ป่าพรุ…แหล่งกักเก็บคาร์บอน
สำคัญระดับโลก

by IGreen Editor

สถานการณ์ไฟป่าไม่ได้ไหม้อยู่แค่ป่าแอมะซอนและป่าแอฟริกาใต้สะฮาร่า ทว่ามันลุกโชนไปแทบทุกทวีปทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือกระจกสะท้อนภาวะโลกร้อน รวมถึงการบุกรุกพื้นที่ทำการเกษตรและเหตุผลด้านเศรษฐกิจอื่นๆ

ผืนป่าสำคัญในบ้านเราที่สามารถกักเก็บคาร์บอนและมีคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าป่าประเภทอื่นก็คือ ป่าพรุ คอลัมน์ I Green Talk ชวนคุยกับ ดร.เจริญวิชญ์ หาญแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ในฐานะเป็นผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “ป่าพรุโต๊ะแดง-พรุควนเคร็ง – Study of Plant Community Dynamic of Peat Swamp Forest Southern Thailand: Phru Toh Daeng & Phru Kuan Kreng PSF”

ดร.เจริญวิชญ์ หาญแก้ว

อาจารย์เจริญวิชญ์ เริ่มต้นอธิบายถึงนิเวศป่าพรุที่น้อยลงเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นป่าที่มีความสำคัญมาก แต่คนมักจะละเลย เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ป่าพรุเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชนิดหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดปี อย่างน้อยที่สุดในหน้าแล้ง ขุดลงไปไม่ลึกก็จะเจอน้ำที่เลี้ยงหน้าดิน ถ้าไม่ดูแลป่าพรุดีๆ ไม่มีความชื้นพอ ป่าจะเป็นกรด นี่เป็นประเด็นของไฟไหม้ป่าพรุ

ในฐานะนักวิจัยเรื่องนี้อาจารย์เจริญวิชญ์สรุปประเด็นนี้สั้นๆ ว่า เป็นไปได้ยากมากที่ป่าพรุสะสมจนเกิดไบโอก๊าซ ไบโอแมส และเกิดก๊าซมีเทนแล้วลุกติดไฟ หรือไม่มีโอกาสสะสมถึงขนาดไหม้ แต่ไฟที่ไหม้อยู่ในเวลานี้เกิดจากฝีมือคนทั้งนั้น

“ภาพรวมป่าพรุบ้านเรา เดิมทีในระบบนิเวศต่อจากทะเล เนินทรายแล้วก็มาเป็นป่าพรุที่มีเยอะมาก แต่หลังๆ มาถูกทำลาย เพราะอยู่ใกล้คน เพราะอยู่ที่ลุ่มต่ำ ตอนนี้มีป่าดีที่เรียกว่าเป็นป่าหนึ่ง เรียกว่า Primary peat swamp forest อยู่ที่เดียวในประเทศไทยคือ ป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 125,625 ไร่ แต่ถ้าเป็นป่าสองจะมีหลายที่ แต่ถ้าเป็นผืนที่ใหญ่สุด คือ ป่าพรุควนเคร็งที่ถูกไฟไหม้ใหญ่อยู่ขณะนี้ มีเนื้อที่กว่า 86,942 ไร่

พรุโต๊ะแดง

ป่าพรุควนเคร็งมีพื้นที่ครอบคลุม 5 อำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช คือ อ.เชียรใหญ่ เฉลิมพระเกียรติ ร่อนพิบูลย์  ชะอวด หัวไทร และ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ที่ไฟไหม้อยู่ขณะนี้เรียกว่า Secondary peat swamp forest ซึ่งกำลังถูกทำลาย”

สำหรับป่าพรุดั้งเดิมอื่นๆ มีที่อ่างกา ดอยอินทนนท์ ป่าพรุบนยอดเขา ที่เป็นที่ราบลุ่มสะสมซากพืชซากสัตว์ที่หน้าดินตามเป็นแอ่งต่างๆ อย่างป่าพุเตย ที่ จ.กาญจนบุรี ก็มีเยอะ แต่ก็ถูกทำลายไปเรื่อยๆ ถ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พบเยอะคือ ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีรอยต่อมาที่ภาคใต้ใน จ.นราธิวาสก็จะพบเยอะ นี่คือระบบนิเวศป่าพรุ

“ถ้าในเชิงนิเวศทั่วไปเราอาจดูว่าป่าพรุเหมือนไร้ค่า เพราะว่าไม่มีไม้ที่ได้ประโยชน์ เนื่องจากป่าส่วนมากถูกทำลายไปแล้ว แต่จริงแล้วๆ พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอนซึ่งช่วยลดโลกร้อน ดังนั้นตรงนี้เป็นไม้ที่ดั้งเดิม พอทุกอย่างล้มตายลง ถูกย่อยด้วยกระบวนการของมัน จะสะสมเป็นอินทรีย์สาร จึงเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนชั้นหนึ่ง

“นอกจากนี้ ยังช่วยคายน้ำในหน้าร้อน เป็นธนาคารน้ำ เป็นตัวหล่อเลี้ยงดินในหน้าแล้ง ดังนั้นถ้าถูกทำลายลงหรือถูกเจาะ พรุก็จะเสียหายไปเรื่อยๆ ตรงนี้คือความสำคัญ อีกอย่างหนึ่ง ถ้าโฟกัสไปที่ป่าดีหรือป่าหนึ่ง จ.นราธิวาส ก็สำคัญในแง่พื้นที่ภาคใต้ตรงนี้ แต่ที่ที่มีปัญหาตอนนี้ คือ ป่าพรุควนเคร็ง

“ถ้าเรามองแผนที่ประเทศไทย จะเห็นว่าด้านตะวันตกแนวเทือกเขาตะนาวศรีจะมีความเอียงไปทางอ่าวไทย ดังนั้นน้ำจะไหลลงอ่าวไทย เพราะฉะนั้นเราจะเห็นน้ำผุดขึ้นกลางชะอวดเป็นคลองชะอวด รวมเป็นแม่น้ำลงมาไหลลงสู่ทะเล แต่ตรงนั้นจะเชื่อมต่อโดยที่มาจากเขาหลวงและเชื่อมไปถึงปากพนัง และมาต้นทางที่ทะเลน้อยก็จะเป็นตัวแหล่งน้ำที่จะพาไปทะเลหลวง ทะเลสาบสงขลาก่อนจะออกอ่าวไทย

“ถ้ามองภาพตรงนี้ออกจะเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้ได้อุ้มน้ำไว้แล้ว ไหม้ได้อย่างไร และถูกทำลายไปได้อย่างไรเรื่อยๆ เพราะว่าด้วยนโยบายส่วนหนึ่ง ความไม่เข้าใจถึงความสำคัญระยะยาวด้วยส่วนหนึ่ง ทำให้ถูกบุกรุกทำลายเยอะ เขาเรียกว่า เหมือนกานพรุ เหมือนกานต้นไม้ให้แห้งตายแล้วก็หลอมหลามไฟลง

พรุควนเคร็ง

“เวลานี้การพัฒนาที่ไม่เข้าอกเข้าใจ เราอาจจะเน้นพืชเศรษฐกิจ อย่าง ปาล์ม พืชที่เข้ามาอาจไม่ใช่ไม้ดั้งเดิม ที่จริงแล้วตอนที่ศึกษาวิจัยดินที่ป่าพรุโต๊ะแดง ป่าพรุควนเคร็ง มีบางชุดที่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าเรารู้ว่า ป่าพรุโต๊ะแดงเป็นป่าหนึ่งอยู่ ป่าดีอยู่ เราก็ควรเอาไม้ดั้งเดิมที่เป็นป่าพรุโต๊ะแดงไปปลูกฟื้นคืนชีพให้ป่าพรุที่ควนเคร็ง ซึ่งเป็นรอยต่อถึง 4-5 อำเภอ ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่สำคัญเป็นรอยคอด ถ้าใครเห็นภาพตัดตอนบนจากป่าที่ชุมพร ก็จะเจอในพื้นที่ตรงนี้ที่เป็นแอ่งใหญ่ของทะเลใต้”

นี่คือป่าพรุด้านตะวันออกที่สำคัญมาก เพราะเป็นแหล่งของแพลงก์ตอน แหล่งข้าวปลาอาหารของสัตว์ทะเล ดังนั้นทำให้มันเสียหายไปเยอะ แล้วพอเราจะปลูกพืชเศรษฐกิจ มิหนำซ้ำพืชที่จะเอาเข้ามาแทนไม้ดั้งเดิมก็กลายเป็นปาล์ม ซึ่งใช้น้ำเยอะ ดังนั้นต้องให้เข้าใจว่าการที่จะทำอะไรมันใช้กับทุกที่ไม่ได้ ต้องดูระบบนิเวศให้ชัดเจนว่าจะเพาะปลูกอะไรให้เหมาะให้มันสมควรกับสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นเราใช้พืชที่ใช้น้ำเยอะ พอหน้าแล้งก็จะยิ่งแห้ง พอแห้งเสร็จคนก็จะสวมรอยกัน

“ไฟธรรมชาติที่บอกว่า พรุสะสมจนกระทั่งเกิดไบโอก๊าซ ไบโอแมส เป็นมีเทนขึ้นมาเพื่อลุกติดไฟ มันไม่มีโอกาสสะสมถึงขนาดไหม้ เป็นไปได้ยากมาก ตอนนี้ไฟที่ไหม้อยู่ก็จากคนทั้งนั้น แต่พอไหม้แล้ว ธรรมชาติของป่าพรุมันไม่เหมือนไฟไหม้บนดิน เป็นไฟที่ลึกลงข้างล่าง เหมือนเราเผาถ่าน เราสุมด้วยฟืนข้างบน ข้างล่างก็ยิ่งลุก

พรุควนเคร็ง

“มันเหมือนเวลาเราทำเตาเผาถ่าน ก็จะโปะแล้วมีความร้อนใส่ให้มัน แต่ไม้ฟืนกองอยู่ข้างล่าง แล้วก็ใส่ไฟข้างล่างเผาเพื่อให้เป็นถ่าน ดังนั้นพอเป็นเช่นนั้น มันก็เหมือนเตาอบอย่างดีของการเผาถ่าน เพราะฉะนั้นพอดับข้างบน ที่จริงข้างล่างจะทรุดๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็ไหม้ตามรากพูพอน รากไม้ข้างล่าง ทำให้ทรุดตัว ดับอย่างไรก็ไม่เสร็จ การที่เอาน้ำไปโปรยก็แค่การคืนความชื้น

“แต่ต้นเหตุมันไม่ใช่ มันคือปลายเหตุ เราแค่ควบคุมได้ในระยะหนึ่ง แต่ถ้าเรา zoning ให้ดีๆ จัดการให้ดีๆ หรือบางทีถ้าในกรณีที่เป็นป่าสองมาแล้ว ที่ใกล้คนที่จะต้องพัฒนากลับเข้ามาเพื่ออนุรักษ์ต่อ เราต้องทำ zoning แล้วก็ชิงเผาให้มันกระจาย มันมีหลักการจัดการถ้าจัดการได้

“แต่พอเป็นป่าฝืนใหญ่ พอมันไหม้แล้วมันก็จะลาม ก็คุมไม่ได้ แล้วลมก็แรง พอลมแรงแล้วก็พัดไปใหญ่ เพราะเคยไหม้หนักที่พรุโต๊ะแดงเมื่อปี 2541 แค่เวลาไม่ถึง 10 นาที เฮลิคอปเตอร์จะไปตรงที่แปลงใหญ่ ตรงที่เป็นไม้ 10 คนโอบ ไปไม่ทันจะถึง ควันเต็มหน้าเต็มตาหมด ต้องถอยกลับเพื่อไปทางบกแทน

“นั่นคือภาพของความเสียหายป่าดีที่เป็นหมื่นไร่ และมาในช่วงนี้ ในหลายปีอาจมีไหม้เล็กๆ น้อยๆ ที่ชายขอบของพรุ แต่ปีนี้มันใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่ป่าพรุควนเคร็งนี้ พอฟังข่าวเลยรู้สึกเสียใจว่า ตอนเราศึกษาสามารถฟื้นได้ ถ้าในเชิงนโยบายเราเห็นความสำคัญของระบบนิเวศป่าพรุจริง ก็จะสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง ค่อยๆ ฟื้น จะให้ดีเหมือนแบบป่าหนึ่งก็คงไม่ได้ ตรงพรุโต๊ะแดงบริเวณชายขอบก็เริ่มพังแล้วเหมือนกัน ก็กลายเป็นดินกรดดินเปรี้ยว ซึ่งก็เกิดการแกล้งดินตามโครงการของในหลวงรัชการที่ 9 เพราะถ้าพรุแห้งมันจะเป็นกรดก็จะดูแลยาก

“นี่คือความไม่เข้าใจ แล้วการจัดการด้านนี้ก็ยังน้อย คนก็เลยเข้าใจว่า ไม่มีไม้คุณค่าใดๆ ปลูกพืชเศรษฐกิจจะมีประโยชน์กว่า ซึ่งเราลืมไปว่า นี่คือความเสียหายอย่างหนักของสิ่งที่เป็นธนาคารน้ำ เป็นแหล่งน้ำ เป็นตัวที่หล่อเลี้ยงดิน เป็นตัวกักเก็บคาร์บอนไม่ให้ถูกคายออกมา มิหนำซ้ำกระบวนถูกคายยังไม่ธรรมดา เพราะเป็นการเผาอีก มันยิ่งเพิ่มเรื่องโลกร้อน

“ตอนนี้มีโครงการที่จะทำให้ป่าพรุเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนของโลก ซึ่งเป็นโครงการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) แต่ก็อยู่แค่ในข้อมูลวิชาการ ไม่สามารถแพร่กระจายให้คนรับรู้ หรือคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง คนอีสาน เหนือ กลาง ใต้ ที่ไม่ได้มาตรงขอบพรุก็จะไม่เห็นว่ามันเสียหายรุนแรงอย่างไร

“เราไม่เคยพูดถึงความเชื่อมโยงจากภูผาสู่ท้องทะเลเลย เรื่องหมอกควันที่เชียงใหม่ เชียงราย ก็ไม่เกี่ยวกับบ้านฉัน หรือหมอกควันทางใต้จากอินโดฯ ถึงนราธิวาสก็ไม่ถึงที่บ้านฉัน ก็เลยไม่เห็นหรือตระหนักถึงตรงนั้นว่ามัน open มันรวม แผนที่ประเทศไทยในแผนที่โลกมันเล็กนิดเดียว พอเกิดอะไรขึ้นมันก็กระจายหากันหมด พอถึงเวลาภัยแล้งก็ยิ่งแล้งหนัก

“ช่วงนี้ก็ยิ่งวิตกเรื่องภัยแล้ง แล้วแล้งครั้งนี้จะขนาดไหน เพราะตอนนี้คือหน้าฝน แต่ยังไม่ใช่ฝนจริงๆ ของภาคใต้ ฝนยังไม่ถึง จ.นครศรีธรรมราช จ.ยะลา เพราะฉะนั้น ฝนยังคงอยู่ที่กรุงเทพฯ ในเดือนสิงหาคม-กันยายน”

“ความวิตกกังวลของเราในเรื่องภัยแล้งมันยิ่งมากขึ้นอีก ภาคใต้ฝนแปดแดดสี่ ลองคิดดูว่าแล้งจะเป็นอย่างไร เพราะมันไม่เคยแล้ง ซึ่งมันจะแล้งขึ้นมาเรื่อยๆ ก็จะกระทบเรื่อง Climate Change ซึ่งมันไกลตัว ผู้คนก็จะไม่รู้ เวลาเราพูดเรื่องโลกร้อนหรือ Climate Change แล้วป่าพรุมีความสำคัญอย่างไร ป่าชายเลนมีความสำคัญอย่างไร เราไม่ได้มองถึงความสำคัญตรงนี้ว่านี่คือความยิ่งใหญ่ของฝืนป่าที่ดูแลเรื่องการกักเก็บคาร์บอน เป็นพื้นที่สีเขียว

“เลยอยากให้คนตระหนักว่ามันมีความสำคัญ ทุกอย่างมีความสำคัญหมด ถ้าจะพัฒนาต้องเข้าอกเข้าใจด้วย สร้าง zoningให้ชัดเจน บูรณาการหลายๆ หน่วยงาน หลายเรื่องที่จะต้องมาจัดการ เพราะฉะนั้นต่างคนต่างทำมันก็พัง”

  • เพราะพื้นที่มันทับซ้อนด้วยหรือไม่ในแง่ของความรับผิดชอบ

อาจารย์เจริญวิชญ์ :  ทับซ้อนด้วย เพราะอย่างขอบเขตของกระทรวงมหาดไทย การปกครอง อบต. อบจ. ก็มีอีกแบบหนึ่ง เขตการบริหารจัดการจากสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ก็อีกแบบหนึ่ง ตอนที่มาทำที่ทะเลน้อยที่ป่าพรุควนเคร็งมันมีสองพื้นที่เปรียบเทียบ คือ ป่าดีที่นราธิวาส ป่าสองคือที่พรุควนเคร็ง แต่มาลงที่ จ.นครศรีธรรมราช แล้วพรุควนเคร็งมันสังกัดชะอวดที่เป็นอำเภอของนครศรีธรรมราช แต่มันถูกบริหารจัดการของเขตทะเลน้อย จ.พัทลุง จึงต้องเดินทางมาที่ทะเลน้อย และนั่งเรือต่อไปอีก 45 นาที เกือบชั่วโมง เพื่อไปหน่วยที่พรุควนเคร็ง ซึ่งตอนนั้นถนนยังไม่ดี ต้องไปทางน้ำ แล้วชาวบ้านที่หน่วยเขาจะทำอะไร งบก็ไม่ถึง เพราะเป็นชายขอบของทางด้านใต้ของเขตบริหารของสงขลา แต่โดยการปกครองอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช จึงทำให้ ถูกมองข้ามไปเพราะอยู่รอยต่อ

เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ผ่านมา ตรงรอยต่อจะมีปัญหาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน เรื่องการปกครอง หรือแม้กระทั่งเรื่องนิเวศ นี่คือความทับซ้อนของหน่วยงานด้วยส่วนหนึ่ง และความไม่เข้าใจในระบบนิเวศด้วยอีกส่วนหนึ่ง ทำให้บริหารจัดการยากและเกิดปัญหาซับซ้อนไปด้วย

  • ขอให้อธิบายภาพใหญ่ของพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ wetlands ในบ้านเราว่ามีความสำคัญอย่างไร เหลืออยู่เท่าไหร่

อาจารย์เจริญวิชญ์  : wetlands หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ หมายถึงตั้งแต่ต้นน้ำ ลำธาร รวมไปถึงชายทะเล ลึกลงไป เวลาน้ำลงอีก 6 เมตร คือความครอบคลุมของพื้นที่ชุ่มน้ำ ดังนั้น ห้วย หนอง คลอง บึง ลำธาร แม่น้ำ น้ำตก เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำหมด พรุเป็นหนึ่งประเภทในนั้น ไม่จำเป็นว่าเป็นหน่วยย่อยหรือหน่วยใหญ่ นิยามมันกินทั้งหมดในนั้น ป่าชายเลนก็รวมด้วย เพราะตลอดเวลาที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดหรือลงไปต่ำสุด ก็ครอบคลุมหมด เพราะฉะนั้น wetlands ก็คือ ห้วย หนอง คลอง บึง ป่าชายเลน ป่าพรุ เป็นประเภทของพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมด

ป่าชายเลนบ้านน้ำราบ อ.กันตัง จ.ตรัง

แต่พอเราเห็นเป็นน้ำ เราอาจจะติดปากว่าป่าพรุ แต่จริงๆ คือ พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ wetlands ซึ่งอาจจะคือคำใหม่ในบ้านเรา แต่จริงๆ คือคำนี้มีมา 30-40 ปีแล้ว แต่ไม่ได้กว้างไกล เพราะฉะนั้นคนก็ไม่ค่อยเข้าใจ นี่คือป่าที่ราบต่ำ ป่าที่มันชุ่มน้ำ เหมือนป่าที่เป็น lowland forest ที่คลองถ้ำ จ.กระบี่ ซึ่งก็อยู่ใกล้คน ก็จะโดนรุกได้ง่าย เพราะคนต้องอาศัยอยู่กับน้ำเป็นหลักด้วย ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวงหรือที่ไหนก็ตาม จะเห็นคนที่อยู่ชายขอบ อยู่ริมน้ำ ริมฝั่ง พอโดนรุกง่าย พอคนขยายก็จะขยายตามคนไปด้วย นี่คือเหตุหลักที่คนเยอะ แล้วพื้นที่ทำกินไม่ค่อยมี

ดังนั้นพอพื้นที่ชุ่มน้ำถูกครอบคลุมด้วยกฎหมายขนาดใหญ่ อย่างกรณีพื้นที่พรุขี้เสียน ซึ่งเป็นหนึ่งในพรุควนเคร็ง ด้านทะเลน้อยตอนบน เป็น Ramsar Site พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งแรกในประเทศไทย ถูกประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับโลก ก็เหมือนมรดกโลก แต่คนไม่ค่อยเข้าใจ ทั้งที่มันคือกฎหมายที่มาดูแลคุ้มครองระดับสูงที่เข้มงวดขึ้น ไม่ใช่แค่ของประเทศเราอย่างเดียว แต่เป็นของทั้งโลก เพราะฉะนั้นต้องมองให้เห็นตรงนี้ จะได้ไม่ขัดแย้งว่าอยู่ดีๆ ไปยกให้เป็นของโลกทำไม

“นี่คือความสำคัญ เพราะฉะนั้นวันนี้ได้ขยายพื้นที่ชุ่มน้ำออกไปเป็นระดับโลก เป็น Ramsar Site เป็นสิบๆ  แห่งแล้วที่ได้กระจายออกไป แต่เริ่มต้นจากพื้นที่พรุขี้เสียน ขึ้นมาจากด้านเหนือของทะเลน้อย ประมาณ 5 กิโลเมตร รอยต่อไปทางควนเคร็ง ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศ ซึ่งตอนนี้นั่งเรือก็จะไม่สะดวกแล้ว ต้องไปรถ ระบบนิเวศก็เปลี่ยนแล้ว ตรงทะเลน้อยก็จะตื้นเขินขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งตรงนั้นเป็นต้นน้ำของทะเลหลวง ถ้าต้นน้ำตรงชะอวด ตรงทะเลน้อย ป่าพรุควนเคร็งแห้งเหือดไป สามพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นปากพนัง ทะเลน้อย ทะเลหลวง ก็จะเสียหายเยอะ

“ยิ่งถ้าไฟไหม้ ความชื้นหน้าดินไม่มี ความเป็นกรดมากขึ้น ทำให้เพาะปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น โดยเฉพาะปาล์มที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่จะปลูกด้วย ในระยะยาวเราไม่มีความเข้าใจ เป็นประเภท อันนี้ราคาดีก็จะทำ โดยไม่คำนึงความเสียหายต่อระบบนิเวศโดยรวมว่าขนาดไหน”

  • แสดงว่าความรู้เรื่องความสำคัญของป่าพรุโดยรวมทั้งจากภาครัฐ และชาวบ้านยังไม่มีความเข้าใจที่มากพอ

อาจารย์เจริญวิชญ์ : เรามีความรู้ไม่กว้างขวางมากพอ เราต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ด้วย ความเชื่อมโยงในระดับพื้นที่ ประเทศ ระดับโลก ต้องมีให้ชัดว่า เราดูแลอะไรอยู่ ถ้าชาวบ้านต้องการเรื่องปากท้อง ต้องมีหน่วยงานอื่นหรือด้านอื่นที่บูรณาการขึ้นมา เพื่อสร้างอาชีพอื่นให้เขาด้วย เพราะในที่สุด ป่าอยู่ได้คนก็ต้องอยู่ได้ อย่างในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่าจะต้องพัฒนาไปด้วยกัน ตอนนี้เราแยกส่วนกัน

ป่าชายเลนบ้านน้ำราบ อ.กันตัง จ.ตรัง

อย่างเรื่องดินที่เหมาะกับการปลูกแบบไหน ที่ประเทศญี่ปุ่นมาศึกษาจนเข้าใจบ้านเราทั้งหมด เพราะมีเทคโนโลยีทั้งที่เป็นสมัยก่อน แต่พอในสมัยนี้ ด้วยความที่ไม่เข้าใจ เวลามีงานวิจัยเพิ่มเติมและต่อยอดก็ถูกกักเอาไว้ ด้วยปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ จึงไม่มีการวิจัยใดๆ เพิ่มเติมในส่วนนี้

