กรีนพีซ เปิดผลทดสอบ “Beyond the Label: Debunking the Biodegradable Plastic Myth” ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ และพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ “ไบโอพลาสติก” อาจไม่ใช่ทางออกของการยุติวิกฤตมลพิษ “ขยะพลาสติก”
ปัญหา “ขยะพลาสติก” ที่ล้นโลก กลายเป็นวาระแห่งชาติ ที่ประเทศไทยมีความพยายาม เริ่มประกาศใช้นโยบายงดแจกถุุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และ ร้านสะดวกซื้อ มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนการงดใช้ถุงพลาสติก ขณะเดียวกัน บรรดาร้านค้า ต่างอยากมีส่วนร่วม “รักษ์โลก” ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการระบุว่า เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ และพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
แต่ล่าสุด กรีนพีซ ประเทศไทย เผยรายงานล่าสุด “Beyond the Label: Debunking the Biodegradable Plastic Myth” กลับตอกย้ำว่า “ไบโอพลาสติก” ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ หรือพลาสติกชนิดย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable plastics) อาจจะไม่ใช่ทางออกของการยุติวิกฤตมลพิษพลาสติก
การทดสอบอัตราการย่อย และความเป็นไปได้ในการเกิดไมโครพลาสติกของผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพนี้ กรีนพีซ ได้ดำเนินการ ร่วมกับคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี โดยนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีการระบุว่า เป็นพลาสติกที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ และพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ทั้งหมด 11 ประเภท โดยเน้นเฉพาะ “ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” มาทดสอบอัตราการย่อยสลาย และตรวจสอบความหนาแน่นของจำนวนชิ้นส่วนขนาดเล็ก ที่หลุดรอด หรือแตกหักออกมา ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน 3 สภาพแวดล้อม คือ
- การทดลองแช่ในตู้ปลาที่ใส่น้ำทะเลที่มีการเติมออกซิเจนตลอดเวลา เป็นเวลา 161 วัน
- การทดสอบแช่ในน้ำทะเล เป็นเวลา 135 วัน
- การทดลองฝังไว้ในดิน เป็นเวลา 178 วัน
ผลการศึกษาอัตราการย่อยสลาย “ไบโอพลาสติก” ใน 3 สภาพแวดล้อม
- การทดลองแช่ในตู้ปลาที่ใส่น้ำทะเลที่มีการเติมออกซิเจนตลอดเวลา
ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ย่อยคือ แก้วพลาสติก Inthanin ที่ผลิตจากพลาสติก PLA, ถุงหูหิ้ว Smart-R, กล่องพลาสติก UNI-WARE, ถุงหูหิ้วรักษ์โลก AdvanceBIO, ถุงน้ำตาลยี่ห้อมิตรผล, หลอดกระดาษยี่ห้อไมโล, หลอดยี่ห้อ Amazon, และกล่องยี่ห้อ Smart-R ส่วนทิชชูเปียก Watsons, จานกระดาษชานอ้อย Lotus’s ขาดเป็นชิ้นๆ เฉพาะแก้วกระดาษ All café เท่านั้นที่มีการย่อยเล็กน้อย
- การทดสอบแช่ในน้ำทะเล
ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ย่อย คือ แก้วพลาสติก Inthanin, ถุงหูหิ้ว Smart-R, ถุงหูหิ้วรักษ์โลก AdvanceBIO, กล่องพลาสติก UNI-WARE, และกล่องยี่ห้อ Smart-R ส่วนหลอดกระดาษไมโล ทิชชูเปียก Watsons และจานกระดาษชานอ้อย Lotus’s ที่แช่อยู่ในทะเล ย่อย 100%, ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยบางส่วน คือ แก้วกระดาษ All café ถุงน้ำตาลมิตรผล และหลอดพลาสติก Amazon
- การทดลองฝังไว้ในดิน
ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ย่อย คือ แก้วพลาสติก Inthanin, ถุงหูหิ้ว Smart-R, ถุงหูหิ้วรักษ์โลก AdvanceBIO, กล่องพลาสติก UNI-WARE, และกล่องยี่ห้อ Smart-R ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยบางส่วน คือ แก้วกระดาษ All café, ถุงน้ำตาลยี่ห้อมิตรผล
บรรจุภัณฑ์ที่ย่อย 100% คือ หลอดกระดาษยี่ห้อไมโล, ทิชชูเปียก Watsons, จานกระดาษชานอ้อย Lotus’s และหลอดพลาสติก Amazon ย่อยสลายเพียง 2% เท่านั้น
บรรจุภัณฑ์ที่ยังพบไมโครพลาสติกใน 3 สภาพแวดล้อม
- การทดลองแช่ในตู้ปลาที่ใส่น้ำทะเลที่มีการเติมออกซิเจนตลอดเวลา : บรรจุภัณฑ์ที่พบไมโครพลาสติก คือ แก้วพลาสติก Inthanin ซึ่งมาจากสีที่หลุดลอกออกมา, ถุงหูหิ้ว Smart-R, และกล่องพลาสติก UNI-WARE
- การทดสอบแช่ในน้ำทะเล : บรรจุภัณฑ์ที่พบไมโครพลาสติก คือ แก้วกระดาษ All café, ถุงน้ำตาลยี่ห้อมิตรผล และหลอดพลาสติก Amazon
- การทดลองฝังไว้ในดิน : บรรจุภัณฑ์ที่พบไมโครพลาสติก คือ ถุงน้ำตาลยี่ห้อมิตรผล และหลอดพลาสติก Amazon
รายงาน “Beyond the Label: Debunking the Biodegradable Plastic Myth” ของ กรีนพีซ ประเทศไทย เป็นรายงานที่นำเสนอผลการทดลองของผลิตภัณฑ์ที่มีการระบุว่า เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติและพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของแบรนด์สินค้าและธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ตระหนักถึงบทบาทของตนในฐานะผู้ผลิตสินค้า ให้มีวิธีการแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษพลาสติกที่ต้นทางและมีความยั่งยืน, ให้ข้อมูลผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้เกิดการลดรอยเท้าพลาสติก, สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และการรู้เท่าทันในเรื่องการใช้ฉลากสีเขียวหรือฉลากอื่นๆ บนบรรจุภัณฑ์สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกที่ถูกต้องและถูกทาง และปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เพื่อการตัดสินใจของผู้บริโภค
ไบโอพลาสติก คืออะไร
ไบโอพลาสติก (Biodegradable Plastic) คือ พลาสติกที่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง มันเทศ ข้าวสาลี ฯลฯ และอีกหลากหลายชนิดที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ หรือที่เรียกกันว่า สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Bio Compostable) จนเหลือเพียงน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และสารปรับปรุงดิน (Humus)
ไบโอพลาสติก มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องของการย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ นั่นก็คือ เมื่อวัสดุส่วนใหญ่จากไบโอพลาสติกถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะ และอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม จะทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียและเอนไซม์ต่างๆ จนทำให้พลาสติกจากพืชเหล่านี้สามารถย่อยสลายเองได้ ซึ่งเมื่อย่อยสลายหมดแล้ว จะกลายเป็นน้ำมวลชีวภาพ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทน ในสภาพที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นในดิน หรือกองปุ๋ยหมัก โดยไม่ทิ้งสารตกค้างต่อสิ่งแวดล้อม ที่ล้วนแล้วมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชอีกด้วย
ทั้งนี้ จากรายงานผลทดสอบ นางสาวพิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย ตอกย้ำว่า ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามชีวภาพ อาจจะไม่ใช่ทางออกของปัญหามลพิษพลาสติกอีกต่อไป ความพยายามของบริษัทที่ผลิตสินค้าทั้งหลาย จำเป็นต้องไปให้ไกลกว่าการคิดพลาสติกประเภทใหม่ๆ ออกมา ซึ่งวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้ง ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน กรีนพีซเชื่อมั่นว่า บริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทในไทยเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบใช้ซ้ำในประเทศได้
อ้างอิง :
- https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2024/12/ab2a077f-gp_thai_bio-plastic_04-final_full-book_single.pdf
- https://www.greenpeace.org/thailand/publication/54330/beyond-the-label-debunking-the-biodegradable-plastic-myth/
- https://productsandsolutions.pttgcgroup.com/th/blog/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81-lsquo-%E0%B9%84%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81-rsquo-%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89