โลกอาจจมใต้ภูเขาพลาสติก
ไทยรั้งอันดับ 7 ในอาเซียน
คะแนนบริหารจัดการขยะ

by Admin

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีการใช้ขวดพลาสติกเพิ่มมากขึ้น มีการซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณ์เป็นขวดพลาสติกเกือบ 1 ล้านขวดทั่วโลกในทุกนาที และขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งก็ไหลไปกองรวมกันอยู่ในมหาสมุทร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดภาพขยะพลาสติกเกลื่อนชายหาด และพบว่าสัตว์ที่ตายลงมีพลาสติกติดอยู่ในท้องของมัน

ข้อมูลจาก Euromonitor International ระบุว่ามีการขายขวด PET หรือโพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Poly-Ethylene Terphthalate) ที่ใช้ผลิตขวดสำหรับบรรจุเครื่องดื่ม น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำแร่ ฯลฯ ออกไปมากกว่า 480,000 ล้านขวด ในปี 2018 นั่นคือเกือบ 1 ล้านขวดในทุกนาที 

ทุกชั่วโมงจะมีขวดพลาสติกเกิดขึ้น 54.9 ล้านขวด กองจะสูงกว่ารูปปั้นพระเยซูคริสต์ (Christ the Redeemer) (สูง 38 เมตร) ในกรุงริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล

ทุกวันมีขวดพลาสติก จำนวน 13,000 ล้านขวด ซึ่งถ้ากองรวมกันจะมีความสูงครึ่งหนึ่งของหอไอเฟลในปารีส (หอไอเฟลสูง 324 เมตร)

หนึ่งเดือนมีขวดพลาสติก 40,000 ล้านขวด ซึ่งเมื่อกองรวมกันจะทำให้หอไอเฟลดูแคระไปเลย

ในหนึ่งปีเต็มมีขวดพลาสติก 481,600 ล้านขวด หากขวดพลาสติกที่ขายทั้งหมดในปี 2018 กองรวมกันมันจะสูงกว่าตึกเบิร์จคาลิฟา (Burj Khalifa) ในดูไบซึ่งสูงที่สุดในโลก (เบิร์จคาลิฟาสูง 830 เมตร)

10 ปีที่ผ่านมามีขวดพลาสติก 4 ล้านล้านขวดจำหน่ายทั่วโลกตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งจำนวนมากขนาดนี้จะกองสูงตระหง่านเหนือเกาะแมนฮัตตันในนิวยอร์ก ข้อมูลจาก Euromonitor International แสดงให้เห็นว่ามีการขายขวดเหล่านี้มากกว่า 480,000 ล้านขวด โดยในปี 2018 เพียงปีเดียวเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ตั้งแต่ปี 2009 เมื่อกองรวมกันจะมีความสูงประมาณ 2.4 กม. และสามารถบดบังตึกระฟ้าที่ส่องแสงระยิบระยับของย่านการเงินที่ปลายสุดของแมนฮัตตันตอนล่าง

ขวดน้ำดื่มเป็นหนึ่งในมลพิษจากชวดพลาสติกหลายประเภทที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ผลิตได้ถูกออกแบบมาให้ใช้เพียงครั้งเดียว โลกผลิตพลาสติกได้ประมาณ 380 ล้านเมตริกตันในปี 2015 ตามการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ขยะพลาสติกประมาณ 55% ถูกทิ้ง เผา 25% และรีไซเคิล 20% ซึ่งหมายความว่าขวดส่วนใหญ่น่าจะจบลงในสิ่งแวดล้อม สถานที่ฝังกลบ หรือมหาสมุทรทั่วโลก

ปริมาณการรีไซเคิลจะน้อยลงไปอีกเมื่อคำนวณในช่วง 65 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกผลิตพลาสติก 8,300 ล้านตัน ตั้งแต่ปี 1950 ถึง 2015 ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งจากการศึกษาของ Science Advances ระบุว่า มีเพียง 6% ของจำนวนทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล 

