ขึ้นปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ฝรั่งเศสเริ่มสิ่งใหม่ ๆ เพื่อโลกทันที เมื่อกฎหมายฉบับใหม่ห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในผักและผลไม้หรือการใช้พลาสติกแรปห่อมีผลบังคับใช้แล้ว
คำสั่งแบนนี้มีผลครอบคลุมผัก และผลไม้ 30 ชนิดที่ห้ามไม่ให้ห่อด้วยพลาสติก รวมถึงแตงกวา กีวี มะนาว และส้ม ซึ่งมักใช้พลาสติกบางห่อหรือแรปเอาไว้เป็นลูก ๆ เวลานำไปวางจำหน่าย (plastic wrap เป็นฟิล์มพลาสติกบางใสใช้ห่อหุ้มอาหารช่วยคงความสดให้นานขึ้น)
ส่วนบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ 1.5 กิโลกรัมขึ้นไป รวมทั้งผลไม้ที่ตัดแต่งพร้อมรับประทาน หรือแปรรูปจะได้รับการยกเว้น แต่มันเป็นการยกเว้นที่มีอายุไม่ยืนยาวนัก เพราะในอนาคตฝรั่งเศสคงไม่ปล่อยไว้แน่ ๆ
บางพันธุ์รวมทั้งมะเขือเทศ เชอร์รี่ หรือผลไม้เนื้ออ่อน เช่น ราสเบอร์รี่ และบลูเบอร์รี่ จะได้รับการยกเว้นไปก่อน เพื่อให้ผู้ผลิตหาทางเลือกอื่นแทนพลาสติก ก่อนที่จะเลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกกับผัก และผลไม้ทั้งหมดภายในปี 2569
กระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ฝรั่งเศสใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมหาศาล และคำสั่งห้ามนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง และส่งเสริมการทดแทนด้วยวัสดุอื่น หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และรีไซเคิลได้
คาดว่าผลิตภัณฑ์ผัก และผลไม้มากกว่าหนึ่งในสามในฝรั่งเศสถูกขายในห่อพลาสติก ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเชื่อว่าการสั่งห้ามดังกล่าวสามารถป้องกันการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้หลายพันล้านชิ้นทุกปี
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เรียกคำสั่งห้ามดังกล่าวว่า เป็น “การปฏิวัติที่แท้จริง” และกล่าวว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศที่จะเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2583 (ค.ศ. 2040)
คำสั่งห้ามดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระยะยาวที่รัฐบาลมาครงเสนอขึ้น เพื่อทะยอยลดการใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายวันที่ไร้พลาสติกใช้ครั้งเดียวโดยสิ้นเชิง
การสำรวจของ Ifop ของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศฝรั่งเศสในปี 2562 พบว่าประชาชน 85% เห็นด้วยกับการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก และบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
นอกจากฝรั่งเศสแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านคือ สเปนจะเริ่มห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับผัก และผลที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัมตั้งแต่ปี 2566
นี่เป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะกลุ่มนักนิเวศวิทยาอ้างว่า สเปนเป็นผู้ก่อมลพิษพลาสติกรายใหญ่เป็นอันดับสองในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนรองจากตุรกี
ชาวสเปนทิ้งพลาสติกในประเทศจำนวน 900,000 ตันลงในถังขยะในปี 2563 แต่มีเพียง 2 ใน 3 เท่านั้นที่นำกลับมาใช้ใหม่
ส่วนในอังกฤษจากผลโพลของ Friends of the Earth และ City to Sea ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้วพบว่า ชาวอังกฤษเกือบสามในสี่เคยประสบกับ “ความวิตกกังวล หงุดหงิด หรือสิ้นหวัง” กับปริมาณพลาสติกที่มากับการช็อปปิ้ง
ข้อมูลจาก
• “French ban on plastic packaging for fruit and vegetables begins”. (December 31, 2021). BBC.
• Angelique Chrisafis. (December 31, 2021). “That’s a wrap: French plastic packaging ban for fruit and veg begins”. The Guardian.
• Jaime Velázquez “Spain is banning fruit and veg wrapped in plastic. But should your bag of salad be spared?”. (December 9, 2021). Euronews.