ดินเยือกแข็งใกล้ขั้วโลกละลาย ทำแผ่นดินรัสเซียทรุดไฟป่าพุ่ง

Photos from the Yukon 2012 Expedition by the COPER group of the Alfred Wegener Institute in Potsdam, GermanyJuly 17 to August 28, 2012

การละลายของชั้นน้ำแข็งถาวรในผืนดินใกล้ขั้วโลก (Permafrost) ไม่ใช่แค่ปัญหาของแถบใกล้ขั้วโลกอีกต่อไป การค้นพบล่าสุด เว็บไซต์ Nature เผยว่า มันส่งผลกระทบไปทั่วโลก

Permafrost คือ พื้นดินที่เยือกแข็งตลอดเวลา โดยปกติแล้วหมายถึงมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสองปีขึ้นไป (ที่จริงแล้วมันจะแข็งยาวนานเป็นหมื่น ๆ ปีก็ได้) ประมาณ 15% ของซีกโลกเหนือหรือ 11% ของพื้นผิวโลกอยู่ภายใต้ชั้นดินเยือกแข็งนี้

ด้วยความที่มันแข็งตัวได้เป็นหมื่น ๆ ปี Permafrost จึงมีชีวมวลจำนวนมาก และชีวมวลที่ย่อยสลายได้ซึ่งถูกเก็บไว้เป็นก๊าซมีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ดินใกล้ขั้วโลกกลายเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่

ในขณะที่ภาวะโลกร้อนทำให้ระบบนิเวศร้อนขึ้น มันทำให้ดิน Permafrost ที่ละลายปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ถูกกักไว้ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ของเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตอนแรกสิ่งที่กลัวกันคือ การละลายของมันจะทำให้พื้นดินทรุด ส่งผลต่อชุมชนในรัสเซียที่สร้างอยู่บนแผ่นดินเยือกแข็ง และยังกลัวกันว่าจะเกิดเชื้อโรคใหม่ ๆ จากการละลายของดินแข็งที่เก็บสะสมเชื้อโรคเมื่อหลายหมื่นปีเอาไว้

รายงานที่เผยแพร่ใน Nature ระบุว่าเกือบ 70% ของถนน ท่อส่งน้ำมัน เมือง และอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัสเซียสร้างขึ้นบนพื้นดินเยือกแข็งที่มีความเสี่ยงสูงต่อความเสียหายเฉียบพลันในช่วงกลางศตวรรษ

นั่นหมายความว่าหากมันละลายแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ อาจทำให้เมืองในรัสเซียถึงกับล่มสลายได้ เราจะเห็นตัวอย่างได้จากหลุมลึกที่เกิดกลางป่าในไซบีเรีย ซึ่งเกิดจากการละลายฉับพลันของ Permafrost

เช่น อาคารประมาณ 80% ในเมืองวอร์คูตากำลังแสดงการเสียรูปทรงอันเกิดจากการเคลื่อนตัวของชั้นดินเยือกแข็ง เมืองนี้อยู่เหนือสุดแห่งหนึ่งของโลก และยังเป็นเมืองที่หนาวที่สุดในทวีปยุโรป ด้วยอุณหภูมิที่หนาวเย็นเป็นประวัติการณ์ที่ -52 องศาเซลเซียส

การยุบตัวของโครงสร้างดินถาวรอย่างกะทันหันเป็นกระบวนการที่เรียกว่า “เทอร์โมคาร์สต์” (thermokarst) แต่เรายังไม่รู้แน่ชัดว่ามันจะทำให้อาร์กติกมีสภาพเป็นอย่างไรในอนาคต

ตอนนี้ความกังวลไม่ได้จำกัดวงแค่ในรัสเซีย นักวิจัยนำโดย คิมเบอร์ลีย์ ไมเนอร์ นักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการ Jet Propulsion ของ California Institute of Technology พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วพื้นผิวดินเยือกแข็งนั้นร้อนขึ้นเกือบ 0.4 องศาเซลเซียส ระหว่างปี 2550-2559

ผลก็คือ “ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอัตราการละลายอย่างรวดเร็วและการปล่อยคาร์บอนเก่าที่อาจเกิดขึ้นได้” และการศึกษาของพวกเขาคาดการณ์ว่า จะสูญเสียพื้นผิวดินเยือกแข็งประมาณ 4 ล้านตารางกิโลเมตร ภายในปี 2100 (พ.ศ. 2643) แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงอย่างมากในทศวรรษหน้า

นักวิจัยชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นไม่ได้เป็นเพียงตัวขับเคลื่อนของการหลอมละลายของ Permafrost เท่านั้น แต่ยังมีไฟป่าในแถบอาร์กติกที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ด้วย โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 130% ถึง 350% ภายในกลางศตวรรษ

ข้อมูลจาก
• Marlowe Hood. (January 12, 2022). “Climate change: Thawing permafrost a triple-threat”. phys.org
ภาพ: https://www.flickr.com/photos/139918543@N06/24823171765/

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย