กล่าวได้ว่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีสาเหตุมาจากภาคการจราจรและขนส่งเป็นหลัก โดยเฉพาะจากรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล แต่คำถามมีอยู่ว่าเราจะลดปริมาณรถบรรทุกขนาดใหญ่และขนาดเล็กลงได้อย่างไร และหากลดได้สำเร็จก็ไม่ได้หมายความว่ากรุงเทพฯ จะไม่ต้องเผชิญฝุ่นพิษอีก เพราะยังมีฝุ่นจากการเผาในที่โล่งจากปริมณฑลเข้ามาสมทบด้วย
อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้ข้อมูลว่า สัดส่วนแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 มาจากรถยนต์ดีเซล 57% ฝุ่นทุติยภูมิ 16% การเผาไหม้ชีวมวล 15% รถยนต์เบนซิน 8% และอื่น ๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม, ละอองดิน 4% (ข้อมูลเดือน ม.ค.-ก.พ. 2564)
แน่นอนว่าจากตัวเลขข้างต้นพบว่า สาเหตุเกิดฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากภาคการจราจรและขนส่งทั้งรถยนต์ดีเซลและเบนซิน ที่ผ่านมามักกล่าวถึงรถดีเซลเป็นหลัก เพราะมีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์และไม่ใช้น้ำมันกำมะถันต่ำ หรือมีบริการเฉพาะช่วงหน้าฝุ่น แต่ในปี 2567 จะใช้น้ำมันกำมะถันต่ำทั้งหมดเมื่อมาตรฐานเชื้อเพลิงยูโร 5 เริ่มมีผลบังคับใช้ แต่ฝุ่นคงไม่ได้ลดลงในทันที เพราะสาเหตุไม่ได้มาจากรถดีเซลทั้งหมด แต่มาจากฝุ่นทุติยภูมิซึ่งเป็นสารประกอบที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเบนซิน หรือมาจากโรงงานที่ไปทำปฏิกริยาให้เกิดฝุ่น ซึ่งภาครัฐยังไม่มีตัวเลขนี้
อย่างไรก็ดี อรรถพลยอมรับว่า ทางกรมไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดระหว่างสัดส่วนฝุ่นจากเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน จึงต้องการข้อมูลส่วนนี้มาก แต่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษมั่นใจว่า จุดเปลี่ยนฝุ่นในกรุงเทพฯ นอกจากน้ำมันเชื้อเพลิงสะอาดแล้ว ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเป็นคำตอบ นอกจากนั้นสิ่งที่ยังท้าทายการปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็คือการเผาในที่โล่งจากปริมณฑล รวมทั้งการเผาในทุกภาค
“การแก้ปัญหาต้องบาลานซ์ผลกระทบที่เกิดจากมาตรการ จะกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นให้อยู่ที่ 20 ก็ได้ แต่มันจะแดงทั้งแผ่นดินเลย แล้วมันทำอะไรได้ ถ้ามาตรการไม่ไปพร้อมกับมาตรฐาน แต่สิ่งที่ดีขึ้นและสัมผัสได้คือการแจ้งเตือน ซึ่งอะไรที่เป็นวิกฤตแล้วรัฐบาลไม่แจ้งจะถูกด่า เช่น น้ำท่วม
“ทางกรมจึงได้ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อพยากรณ์ฝุ่นล่วงหน้า และมีการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า 7 วัน ซึ่งการแจ้งเตือนเป็นเรื่องที่สำคัญที่ประชาชนควรจะรับรู้ และเมื่อรับรู้ก็จะช่วยแก้ไขปัญหา การแจ้งเตือนจะทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัวว่าหน่วยงานตัวเองจะต้องรับผิดชอบเรื่องอะไร เช่น โรงเรียนมีการให้อำนาจ ผอ.สามารถปิดโรงเรียนได้ถ้าฝุ่นเกินมาตรฐาน รวมถึงชุมชนก็มาดูว่าหลังได้รับการแจ้งเตือนตัวเองจะช่วยในสถานการณ์นี้ได้อย่างไร”
อรรถพล ย้ำว่า ทุกคนเป็นต้นเหตุของฝุ่น PM2.5 ดังนั้นจะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพราะภาครัฐมีมาตรการทั้งหมด แต่ถ้านำทุกมาตรการมาใช้ ประชาชนก็จะได้รับผลกระทบ สำหรับพื้นที่ กทม.ถือว่ามีความร่วมมือกันดีมาก และชาวกรุงเทพฯ ก็สนใจเรื่องฝุ่นมากที่สุด ฉะนั้นไม่น่าห่วง เพราะมีทั้งสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) กรมการขนส่งทางบกที่ร่วมมือกันดีมาก ซึ่งในปี 2567 เฉพาะใน กทม.และปริมณฑล จะมีเชื้อเพลิงสะอาดใช้ รถควันดำจะวิ่งน้อยลง ขณะที่นโยบายรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลก็เกิดขึ้นเร็วมาก
“รัฐบาลได้ส่งเสริมภาคการผลิต ภาษี ผู้บริโภคก็เข้าถึงรถอีวีได้ เช่น รถอีวีที่ซื้อมาใช้ค่าใช้จ่ายถูกกว่า 10 เท่า จากค่าน้ำมันเดือนละ 7,000 หรือค่าไฟเดือนละ 700 บาท ค่าดูแลรักษาถูกกว่า 5 เท่า ตรงนี้จะไปไว นี่คือจุดเปลี่ยนในเมือง” อรรถพลกล่าว
ด้าน ผศ. ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) อธิบายว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เก็บข้อมูลอากาศที่ตึกใบหยก 1 และใบหยก 2 รวมทั้งเก็บจากเสา KU Tower ที่ระดับความสูง 117 เมตร และเก็บจากระดับพื้นดิน (ground level) ของ กทม. พบว่าฝุ่นใน กทม. มี 4 รูปแบบ 1) ปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เมื่ออากาศเริ่มเย็นฝุ่นจะเริ่มโต 2) เดือนมกราคมจะเกิดปรากฎการณ์อุณหภูมิผกผันลักษณะฝาชีครอบ (inversion) ที่มีอากาศกดทับ
3) เดือนมีนาคม-เมษายน ฝุ่นมาจากการเผาในที่โล่งและลอยเข้ามาใน กทม. โดยช่วงเย็นความเข้มข้นจะสูง การวัดจาก KU Tower จะพบว่า ฝุ่นด้านบนจะสูงและด้านล่างจะต่ำ และ 4) ฝุ่นทุติยภูมิที่ทำปฏิกิริยากับแสงแดดในช่วงมีนาคม-เมษายน ทำให้ฝุ่น กทม.ไม่เหมือนที่อื่น ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาไหน รูปแบบไหนจะเจอกับรูปแบบไหน ช่วงเวลาไหน หรือตัวไหนเด่นขึ้นมา ต่างจากเชียงใหม่ที่มาจากการเผาเป็นหลัก ซึ่งการเก็บจาก KU Tower ทำมาตั้งแต่ปี 2555 -2556
อาจารย์สุรัตน์ กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาทางเคมีในบรรยากาศของก๊าซสารตั้งต้นหรือที่เรียกว่า “ฝุ่นทุติยภูมิ” ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ก๊าซแอมโมเนีย (NH3) และกลุ่มก๊าซสารอินทรีย์ระเหยง่าย ซึ่งในสภาพอากาศปิดมีลมอ่อนหรือสงบเป็นปัจจัยเหนี่ยวนำให้มีความเข้มข้นฝุ่นทุติยภูมิ
“คนส่วนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงฝุ่นจะพูดแบบทั้งปี แต่ถ้าพูดเป็นช่วงเวลาจะไม่เหมือนกัน ถ้าพูดในแต่ละช่วงเวลาฝุ่นที่แสดงบทบาทก็จะไม่เหมือนกัน ฉะนั้นในการจัดการปัญหาจะต้องเล่นให้ถูกที่ถูกเวลา ไม่ใช่ทุกอย่างเหมือนกันหมดตลอดเวลา เช่น เอารถออกจาก กทม.ทั้งหมด ฝุ่นหมดในแพทเทิร์นที่ 1 และ 2 แต่ก็จะมีฝุ่นที่ลอยมาจากข้างนอกอีก นี่คือพฤติกรรมของฝุ่นใน กทม.”