โรสแมรี ดาวน์นี (Rosemarie Downey) หัวหน้าฝ่ายวิจัยบรรจุภัณฑ์ระดับโลกที่ Euromonitor International กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้กับบรรจุภัณฑ์ควรเป็นวิธีหนึ่งที่แบรนด์ต่าง ๆ จะจัดการกับขยะส่วนเกินตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อลดผลกระทบจากขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความรับผิดชอบของผู้ผลิตแล้ว การบริโภคพลาสติกอย่างมีสติถือเป็นหน้าที่ของทุกคนทั่วโลก ผู้บริโภคมีส่วนช่วยให้การทิ้งขยะเป็นศูนย์ เช่นเดียวกับการใช้งานในองค์กรที่ต้องจัดการ และรัฐบาลก็ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการขยะที่เหมาะสมด้วย

สหภาพยุโรปได้ลงมติไม่อนุญาตผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 10 รายการ ซึ่งรวมถึงหลอด ส้อม และมีด ภายในปี 2021 นอกจากนี้ยังได้กำหนดเป้าหมายสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

การเคลื่อนไหวดังกล่าวกำลังก่อให้เกิดการประลองกับอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งกำลังทุ่มเงินหลายพันล้านในโรงงานแห่งใหม่เพื่อผลิตพลาสติกและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียซึ่งเป็นผู้ผลิตวัสดุและของเสียที่ใหญ่ที่สุดในโลก

จากรายงานสำรวจและจัดอันดับประเทศที่มีการบริหารจัดการขยะพลาสติกของกลุ่มนักคิดระดับโลกที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า เอเชียผลิตพลาสติกให้แก่โลกในสัดส่วนประมาณ 50% ของพลาสติกโดยรวมทั่วโลก แต่มีแค่ 3 ประเทศในภูมิภาคที่ติดท็อป 10 ในการบริหารจัดการขยะพลาสติกที่ดีในรายงานดัชนีบริหารพลาสติกปี 2021 

ญี่ปุ่นติดอันดับ 2 ตามมาด้วยออสเตรเลีย อันดับ 7 และจีนอันดับ 10 ส่วนอันดับ 1 เป็นของเยอรมนี โดยเฉพาะได้คะแนนในส่วนของธรรมาภิบาลค่อนข้างสูง ซึ่งคะแนนในส่วนนี้ครอบคลุมการผลิตและการใช้พลาสติกและมาตรการจูงใจต่าง ๆ เพื่อให้การบริหารจัดการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่ติดอันดับต้น ๆ คือประเทศในยุโรป ขณะที่สหรัฐติดอันดับ 5 ในการจัดอันดับครั้งนี้

ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เวียดนาม ติดอันดับ 11 ตามมาด้วย ไทย และมาเลเซีย ส่วนอินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 16 อินเดีย อันดับ 20 สำหรับประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดปี 2020 1) จีน 2) อินโดนีเซีย 3) ฟิลิปปินส์ 4) เวียดนาม 5) ศรีลังกา 6) อียิปต์ 7) ไทย 8) มาเลเซีย 9) บราซิล และ 10) สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจประเภทขยะที่พบมากที่สุดในมหาสมุทร 10 อันดับ พบว่า อันดับ 1 ก้นบุหรี่ อันดับ 2 ขวดพลาสติก อันดับ 3 พลาสติกห่ออาหาร อันดับ 4 ฝาขวดพลาสติก อันดับ 5 ถุงพลาสติก อันดับ 6 หลอดพลาสติก อันดับ 7 กล่องอาหาร อันดับ 8 กระป๋องเครื่องดื่ม อันดับ 9 แก้วน้ำพลาสติก และอันดับ 10 ขยะอื่น ๆ โดย 50% ของพลาสติกทั่วโลกผลิตในเอเชีย

อ้างอิง: 

  • Simon Scarr and Marco Hernandez (Sep 4, 2019) Drowning in plastic Visualising the world’s addiction to plastic bottles . Reuters
  • (6 ต.ค. 2564) “ผลสำรวจชี้เอเชียตามหลังยุโรปด้านบริหาร-จัดการขยะพลาสติกปี 2564” . bangkokbiznews
  • (11 ม.ค. 2565) “สถิติขยะในทะเลทั่วโลก 2022 มลพิษทางทะเลอยู่ใกล้แค่เอื้อม” . Springnews

Copyright @2021 – All Right Reserved.