ค้นพบผึ้งชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อ ‘หยาดอำพันภูจอง’ ในอุทยานภูจองนายอย

เครดิตภาพ Pakorn Nalinrachatakan..

นักวิจัยค้นพบผึ้งชนิดใหม่ของโลกในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและของโลก

ผึ้งหยาดอำพันภูจอง (Phujong resin bee) หรือ Anthidiellum (Ranthidiellum) phujongensis n. sp. เป็นผึ้งเฉพาะถิ่นในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย โดยอาศัยอยู่ในรังบนผาดินมีการใช้ยางไม้ในการสร้างรังและปากทางเข้ารัง ภายในรังจะมีผึ้งตัวเมียเพียงตัวเดียวที่ทำหน้าที่ทุกอย่างตั้งแต่สร้างรัง วางไข่ และออกหาอาหารให้กับลูก

นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังได้ค้นพบผึ้งปรสิตชนิดใหม่ของโลกภายในรังของผึ้งหยาดอำพันภูจองอีกด้วย โดยได้ตั้งชื่อว่า ผึ้งบุษราคัม (Topaz cuckoo bee) หรือ Stelis flavofuscinular n. sp. โดยผึ้งชนิดนี้จะแอบวางไข่ในรังของผึ้งหยาดอำพันและแย่งอาหารของลูกผึ้งหยาดอำพันกิน

เครดิตภาพ Pakorn Nalinrachatakan

งานวิจัยชิ้นนี้นำโดย ดร.ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ จากสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี และนายภากร นลินรชตกัณฑ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพพื้นถิ่นใน จ.อุบลราชธานีที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวทช.ในการพัฒนาพื้นที่อุทยานให้เป็นแหล่ง ecotourism ที่สำคัญของประเทศและของโลก

ไทยพีบีเอส ออนไลน์รายงานว่า ผึ้งหยาดอำพันภูจองถือเป็นผึ้งหายากที่รายงานการค้นพบครั้งแรกในโลกเมื่อปี 2564 ปัจจุบันยังค้นพบเฉพาะในผืนป่าของอุทยานแห่งชาติภูจองนายอยในประเทศไทยเท่านั้น สำหรับตัวของผึ้งหยาดอำพันภูจองนั้นจะมีลักษณะการดำรงชีวิตที่โดดเด่น เมื่อเทียบกับผึ้งให้น้ำหวานต่าง ๆ ที่มีการแบ่งวรรณะ มีนางพญา ผึ้งงาน ผึ้งเพศผู้ อาศัยอยู่กันในรังมาก ๆ แล้ว

กลับกันตัวผึ้งหยาดอำพันภูจองจะมีการดำรงชีวิตแบบโดดเดี่ยว ซึ่งเพศเมียจะสร้างรังและดูแลอยู่เพียงลำพัง โดยจะมีการสะสมยางไม้มาใช้สร้างรัง เกิดเป็นท่อยางไม้ใสสวยงาม ภายในรังจะแบ่งเป็นห้อง ๆ ที่เพศเมียจะวางไข่ สะสมอาหาร (เรณู, น้ำหวาน) ไว้ให้ตัวอ่อนมาก ๆ แล้วปิดห้อง ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อน กินอาหาร พัฒนาเป็นดักแด้ ผ่านกระบวนการเปลี่ยนสัณฐานพัฒนาเป็นผึ้งตัวเต็มวัยต่อไป

การสำรวจของคณะนักวิจัยยังไม่เคยพบตัวผึ้งบินตามแหล่งอาหาร เช่น ทุ่งดอกไม้ต่าง ๆ ในอุทยานฯ อย่างบริเวณพลาญป่าชาด โดยแม้จะสำรวจพบผึ้งชนิดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และสำรวจมามากกว่า 20 รอบในช่วง 3 ปีมาแล้ว ก็ยังไม่พบผึ้งชนิดนี้ แต่พบตัวผึ้งหยาดอำพันภูจองอยู่ตามผาตัดที่มีโพรงดินใกล้แหล่งน้ำ เช่น บริเวณของแก่งกะเลาเท่านั้น

เครดิตภาพ Pakorn Nalinrachatakan

ผึ้งหยาดอำพันภูจองถูกตั้งชื่อเป็นเกีบรติแก่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ที่ซึ่งค้นพบผึ้งชนิดนี้เป็นครั้งแรก นับเป็นผึ้งหายากชนิดใหม่ของโลก ที่พบโดยบังเอิญจากการลองนำรังมาเลี้ยง โดยผึ้งชนิดนี้คล้ายเป็น “กาเหว่า” ในโลกของผึ้ง คือ มีการดำรงชีวิตเป็นปรสิตในระยะตัวอ่อน โดยจะแอบเข้ามาวางไข่ในรังของผึ้งเจ้าบ้าน จากนั้นตัวอ่อนของ “กาเหว่า” จะฟัก กินอาหารภายใน จัดการตัวอ่อนเจ้าบ้านทิ้ง แล้วจะเจริญเติบโตขึ้นมาแทนตัวผึ้งเจ้าบ้าน ในลักษณะใกล้เคียงกับนกกาเหว่า

ผึ้งชุดนี้จะมีร่างกายสีโทนส้มแดงและมีลายสีดำตามร่างกาย รูปร่างสั้นป้อมสันทัด ความยาวลำตัวอยู่ที่ราว 8 มิลลิเมตร ขาคู่หน้ามีสีโทนส้มเหลือง ขณะที่คู่กลางและคู่หลังจะมีโทนน้ำตาลแดงเข้ม ปกคลุมขนสีดำ ส่วนท้ายของท้องจะมีขนสีเหลืองทองสั้น ๆ ปกคลุมอยู่

เครดิตภาพ Pakorn Nalinrachatakan

จากการสำรวจโดยคณะวิจัยคาดการณ์ว่า ผึ้งหยาดอำพันภูจองน่าจะเลือกทำเลสร้างรังโดยคำนึงถึงแหล่งของยางไม้ที่ใช้สร้างรังเป็นหลัก สอดคล้องกับสภาพผืนป่าของอุทยานฯ ที่มีป่าเต็งรัง มีไม้เด่นที่ให้ยางไม้มากอย่างต้นชาด ผึ้งน่าจะเลือกอาศัยตามโพรงร้างเล็ก ๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้า มีขนาดที่เหมาะสม 

นอกจากนี้ มักจะพบรังในที่ชื้นใกล้กับแหล่งน้ำ คาดว่าผึ้งอาจใช้น้ำช่วยละลายดินตามผนัง จึงสามารถจัดแต่งภายในโพรงได้ง่ายขึ้น ให้สภาพโพรงเหมาะกับรัง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2565 น.ส.วราลักษณ์ เย็นใจ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย แถลงร่วมกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ที่มา:

https://bit.ly/3JExKxr

https://bit.ly/3D7iozf

https://bit.ly/3uqMB8y

อ่านงานวิจัยได้ที่ https://doi.org/10.3897/zookeys.1031.57836 

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย