เตรียมไว้อาลัยกับการจากไปของเพนกวิน?

อาณานิคมเพนกวินในบางส่วนของแอนตาร์กติกได้ลดลงมากกว่า 75% ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าอาณานิคมของเพนกวินชินสแตรป (Chinstrap penguin) ลดลงอย่างมากตั้งแต่การสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2514 ซึ่งเวลานั้นมีเพนกวินจำนวน 122,550 คู่ทั่วทั้งเกาะเอเลแฟนท์ (Elephant Island) ซึ่งเป็นเกาะที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งนอกชายฝั่งแอนตาร์กติกา

และเป็นเกาะแรกที่มีการพบเห็นแมวน้ำช้าง (Elephant seal) เมื่อปี 2364 จึงได้ชื่อมาแบบนั้นโดยบนเกาะไม่มีช้าง มีแต่แมวน้ำและเพนกวินเต็มไปหมด

ตามรายงานของนักวิจัยอิสระที่เข้าร่วมการสำรวจกรีนพีซพบว่า ทุกอาณานิคมที่ทำการสำรวจบนเกาะเอเลแฟนท์ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของนกเพนกวินที่สำคัญทางตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรแอนตาร์กติก พบว่ามีจำนวนประชากรเพนกวินลดลง

จำนวนล่าสุดพบเพียง 52,786 คู่ หรือลดลงเกือบ 60%

ถึงแม้ว่าขนาดการเปลี่ยนแปลงของประชากรจะแตกต่างกันไปในแต่ละอาณานิคมบนเกาะ แต่จำนวนที่ลดลงยังน่าตกใจอยู่ดี โดยเฉพาะอาณานิคมที่มีประชากรเพนกวินลดลงมากที่สุดถึง 77% ในอาณานิคมที่รู้จักกันในชื่อ Chinstrap Camp

เมื่อ 100 กว่าปีก่อน เกาะเอเลแฟนท์เป็นดินแดนของนักล่าแมวน้ำและเพนกวิน แต่ปัจจุบันสิ่งที่ทำให้ประชากรสัตว์ลดลงไม่ใช่การล่า แต่เป็นฝีมือของมนุษยทางอ้อมต่างหาก

สาเหตุของการลดลงอย่างน่าใจหายจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การลดน้ำแข็งในทะเล และมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น

หลักฐานจะจะคือ การศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อไม่กี่วันก่อนรายงานเรื่องประชากรเพนกวินที่แอนตาร์กติกาลดลง นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการตรวจสอบอุณหภูมิที่สถานีวิจัย Esperanza ของอาร์เจนตินา พบว่าอุณหภูมิในทวีปแอนตาร์กติกาพุ่งสูงสุดตลอดกาลโดยมีการบันทึกไว้ที่ 18.3 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2563

ปรากการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ “เคย” หรือกุ้งขนาดเล็กจิ๋ว (krill) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารเพนกวินลดลงไปด้วย

เมื่ออาหารลดลง เพนกวินก็ลดจำนวนลงตามไป

สตีฟ ฟอเรสต์ นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์ที่เข้าร่วมทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Stony Brook และ Northeastern บอกว่า โครงสร้างพื้นฐานของห่วงโซ่อาหารที่นี่ได้รับผลสะเทือนบางอย่าง และพบว่ามีอาหารที่น้อยลง ซึ่งทำให้ประชากรเพนกวินลดลงเข้าไปทุกทีๆ

แต่ยังอาจมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เพนกวินลดน้อยลง

P. Dee Boersma ผู้เชี่ยวชาญด้านเพนกวิน และนักวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน บอกว่า เมื่อแอนตาร์กติการ้อนขึ้น ฝนก็จะตกมากขึ้น ฝนจะฆ่านกเพนกวิน เพราะลูกนกตัวเล็กๆ จะเปียกฝนที่หนาวเหน็บและหนาวตาย

Boersma เห็นกับตาตัวเองเมื่อฝนตกที่ชายฝั่งอาร์เจนตินาจนฆ่าลูกนกเพนกวินมาเจลลัน (Magellanic penguin) ที่เธอกำลังเฝ้าศึกษาอยู่ตายลงไปถึงครึ่งหนึ่ง

กรีนพีซซึ่งเป็นเจ้าภาพการสำรวจครั้งนี้ จึงเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติมีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องมหาสมุทร 30% ของโลกภายในปี 2573 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นักวิทยาศาสตร์และรัฐบาลบางประเทศเรียกร้อง เพื่อลดความเสียหายต่อโลกอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์

องค์การสหประชาชาติจะประชุมกันในวันที่ 23 มี.ค. ถึง 3 เม.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อพยายามผลักดันสนธิสัญญามหาสมุทรทั่วโลก

แต่แม้ว่าจะผลักดันสำเร็จยังอาจต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ที่ทุกประเทศจะให้สัตยาบันจนสามารถบังคับใช้ข้อตกลงได้

เมื่อถึงวันนั้นเพนกวินผู้น่าสงสารอาจจะไม่เหลืออยู่แล้วก็เป็นได้

อ้างอิง:
Some Antarctic penguin colonies have declined by more than 75% over 50 years
Chinstrap penguin numbers may have fallen by more than half on Antarctic island
Documenting Penguin Decline in Antarctica
On board the Antarctic expedition that reveals dramatic penguin decline

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย