เป็นเรื่องเศร้าและน่าหดหู่ใจเมื่อป่าพรุควนเคร็งถูกเผาทำลายเสียหายไปกว่า 15,000 ไร่ จากขบวนการสเด็ดน้ำออกแหล่งกักเก็บคาร์บอนบนเนื้อที่กว่า 2 แสนไร่ ทำให้ต้องสูญสิ้นสภาพความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ โดยมีสาเหตุจากการบุกรุกของชาวบ้านเพื่อทำการเกษตร ผนวกกับมีกลุ่มทุนที่สุมไฟเข้ายึดพื้นที่แสวงหาประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ระยะเวลาแค่เดือนเศษจึงทำให้น้ำจากป่าพรุแห้งเหือดไปในที่สุด
สำหรับป่าพรุควนเคร็งมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 223,320 ไร่ แบ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ 165,825 ไร่ และป่าถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี 57,495 ไร่ ถือเป็นป่าพรุใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากป่าพรุสิรินธรหรือพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส
ในเวลานี้ป่าพรุควนเคร็งถูกทำลายโดย “ปรากฎการณ์สะเด็ดน้ำ” เพื่อพร่องน้ำออกจากป่าพรุลงสู่คลองซอย และคลองแนวกันพื้นที่ป่าที่ถูกขุดขึ้นโดยทางราชการ ประกอบกับฝนทิ้งช่วงทำให้น้ำในป่าพรุแห้งเหือดจนสิ้นสภาพความเป็นพรุ
อย่างไรก็ตาม สถานีควบคุมไฟป่าพรุควนเคร็ง ได้รวบรวมข้อมูลพื้นที่ความเสียหายมีมากกว่า 15,000 ไร่ โดยมีสาเหตุสำคัญจากการถูกลักลอบจุดไฟอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ระบุว่า จากการทำงานร่วมกับกองปราบปราม และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พบว่ามีกลุ่มทุนบุกรุกป่าพรุควนเคร็งในเขต อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.เชียรใหญ่ สามารถดำเนินคดีแล้ว 4 คดี และมีแปลงต้องสงสัยอีก 43 จุด อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีอีกหลายราย
“ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนายทุนที่อยู่ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ถูกบุกรุกไปแล้ว 7,000-8,000 ไร่ จากพื้นที่ป่าทั้งหมดก 230,000 ไร่ โดยจะมีการแปลภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจอย่างละเอียด” อรรถพล ระบุ
ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า วราวุธ ศิลปะอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้นำคณะลงสำรวจพื้นที่ เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปคือได้กำหนดแผนปลูกคืนพื้นที่ป่าครั้งใหญ่ที่สุดในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยการระดมจิตอาสาในหลายจังหวัดมาช่วยกันปลูกป่าฟื้นคืนตามธรรมชาติให้เร็วที่สุด และเจ้าหน้าที่จะเฝ้าติดตามควบคุมพื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟป่าทุกจุด จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการบุกรุกโดยเด็ดขาด
“มีข้อคิดในการบริหารจัดการน้ำ และป้องกันความเสียหายจากไฟป่า เช่น ควรจัดหาบ่อบาดาลหรือหรือไม่ ควรที่จะขุดสร้างอ่างพวงในพื้นที่ป่ากักเก็บน้ำเพื่อป้องกันควบคุมไฟป่าหรือไม่ โดยการกักเก็บน้ำฝนที่เข้ามาเติมพื้นที่ให้ได้ ที่ผ่านมากรมชลประทาน ได้สูบน้ำเข้ามาควบคุมพื้นที่ป่าพรุถึง 14 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ถ้ามีการกักเก็บน้ำในป่าพรุให้ได้ในระดับ 20-30 ซม. จะใช้น้ำเพียงไม่กี่ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น” วราวุธ ระบุ
ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวป่าพรุควนเคร็ง
ป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช เคยเป็นทะเลมาก่อน แต่ต่อมาได้เกิดหาดสันดอนปิดกั้น (Barrier beach) จึงกลายเป็นพื้นที่ป่าพรุ (Swamp forest) หรือ ลากูน (Lagoon) ป่าพรุควนเคร็งมีน้ำท่วมขังเกือบตลอดทั้งปี ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เชียรใหญ่ ชะอวด เฉลิมพระเกียรติ ร่อนพิบูลย์ และหัวไทร พื้นที่ดังกล่าวได้มีประกาศเมื่อ พ.ศ. 2518 ให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ครอบคลุมพื้นที่ อ.ชะอวดและหัวไทร เนื้อที่ 150,000 ไร่ และประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ ในพื้นที่ อ.ชะอวด เชียรใหญ่ และเฉลิมพระเกียรติ เนื้อที่ 64,494 ไร่ มีประชากรอาศัยอยู่รอบๆ ป่าพรุ และในป่าพรุประมาณ 23,000 คน
เป็นป่าพรุอีกแห่งหนึ่งของภาคใต้(วนเคร็งเป็นป่าพรุใหญ่อันดับสองรองจากพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส มีอาณาบริเวณครอบคลุมเขตรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ประกอบด้วยป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 4 ป่า ซึ่งตั้งอยู่ในเขตโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องจากจากพระราชดำริ ประกอบด้วย
-ป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้านกุมแป ป่าบ้านในลุ่ม และ ป่าพรุควนเคร็ง ต.ตูล ต.เคร็ง ต.ชะอวด อ.ชะอวด ต.สวนหลวง อ.เฉลิมพระเกียรติ เนื้อที่ประมาณ 54,221 ไร่
-ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอนทราย ต.ควนพัง อ.ร่อนพิบูลย์ เนื้อที่ประมาณ 52,987 ไร่
-ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองค็อง ต.สวนหลวง อ.เฉลิมพระเกียรติ ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 29,949 ไร่
-ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าช้างข้าม ต.การะเกด ต.เขาพระบาท อ.เชียรใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 52,987 ไร่
-ป่าไม้ถาวรตามมติ ครม. 14 พฤศจิกายน 2504 และ 23 มกราคม 2516 (ป่าหมายเลข 102 แปลง 1) ซึ่งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เนื้อที่ประมาณ 57,495 ไร่
ป่าพรุควนเคร็งเป็นพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์กับระบบนิเวศวิทยาของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำปากพนังอย่างแนบแน่น โดยพื้นที่ป่าพรุควนเคร็งเป็นเสมือนจุดรับน้ำ แหล่งกรองแร่ธาตุอาหารตะกอนด้วยชั้นของเศษซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันมานานหลายสิบปี หรืออาจถึงร้อยปี ซึ่งไหลมากับน้ำจากเทือกเขาบรรทัดที่อยู่ทางด้านตะวันตกของลุ่มน้ำปากพนัง อันเป็นแหล่งต้นน้ำของป่าพรุที่รวมเอาน้ำและความอุดมสมบูรณ์จากภูเขาในเขต อ.ร่อนพิบูลย์ ชะอวด ส่วนหนึ่งระบายออกไปสู่ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ไหลต่อเนื่องลงไปสู่ทะเลสาบสงขลา ส่วนหนึ่งของน้ำไหลระบายออกไปสู่ทะเลอ่าวไทยผ่านแม่น้ำปากพนัง