“แต่ว่าเดี๋ยวนี้ก็ใช้ area base ซึ่งจะต้องครอบคลุม ไม่ใช่แค่ประโยชน์ในพื้นที่ แต่เป็นของประเทศ รวมถึงของโลกจะต้องรู้ว่าเหลือแค่พื้นที่เดียวตรงนี้ เหลือที่พรุโต๊ะแดง หรือป่าสองที่ชะอวด คือพรุควนเคร็ง ก็จะต้องฟื้นให้ได้ จัดทำ zoning ให้ชัด ตรงไหนอนุรักษ์เอาไว้ ตรงไหนพัฒนาได้ นี่คือการจัดการที่ถูกที่ต้อง แต่เผอิญเรามีหลายหน่วยงาน เลยเกิดความขัดแย้ง”

  • ประเทศไทยเรามี Ramsar Site แล้วกี่แห่ง

อาจารย์เจริญวิชญ์ : ณ ตอนนี้ น่าจะประมาณ 20 กว่าที่ เพราะเข้าไปเพิ่มทุกปี ตั้งแต่ปี 2541 เช่น พรุโต๊ะแดง พรุควนเคร็ง รวมถึงที่ จ.กระบี่ กว๊านพะเยาก็เป็นทั้งหมด อ่าวไทยตอนบน หรืออ่าวตัว ก และตอนนี้มีการผลักดันให้มีกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น ต่างชาติก็มองเห็นความสำคัญ แต่คนในพื้นที่ก็อาจไม่เข้าใจอีกว่ามายุ่งอะไรที่บ้านฉัน จึงมีประเด็นที่ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความเข้าใจว่ามีความสำคัญในระดับนานาชาติ ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่มาก้าวก่าย แต่เราต้องตระหนักรู้ว่า พื้นที่เหล่านี้เป็นของมนุษยชาติ ไม่ใช้แค่เป็นของคนในพื้นที่นี้ เวลาจะทำสิ่งใดต้องมีการบอกกล่าว ต้องเข้าใจสิ่งอื่นที่มีผลกระทบสะเทือนต่อระดับโลกได้ ต้องทำตรงนั้นให้ชัดเจน

  • องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ออกรายงานมาล่าสุด เรื่อง Climate Change ระบุว่าพื้นดินจะมีความแห้งแล้งมากขึ้น

อาจารย์เจริญวิชญ์ : ตอนนี้ประเทศไทยเห็นเรื่องนี้ชัดมาก เรื่อง Climate Change น้ำในเขื่อนตอนนี้เหลือไม่ถึง 30 %  เพราะฉะนั้นเราต้องโยงให้ได้ว่า พื้นที่พรุ เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน แต่เราเอาฟอสซิล เอาน้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหินมาเผา ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนเป็นผลให้เกิดโลกร้อน ซึ่งทั้งหมดไม่เคยพูดถึงและเชื่อมโยงให้เห็นชัดว่าเกิดอะไรขึ้น คือทุกคนก็รู้ว่าโลกร้อน แต่แก้ที่ปลายเหตุ

อย่างเช่น พลาสติกทำให้โลกร้อน แต่ไม่รู้ว่าทำให้โลกร้อนได้อย่างไร มันจึงเหมือนการตัดตอนความรู้ มาสอนให้ความรู้กันตรงปลายเหตุ มองเห็นเป็นทีละจุด ไม่เห็นว่าเป้าหมายที่สุดคืออะไร ซึ่งน่าเสียดายที่บ้านเรามีคนรู้เรื่องนี้ก็เยอะ แต่กระจายออกไป

ฉะนั้น “คาร์บอนซิงค์” (Carbon Sinks)  หรืออ่างกักเก็บคาร์บอนจากป่าพรุจึงมีความสำคัญ  การรักษาป่าเหล่านี้ไว้คือการรักษาแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในดินในรูปของอินทรีย์สาร การเก็บไว้ใต้ชั้นหินในมหาสมุทร หรือในป่าอื่นๆ แต่ถ้าเราขุดพลังงานมาใช้อย่างเดียวจะยิ่งเพิ่มคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อสภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้น

Copyright @2021 – All Right Reserved.