เตือนภัยบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่ทำจากพลาสติกมีสารก่อมะเร็ง เสี่ยงมีบุตรยาก – ยีนกลายพันธุ์

การศึกษาล่าสุดนำโดยนักวิทยาศาสตร์จาก Food Packaging Forum, ETH Zürich และ Swiss Federal Institute of Aquatic Science and Technology พบว่า บรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นพลาสติกมี “สารที่น่ากังวล” จำนวน 388 สาร รวมถึง 352 สารที่ทราบกันว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ก่อกลายพันธุ์และเป็นพิษต่อการสืบพันธุ์ 

สารเหล่านี้นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า CMRs แต่มันยังไม่หมดเท่านั้น เพราะยังมีสารเคมีอีก 22 ชนิด เป็นฮอร์โมนหรือสารเคมีที่รบกวนต่อมไร้ท่อ (EDC) และยังยังมีอีก 32 ชนิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพจากการตกค้างในร่างกาย และก่อให้เกิด “การสะสมทางชีวภาพ”

โดยรวมแล้วนักวิจัยกล่าวว่า มีสารเคมีที่เป็นที่รู้จักมากกว่า 12,000 ชนิดที่ใช้ในการผลิตวัสดุที่สัมผัสกับอาหาร และยังมีสารเติมแต่งที่ไม่ตั้งใจ (NIAS) ซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการใช้งานอีกจำนวนมาก ตั้งแต่สารเติมแต่งต่าง ๆ ไปจนถึงสารทำความสะอาด และผลพลอยได้จากปฏิกิริยาเคมี สาร NIAS เหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่เป็นที่ทราบกัน

สารเหล่านี้เรียกว่า “สารเคมีที่ต้องสัมผัสกับอาหารซึ่งมีความน่ากังวล” (FCCoC) นักวิจัยรายงานว่า FCCoC ที่พบมากที่สุดอยู่ในหมึกพิมพ์โดยพบสารประมาณ 238 ชนิดสำหรับการใช้งานนี้ พลาสติก กระดาษ/กระดาษแข็งมีการปนเปื้อน FCCoC สูงสุดโดยนักวิจัยกล่าวว่า วัสดุทั้งสองประเภทอาจมีสารอันตรายมากกว่า 160 ชนิด 

เรื่องนี้กระทบต่อชีวิตหนักมาก เพราะมีการประเมินว่า การผลิตพลาสติกทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 367 ล้านเมตริกตันในปี 2020 โดยมากกว่าหนึ่งในสามเกี่ยวข้องกับอาหาร มีความกังวลว่าสารเคมีจะรั่วไหลเข้าสู่อาหารและสิ่งแวดล้อมในระหว่างการผลิต การใช้ การกำจัด และการรีไซเคิล

นักวิจัยเขียนในรายงานว่า “การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า CMRs หลากหลายประเภทอาจถูกนำไปใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหาร โดยที่ CMRs  จำนวน 352 ประเภทได้รับการจดทะเบียนเพื่อใช้ในการผลิตวัสดุที่สัมผัสกับอาหาร” และบอกว่า “ในจำนวนนี้ 135 ถูกจำแนกโดย ECHA (สำนักงานเคมีภัณฑ์แห่งยุโรป) ว่าเป็นสารก่อมะเร็งประเภทที่ 1 ซึ่งเชื่อหรือทราบกันว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์”

ไม่เพียงเท่านั้น นักวิจัยยังจับตา “โมโนเมอร์” (Monomers) ซึ่งเป็นการสร้างบล็อคของพลาสติกโพลีเมอร์ โดยอ้างว่ามีโมโนเมอร์ 22 ตัวถูกตรวจพบว่า ปนเปื้อนสู่อาหารหรือสารปรุงแต่งอาหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกมันสามารถถ่ายโอนไปยังอาหารที่มนุษย์กินเข้าไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โมโนเมอร์เกือบทั้งหมดที่พบหลักฐานการปนเปื้อนในของกินและถูกกินเข้าไปนั้น ในการวิจัยถือเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ และเป็นพิษต่อการสืบพันธุ์

นักวิจัยจึงทำหมายเหตุว่า นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญในการพิจารณาการใช้สารเคมีอันตรายอีกครั้ง เนื่องจากสหภาพยุโรปพยายามเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน แนะนำว่าให้ตัดตอนโดยเลิกใช้สาร FCCoC กับวัสดุบริสุทธิ์ ซึ่งจะช่วยกำจัดพวกมันออกจากการหมุนเวียน ทำให้พวกมันจะไม่คงอยู่ตลอดไปแม้จะผ่านกระบวนการรีไซเคิลหลายขั้นตอน

ข้อมูลจาก

  • “Plastic food packaging and containers contain chemicals causing cancer, infertility, gene mutations”. (JUNE 8, 2022). Study Finds.
  • “What action is being taken on chemicals of concern in food contact packaging?”. (JUNE 7, 2022). Packaging Europe.

ภาพ : Robert Haas from Orlando, FL, USA / wikipedia.org

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน