือใช้ลดน้อยลงตลอดทั้งเดือน

โดยในปี 2020 องค์กร Plastic Free Foundation คาดว่ามีผู้คนเข้าร่วมโครงการรณรงค์นี้มากถึง 326 ล้านคนจาก 177 ประเทศทั่วโลก
Plastic Free July เป็นขบวนการที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2011 ได้ดึงดูดผู้คนเข้าร่วมจำนวนมากตั้งแต่นั้นมา โดยต่างก็ตระหนักว่าขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในสาเหตุการทำลายระบบนิเวศและอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์

นอกจากนี้แล้วในวันที่ 3 กรกฎาคม ของทุกปี ยังเป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล (International Plastic Bag Free Day) ที่กำหนดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีต้นเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2022 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ได้รับรองมติครั้งประวัติศาสตร์จากการประชุมสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติในกรุงไนโรบีเพื่อยุติมลพิษพลาสติกซึ่งครอบคลุมวงจรชีวิตทั้งหมดของพลาสติก ทั้งการผลิต การออกแบบ และการกำจัด

นี่คือสนธิสัญญาพลาสติกระดับโลกที่จะกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการกำจัดพลาสติก เพื่อยุติมลพิษพลาสติกในอนาคต

องค์กรการกุศลเพื่อการอนุรักษ์ WWF กล่าวถึงการตัดสินใจดังกล่าวว่า เป็นหนึ่งในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมที่ทะเยอทะยานมากที่สุดในโลกนับตั้งแต่พิธีสารมอนทรีออลปี 1989 ซึ่งได้ยกเลิกการใช้สารทำลายโอโซน

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหลังจากนี้? บรรดาผู้นำโลกมีเวลาจนถึงปี 2024 ที่จะตกลงในสนธิสัญญามลพิษพลาสติก ซึ่งรวมถึงองค์ประกอบที่จะมีผลผูกพันทางกฎหมายและการจัดหาเงินทุนจากข้อตกลงดังกล่าวเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกของประเทศต่าง ๆ ด้วย

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย