การศึกษาเตือนไขมันสัตว์เพื่อเชื้อเพลิงการบิน อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืน

ผลการศึกษาใหม่เตือนการนำไขมันหมู วัว และไก่มาใช้เพื่อผลิตเชื้อเพลิงสำหรับการบินอาจจะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่คิด ในทางตรงกันข้ามกลับส่งผลร้ายต่อโลกแทน

ความต้องการเชื้อเพลิงจากไขมันสัตว์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสามเท่าภายในปี 2573 โดยมีอุตสาหกรรมการบินเป็นผู้นำหลักในการนำไปใช้ เนื่องจากการบินอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ต้องควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในเครื่องยนต์

จากการศึกษาของกลุ่มรณรงค์การขนส่งสะอาด Transport & Environment ชี้ให้เห็นว่าในแต่ละปีการฆ่าสัตว์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการนำไขมันสัตว์ไปใช้ผลิตเชื้อเพลิงให้สายการบินที่มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น

ข้อมูลของ Transport & Environment เปรียบเทียบให้เห็นว่าในการบินจากปารีสไปนิวยอร์ก เฉลี่ย 8 ชั่วโมง หากมีการใช้เชื้อเพลิงทั้งหมดจากไขมันหมู เราจะต้องฆ่าหมูประมาณ 8,800 ตัว

ภายในปี 2573 สหภาพยุโรป สายการบินต่าง ๆในสหภาพยุโรปมีเป้าหมายว่าต้องใช้เชื้อเพลิงที่ยั่งยืนให้ได้  โดย 1.2% จะต้องมาจาก น้ำมันก๊าดไฟฟ้า (e – Kerosene) สมมติว่าส่วนที่เหลืออีก 4.8% มาจากไขมันหมูทั้งหมด เฉลี่ยแล้วต้องใช้หมูประมาณ 400 ตัวต่อเที่ยวบินในการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก

นอกจากนี้กลุ่มรณรงค์ Transport & Environment ยังเกรงว่าความต้องการใช้ไขมันสัตว์ของอุตสาหกรรมการบินที่สูงขึ้นอาจผลักให้อุตสาหกรรมอื่นที่ใช้ไขมันสัตว์อยู่ในปัจจุบันต้องหันไปหาทางเลือกอื่นที่มีคุณสมบัติและราคาใกล้เคียง นั่นก็คือน้ำมันปาล์ม

ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกปาล์มมากขึ้นตาม และนั่นส่งผลโดยตรงต่อแหล่งกักเก็บคาร์บอนและระบบนิเวศ

ในปีที่ผ่านมากระทรวงสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศของสหพันธรัฐยุโรปได้เตรียมแผนแบนน้ำมันปาล์มและไบโอดีเซล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่าของสินค้าต้นทาง

โดยในการขับเคลื่อนนี้ เบลเยี่ยมได้ร่วมมือกับเดนมาร์ก ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ ออกกฎห้ามใช้ไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม เนื่องจากมีความเชื่อมโยงการเปลี่ยนป่าพื้นเมืองและป่าพรุขนาดใหญ่เพื่ออุตสาหกรรมปาล์ม โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย

ที่มา

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่