ข้อสังเกตของอาจารย์สุรัตน์ก็คือ การใช้ข้อมูลของราชการต่อประชาชนยังมีช่องว่างและเป็นการทำงานตามปกติ ไม่ได้ให้ข้อมูลล่วงหน้าและทั่วถึง ทำให้ประชาชนรู้สึกตื่นตระหนกเมื่อเกิดปัญหา เช่น กรณีไฟไหม้ที่กิ่งแก้ว ประชาชนกลัวเพราะไม่ทราบว่าควันที่ลอยอยู่เป็นอะไรและอันตรายหรือไม่ จึงจะเห็นได้ว่าข้อมูลไม่เข้าถึงประชาชน หรือข้อมูลอยู่ในเฉพาะคนบางกลุ่ม หน่วยงานราชการก็ทำงานในส่วนของราชการ อะไรที่นอกเหนือหน้าที่ปกติก็ไม่ทำ เมื่อเกิดเหตุจึงทำแค่ตามหน้าที่
“เรื่องข้อมูลและความรู้เป็นเรื่องสำคัญ และไม่มีสื่อเชิงรุกในการรายงานก่อนเกิดเหตุ คนจะตื่นกลัว ปีนี้แปรปรวนค่อนข้างเยอะ เพราะมีฝน มีลมที่มีผลให้ความเข้มข้นต่ำลงและตัวเลขไม่สูง และอีกจุดที่เป็นปัญหาคืองานข้ามกระทรวงที่มีปัญหาหนักมาก ซึ่งมีทั้งกระทรวงทรัพย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข
“ปัญหาอะไรก็ตามที่ต้องอาศัยมากกว่าหนึ่งกระทรวงมักจะมีปัญหาและไม่ใช่เฉพาะเรื่องฝุ่น ไม่ว่าเรื่องอะไรก็จะเป็นเหมือนกันหมด เราจึงมีจุดอ่อนในการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานไม่ทำงาน เขาก็ทำงาน แต่ถ้าจะต้องทำร่วมกันมักจะเป็นปัญหา เพราะเขามีอำนาจหน้าที่อยู่เท่านั้น จะข้ามหน่วยงานหรือเกี่ยวกับหน่วยงานอื่นจะแก้ไม่ได้”
จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหามลพิษอากาศในกรุงเทพฯ อยู่ตรงรอยต่อหรือขาดจุดเชื่อมของปัญหา หรือต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาทำงานให้เกิดมรรคผลได้อย่างไร ยกตัวอย่างข้อมูลของ คพ.กับ ม.เกษตรฯ ไม่ได้เชื่อมข้อมูลกัน เพราะ ม.เกษตรฯ วัดบนที่สูง แต่ คพ.วัดที่พื้นที่ระดับการหายใจ (breathing zone) จึงไม่สามารถจะนำตัวเลขไปเปรียบเทียบกันได้ ทั้งที่ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์มาตรฐานเดียวกัน และบริษัทดูแลก็บริษัทเดียวกัน
“ถ้าประชาชนมีความรู้พอสมควรจะขับเคลื่อนความรู้ที่เอกชนมีได้ง่าย แต่การแก้ปัญหาฝุ่นไม่มีโมเดลเบ็ดเสร็จ เพราะ 1) ฝุ่นมีแพทเทิร์นหรือรูปแบบไม่เหมือนกัน เช่น โมเดลเชียงใหม่มาใช้แก้ที่ กทม.ไม่ได้ 2) ป่าล้อมเมืองคือทำจากกลุ่มเล็กข้างนอกเข้ามาในเมือง ทำเป็นตัวอย่างแล้วค่อยขับเคลื่อนหรือกลืนไปเรื่อย ๆ โดยการเริ่มถอดหมวกตัวเองออกก่อนเพื่อทำให้เกิดภาพใหญ่ได้ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะต้องปรับให้สมดุลของแต่ละพื้นที่ด้วยถึงจะสำเร็จ ยกตัวอย่างการแก้ฝุ่นใน กทม. เริ่มจากภาคส่วนย่อย ๆ ในพื้นที่สีเขียวที่ลดการปลดปล่อยฝุ่น เหมือนภาพจิ๊กซอร์จากบ้านไปส่วนราชการและพื้นที่เอกชน ดีกว่าไม่บังคับใช้โดยที่เขาไม่ยินยอม” อาจารย์สุรัตน์ระบุ