นักวิทยาศาสตร์คิดค้น “พลาสติกชนิดใหม่” ที่มีความแข็งแรงและสามารถย่อยสลายได้ในน้ำทะเลได้ ถ้าผลิตจริงจะช่วยกำจัดไมโครพลาสติก
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัย RIKEN Center for Emergent Matter Science (CEMS) จากประเทศญี่ปุ่น นำโดย ทาคุโซะ ไอด้า (Takuzo Aida) สามารถคิดค้นนวัตกรรมแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างน่าพึงพอใจ โดยผลการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา ในวารสาร Scienceได้นำเสนอ “พลาสติกชนิดใหม่” ที่มีความแข็งแรงและสามารถย่อยสลายได้ในน้ำทะเลได้
นั่นหมายความว่าพลาสติกชนิดนี้จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาขยะไมโครพลาสติกที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นในมหาสมุทร และระบบนิเวศ
ทีมของไอด้าพัฒนาพลาสติกประเภท ซูปราโมเลกุล (supramolecular plastics) โดยการผสมไอออนิกโมโนเมอร์ (ionic monomers) สองชนิดจนเกิดพลาสติกชนิดใหม่ที่ทั้งแข็งแรงและยืดหยุ่น ตอบโจทย์ปัญหาขยะพลาสติกในปัจจุบัน
ในการทดลองครั้งแรกทีมงานสามารถผลิตพลาสติกที่มีความแข็งและยืดหยุ่น สามารถปรับแต่งตามความต้องการได้ ทนต่อรอยขีดข่วน และที่สำคัญสามารถย่อยสลายในน้ำเกลือได้
นอกจากนั้น พลาสติกชนิดใหม่นี้ไม่มีพิษ ไม่ติดไฟ ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสามารถรีไซเคิลขึ้นรูปใหม่ได้ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 120 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับเทอร์โมพลาสติกชนิดอื่นๆ อีกทั้งเมื่อทดลองนำไปฝังดินก็สามารถย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ภายในเวลา 10 วัน ทำให้ดินได้รับฟอสฟอรัสและไนโตรเจนคล้ายกับปุ๋ยอีกด้วย
ไอดะ กล่าวว่า “ด้วยวัสดุชนิดใหม่นี้ เราจึงสามารถสร้างพลาสติกตระกูลใหม่ที่มีความแข็งแรง ทนทาน รีไซเคิลได้ ทำหน้าที่ได้หลายอย่าง และที่สำคัญคือไม่ก่อให้เกิดไมโครพลาสติก” ทว่าการวิจัยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น จะต้องมีการพัฒนาเพื่อให้มีต้นทุนต่ำเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลายในอนาคต
อ้างอิง:
New type of plastic is recyclable and fully dissolves in ocean water By Rodielon Putol, Earth
Nov 21, 2024 . Goodbye Microplastics: New Recyclable Plastic Breaks Down Safely in Seawater By RIKEN ScitechDaily