จุดเปลี่ยนดินเยือกแข็งไซบีเรียปล่อยก๊าซพิษเพิ่มโรคระบาดพุ่งคาร์บอนจ่อทะลัก 4 หมื่นล้านตัน

พื้นที่ดินเยือกแข็งถาวรหรือ Permafrost ในยุโรปและไซบีเรียตะวันตกกำลังเข้าใกล้ ‘จุดเปลี่ยน’ เพราะภาวะโลกร้อนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ดินเยือกแข็งถาวรปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้มากถึง 39,000 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณคาร์บอนสองเท่าที่เก็บไว้ทั่วป่ายุโรปทั้งหมด

ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยลีดส์กล่าวว่า แม้จะมีความพยายามอย่างเต็มที่ในการลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกภายในปี 2040 แต่ภูมิอากาศของยุโรปตอนเหนือจะไม่เย็นและแห้งแล้งเพียงพอที่จะคงสภาพดินพรุเหล่านี้ไว้ได้

เนื่องจากอินทรีย์สารเหล่านี้ถูกแช่แข็งตลอดเวลา พื้นที่พรุเหล่านี้จึงอ่อนไหวสูงต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนหน้านี้เมื่อน้ำแข็งดินพรุละลาย จุลินทรีย์เริ่มย่อยสลายสารอินทรีย์ที่ฝังไว้นาน สิ่งนี้สามารถปล่อยคาร์บอน มีเทน และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ สู่บรรยากาศได้

นักวิจัยกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะไปถึง ‘จุดเปลี่ยน’ ของดินเยือกแข็งที่อาจทำให้ภูมิประเทศบริเวณนี้พังทลายลงอย่างรวดเร็ว

ดร.คริสตินาชาเดล นักนิเวศวิทยาระบบนิเวศที่มหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นแอริโซนาซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้บอกกับ Carbon Brief ว่า “เมื่ออุณหภูมิอุ่นขึ้น จุลินทรีย์จะทำงานและย่อยสลายวัสดุที่อยู่ในนั้น ดังนั้นคาร์บอนจะสูญเสียไปตลอดกาล และจะใช้เวลานานกว่าจะได้คาร์บอนกลับมากักเก็บ”

สำหรับพื้นที่พรุที่แห้งแล้งในภาคเหนือของไซบีเรียตะวันตกเป็นภูมิประเทศที่มีพีทคาร์บอน 13,900 ล้านตัน ซึ่ง Permafrost เป็นชั้นน้ำแข็งถาวรใต้พื้นผิวโลกที่พบในบริเวณอาร์กติก เช่น อลาสก้า ไซบีเรีย และแคนาดา

โดยทั่วไปประกอบด้วยดิน กรวด และทรายที่เกาะติดกันด้วยน้ำแข็ง และจัดเป็นพื้นดินที่อุณหภูมิต่ำกว่า 32°F (0 °C) เป็นเวลาอย่างน้อยสองปี โดยคาร์บอนมาในรูปแบบของพืชพรรณและดินโบราณที่ยังคงแข็งตัวเป็นเวลานับพันปี

ความน่ากังวลไม่ได้มีแค่อุณหภูมิในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อปี 2016 รัสเซียเคยต้องต่อสู้กับการระบาดอันลึกลับในพื้นที่ห่างไกลของไซบีเรียที่แคว้นยามัล โดยในเวลานั้นมีกวางเรนเดียร์ล้มตายประมาณ 2,000 ตัว ประชาชนป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล 96 คนและมีเด็กอายุ 12 ปี เสียชีวิต

ชาวยามัลมักบริโภคเนื้อเนื้อกวางดิบตามธรรมเนียมของท้องถิ่น แต่เมื่อเชื้อเกิดระบาดขึ้นทำให้คนท้องถิ่นติดโรคอย่างรวดเร็ว ในเวลานั้นเจ้าหน้าที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าการระบาดเริ่มต้นอย่างไร แต่ในตอนหลังมีการตั้งสมมติฐานกันว่าคลื่นความร้อนทำให้ดินที่ถูกแช่แข็งตลอดกาล หรือ Permafrost ละลายอย่างรวดเร็ว ทำให้ซากกวางเรนเดียร์ที่ติดเชื้อแอนแทรกซ์เมื่อหลายสิบปีก่อนโผล่ขึ้นมาและกระจายเชื้อโรคอีกครั้ง

นับเป็นการระบาดครั้งแรกของโรคระบาดในแถบอาร์กติกของยามัลในรอบ 70 ปี ท่ามกลางอุณหภูมิสูงถึง 35 องศาเซลเซียสในปี 2016

หลังจากนั้นโลกก็ติดตามการละลายของ Permafrost ในไซบีเรียด้วยใจระทึก เพราะมันละลายอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ และทำให้ประชาชนในท้องถิ่นกลัวว่าหากไปแตะต้อง Permafrost มากเกินไปอาจทำให้โรคร้ายเผยตัวออกมาได้อีก

เมื่อเดือน เม.ย. 2019 ความกลัวนี้ทำให้เกิดเสียงคัดค้านในเมืองยาคุตส เพราะมีแผนการที่จะใช้ที่ดินเปล่าเพื่อสร้างลานสเก็ต แต่ประชาชนกลัวว่าการก่อสร้างอาจทำให้สปอร์เชื้อแอนแทรกซ์ที่ซ่อนไว้ในดินแช่แข็งถาวรเผยตัวออกมา เพราะพื้นที่นี้เคยเป็นห้องปฏิบัติการสร้างเซรุ่มเชื้อแอนแทร็กซ์เมื่อหลายสิบปีก่อน

ความกังวลนี้ยังทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่โรคโบราณที่ซ่อนอยู่ใน Permafrost จะเผยกายขึ้นอีกครั้งเมื่อน้ำแข็งละลายจากภาวะโลกร้อน

บอริส เกอร์เชนโกลท์ส นักชีววิทยาของยาคุตสค์ผู้ศึกษาภูมิอากาศตอนเหนือของโลก กล่าวว่า สปอร์แอนแทรกซ์สามารถคงอยู่ได้ใน Permafrost นานสูงสุดถึง 2,500 ปี แต่ตอนนี้มันกำลังเสี่ยงที่จะหลุดออกมาอีก เพราะการละลายของน้ำแข็งถาวรบริเวณฝังซากสัตว์สมัยศตวรรษที่ 19 เมื่อซากสัตว์เผยตัวอีกครั้ง โรคก็จะหลุดออกมา

ทั้งนี้ ยาคุตสค์เป็นเมืองที่หนาวที่สุดในโลกด้วยอุณหภูมิที่สามารถลดลงต่ำกว่า -60 C° ในฤดูหนาว แต่เพราะภาวะโลกร้อนทำให้ผู้คนเริ่มกลัวการฟื้นตัวของโรคที่แฝงตัวอยู่ในพื้นที่ใกล้กับขั้วโลกเหนือ

ข้อมูลจากสถาบัน Melnikov Permafrost Institute ระบุว่า พื้นที่น้ำแข็งถาวรหรือ Permafrost ในใจกลางแคว้นยากูเตียกำลังหดตัวประมาณ 1 – 5 เซนติเมตรต่อปีและมากขึ้นในเขตเมือง

ในขณะเดียวกันการเกิดฝนได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 ในแคว้นยากูเตียตั้งแต่ปี 1966 ซึ่งทำให้หิมะหนาขึ้น และจะทำให้พื้นดินเป็นฉนวนป้องกันอากาศเย็นทำให้ใต้ดินอุ่นขึ้น และทำให้น้ำแข็งละลายมากขึ้น

ก่อนนี้ผู้นำรัสเซียก็ยอมรับในภัยคุกคามนี้ โดยบอกว่ารัสเซียกำลังร้อนเร็วกว่าทั่วโลกถึงสองเท่าครึ่ง และเป็นแนวโน้มที่น่าตกใจ โดยเฉพาะจากการระบาดของโรคที่จะตามมานั่นเอง

อ้างอิง:
(Mar 14, 2022) “Permafrost peatlands approaching tipping point” . ScienceDaily
(Mar 14, 2022) “‘Imminent’ tipping point threatening Europe’s permafrost peatlands” . CarbonBrief

เมื่อน้ำแข็งละลาย ไวรัสอีกมากมายจะหลุดออกมาเล่นงานมนุษยชาติ

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย